เข้าสู่กลางเดือนตุลาคมตลาดคริปโตเริ่มที่จะส่งสัญญาณถึงการเป็นขาขึ้นตามไซเคิลเดิมทุก 4 ปีที่ปีที่เกิด Bitcoin Halving จะเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดขาขึ้นซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีไปจนถึงปลายปีถัดไปซึ่งจะกลับเข้าสู่ตลาดขาลงอีกหนึ่งปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามรอบขาขึ้นครั้งนี้มีโอกาสที่จะเป็นขาขึ้นต่อเนื่องยาวนานหรือ Super Cycle
ส่วนตัวผมมีมุมมองและเหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวตามนี้
ข้อแรก นักลงทุนสถาบันตัวจริงยังไม่ได้เข้ามาใน Bitcoin ETF ทั้งหมด
นับตั้งแต่เกิดกองทุน Bitcoin Spot ETF ในเดือนมกราคมปีนี้ แม้จะมีบางช่วงที่มียอด Net Flow ติดลบแต่ภาพรวมนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ยอดเม็ดเงินไหลเข้าได้เติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของ Bitcoin
อย่างไรก็ตามจากข้อมูล On Chain พบว่ากลุ่มที่ลงทุนใน Bitcoin ETF ในช่วงที่ผ่านมามีสัดส่วนที่เป็นนักลงทุนสถาบันจริงไม่ว่าจะเป็นกองทุนเพื่อการเกษียณ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ กองทุนของบางรัฐในสหรัฐฯ เพียงแค่ 10% เท่านั้น ที่เหลือคือนักลงทุนทั่วไปที่ซื้อ Bitcoin เพื่อการลงทุนผ่าน ETF
ถ้าหากนักลงทุนสถาบันเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน Bitcoin ETF จะทำให้มูลค่าของ Bitcoin เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากเม็ดเงินลงทุนที่สูงกว่านักลงทุนรายย่อยทั่วไปและมีมุมมองในการลงทุนระยะยาว
ข้อสอง ตลาดได้ผ่านช่วงของการเก็งกำไรไปแล้ว
ตลาดคริปโตในช่วงปี 2020-2021 มีแรงหนุนหลักที่ทำให้ปรับตัวขึ้นมาจากการเก็งกำไรเป็นหลักจากสภาพคล่องที่ถูกอัดฉีดมาจากการทำ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ประกอบกับการมาของเทคโนโลยีอย่าง DeFi GameFi NFT และ Metaverse ที่นักลงทุนรายย่อยตื่นเต้นกับโปรดักต์ที่ให้ผลตอบแทนระดับสูง จนในที่สุดเมื่อสภาพคล่องถูกดึงกลับ ตลาดก็ถูกแรงเทขายอย่างหนัก
ส่วนตลาดขาขึ้นในรอบนี้ สภาพคล่องไม่ได้อยู่ในระดับสูงเหมือนกับในช่วงปี 2020-2021 แต่ถือว่ามีสภาพคล่องในระดับที่เหมาะสมจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯเริ่มลดดอกเบี้ยซึ่งจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามายังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ประกอบกับนักลงทุนมีการเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการเก็งกำไรในโปรดักต์ที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่ไม่มีความยั่งยืน
การปรับตัวขึ้นของตลาดหลังจากนี้จึงสามารถคาดหวังได้ถึงการเติบโตที่มีความยั่งยืนและมีเสถียรภาพมากกว่าในอดีต แม้จะไม่ร้อนแรงก็ตาม
ข้อสาม ภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่เริ่มเข้ามาในโลกบล็อกเชน
ในอดีตที่ผ่านมาโลกคริปโตมีผู้เล่นหลักคือนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาเริ่มจะได้เห็นภาคธุรกิจรายใหญ่เข้ามาในโลกของบล็อกเชนรวมถึงคริปโต อย่างเช่น สถาบันการเงินได้เข้ามาในเทคโนโลยี RWA หรือ Real World Asset ที่มีการ Tokenize สินทรัพย์การเงินอย่างเช่นพันธบัตรรวมถึงสินทรัพย์อื่นอย่างอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้บล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะส่งผลบวกต่อเหรียญในกลุ่ม Blockchain Layer1 อย่างเช่น Ethereum รวมถึงเหรียญในกลุ่ม DeFi ที่เริ่มมีการผสมผสานบล็อกเชนเข้ากับระบบการเงินดั้งเดิม
รวมถึงค่ายเกมยักษ์ใหญ่ที่เริ่มพัฒนา Blockchain Games ของตัวเองซึ่งจะยกระดับเหรียญในกลุ่ม GameFi รวมไปถึงการพัฒนาบล็อกเชนของตัวเองอย่างเช่น SONY และบริษัททางด้านอินเทอร์เนตก็เริ่มนำบล็อกเชนเข้ามาใช้งานอย่างเช่น Telegram โดยมีการพัฒนาบล็อกเชนของตัวเองขึ้นมาอย่าง TONChain นำไปสู่การพัฒนา DApp อย่างเช่น GameFi และเหรียญคริปโตต่างๆซึ่งเข้าสู่ผู้ใช้งานทั่วไปได้อย่างรวดเร็ว
สรุปคือตลาดคริปโตในรอบนี้ได้เติบโตขึ้นและได้รับการยอมรับจากภาคการเงิน ภาคธุรกิจและอินเทอร์เนตแบบดั้งเดิมซึ่งจะสามารถผลักดันมูลค่าตลาดให้เติบโตได้มากยิ่งขึ้น เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วยแรงศรัทธา (Faith) มาเป็นขับเคลื่อนด้วยพื้นฐาน (Fundamental) ภายใต้คอนเซบท์ 3R คือ
Real World Asset สินทรัพย์ในระบบดั้งเดิมเข้ามาอยู่ในบล็อกเชน
Real Yield ผลตอบแทนจากบล็อกเชนจะตั้งอยู่บนความเป็นจริงมากขึ้น
Real Player ผู้เล่นตัวจริงอย่างสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ จะเข้ามาในตลาดนี้
หมายเหตุ:บทความนี้เป็นมุมมองที่มีต่อการเติบโตทางเทคโนโลยีไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน