Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Moody’s ลดแนวโน้ม อันดับเครดิต สัญญาณเตือนเศรษฐกิจไทย ที่ไม่ควรมองข้าม
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

Moody’s ลดแนวโน้ม อันดับเครดิต สัญญาณเตือนเศรษฐกิจไทย ที่ไม่ควรมองข้าม

2 พ.ค. 68
13:16 น.
แชร์

เมื่อปลายเดือนเมษายน 2568 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Ratings ได้ประกาศปรับลด แนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทย จาก “Stable” เป็น “Negative” แม้ยังคงระดับเครดิตไว้ที่ Baa1 ซึ่งสะท้อนว่า Moody’s ยังไม่ลดอันดับเครดิตในทันที แต่กำลังจับตาอย่างใกล้ชิด โดยมีความเป็นไปได้ที่ไทยจะถูกปรับลดอันดับลงหากปัญหาทางเศรษฐกิจและการคลังยังไม่ดีขึ้น

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" สื่อถึงอะไร?

การถูกปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หมายถึง ความเสี่ยงที่อันดับเครดิตของประเทศจะถูกลดลงในอนาคตมีมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนจากตลาดการเงินโลกว่าประเทศนั้นอาจมีปัญหาในการรักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว

สำหรับไทย Moody’s อธิบายว่า ความเสี่ยงหลักมาจากสถานการณ์ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง และความไม่ชัดเจนของวินัยการคลัง แผนบริหารหนี้สาธารณะ และประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐ โดยเฉพาะในบริบทที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญแรงกดดันจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งซ้ำเติมการส่งออกของไทยอีกขั้น 

เปรียบเทียบอดีตเคยโดนลดแนวโน้มเครดิตใน ปี 2551 กับปี 2568

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ครั้งนี้มีความต่างจากการปรับลดแนวโน้มเมื่อปี 2551 (ในช่วง
วิกฤตซับไพรม์) 2 ข้อสำคัญคือ 

  1. วิกฤตปี 2551 เป็นผลจากปัจจัยภายนอก คือ วิกฤต Subprime ในสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไทยเองได้รับผลกระทบหนักในช่วงปี 2551–2552 แต่หลังจากนั้น Moody’s ก็ปรับแนวโน้มกลับมาเป็น “Stable” ในเดือนตุลาคม 25663 หรือภายในเวลา 22 เดือน เพราะสถานะหนี้สาธารณะไทยยังต่ำ และรัฐบาลยังมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอ
  2. ปี 2568 เป็นผลจากปัจจัยภายใน ไทยถูกปรับลดแนวโน้มเพราะความอ่อนแอของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และข้อจำกัดทางการคลัง โดยเฉพาะระดับหนี้สาธารณะที่ขยับขึ้นมาแตะ 64.2% ของจีดีพีในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ทำให้ “ตัวช่วย” ของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีขีดจำกัดมากกว่ารอบก่อน

ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มอันดับเครดิตของไทยใช้เวลาถึงเกือบ 6 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ที่อยู่ในระดับ “Positive” ก่อนค่อย ๆ ถูกปรับลดลงมาเป็น “Stable” ในปี 2563 และล่าสุด “Negative” ในปีนี้ 2568  สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ล่าช้า และความเปราะบางเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ อาจทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยตามมาด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ในระหว่างนี้ไทยอาจยังมีเวลาราว 6 เดือน ถึง 1 ปี (ตามรอบของการปรับอันดับความน่าเชื่อถือในอดีต) เพื่อวางแนวทางรับมือผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งปัจจัยเฉพาะหน้าจากประเด็นการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมของเศรษฐกิจไทย ทั้งหนี้ครัวเรือนสูง ขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย และสถานะทางการคลัง  

ผลกระทบระยะสั้น-ระยะกลางที่ต้องจับตา

แม้ในช่วงแรก ตลาดการเงินไทยยังไม่ตอบสนองอย่างรุนแรง โดยค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในระดับ 33.00–34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ และดัชนีหุ้นไทยยังปรับขึ้นจากปัจจัยอื่น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตือนว่า หากสถาบันจัดอันดับอื่น ๆ เช่น S&P หรือ Fitch ปรับลดแนวโน้มตามมา ก็อาจทำให้ผลกระทบเริ่มชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป เช่น

  • เงินบาทอ่อนค่า จากแรงกดดันของเงินทุนต่างชาติที่อาจไหลออก
  • ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศและภาคเอกชนสูงขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้ภาคเอกชนอันดับ BBB ซึ่ง Credit Spread กำลังเริ่มขยับสูงขึ้น
  • ความยากในการระดมทุนของเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเครดิตไม่สูงมาก ท่ามกลางสภาพตลาดที่นักลงทุนมีความระมัดระวังสูง (Risk Averse)

เสียงเตือนจากภาคธุรกิจ รัฐบาลต้องเร่งรับมือ

คุณพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย แสดงความกังวลว่า การปรับลดแนวโน้มเครดิตในครั้งนี้ คือ “สัญญาณเตือนที่ต้องรับมืออย่างจริงจัง” เพราะย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในช่วงที่ไทยกำลังเร่งดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมใหม่ เช่น EV ดิจิทัล และเกษตรแปรรูป

“ถ้าเรายังไม่มีแผนการคลังที่ชัดเจน โปร่งใส และน่าเชื่อถือ ตลาดก็จะยังคงตั้งคำถามกับไทยต่อไป” — พจน์ อร่ามวัฒนานนท์

นอกจากนี้ หอการค้าไทยยังเน้นย้ำว่า ไทยควรเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ในประเทศที่มีศักยภาพ เช่น อินเดีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากตลาดหลักที่กำลังเผชิญแรงกดดันจากนโยบายกีดกันทางการค้ารอบใหม่

ความน่าเชื่อถือไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือ “ความเชื่อมั่น”

แม้ไทยยังมีจุดแข็ง เช่น การบริโภคภายในประเทศ และศักยภาพของภาคเอกชน แต่ทั้งหมดนี้จะขับเคลื่อนไปได้ต้องอาศัย “ความเชื่อมั่น” ทั้งจากภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ

การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตในครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่คือการส่งสัญญาณว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมี แผนเศรษฐกิจและการคลังที่ชัดเจน โปร่งใส และตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ หากยังต้องการให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าบนเวทีโลกได้อย่างมั่นคง

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย , หอการค้าไทย

แชร์
Moody’s ลดแนวโน้ม อันดับเครดิต สัญญาณเตือนเศรษฐกิจไทย ที่ไม่ควรมองข้าม