ธุรกิจการตลาด

รู้จัก ‘Shake Shack’ ร้านเบอร์เกอร์ 7.6 หมื่นลบ.ที่จะเปิดสาขาแรกในไทย

27 มี.ค. 66
รู้จัก ‘Shake Shack’ ร้านเบอร์เกอร์ 7.6 หมื่นลบ.ที่จะเปิดสาขาแรกในไทย

ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ ร้าน Shake Shack ร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังสัญชาติอเมริกันกำลังจะมาเปิดอย่างเป็นทางการในประเทศไทยแล้วที่เซ็นทรัลเวิร์ล โดยเชนร้านเบอร์เกอร์นี้เพิ่งก่อตั้งมาประมาณ 20 กว่าปี แต่เติบโตจนมีสาขารวมแล้วกว่า 430 สาขาทั่วโลก และมีมูลค่าตลาดถึง 7.6 หมื่นล้านบาท!

อะไร คือ เคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้ Shake Shack กลายเป็นเชนร้านอาหารท่ามกลางเหล่าบริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จ และมีสาขาไปทั่วโลกได้ในเวลาเพียง 2 ทศวรรษ ทีมข่าว SPOTLIGHT สรุปมาให้อ่านกัน

artboard1_1

 

อาหารชาวบ้าน วัตถุดิบพรีเมียม

ถึงแม้ในปัจจุบัน Shake Shack จะเป็นแบรนด์ร้านอาหารใหญ่ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก จุดกำเนิดของเชนร้านอาหารนี้เป็นเพียงรถเข็นฮอตด็อกเล็กๆ ในสวนเมดิสันสแควร์ที่ตั้งขึ้นมาในปี 2001 โดย แดนนี่ มายเออร์ 

(Danny Meyer) เชฟ ผู้ก่อตั้ง และประธานผู้บริหารกลุ่ม Union Square Hospitality Group (USHG) ซึ่งเป็นกลุ่มร้านอาหารและบาร์ชื่อดังในนิวยอร์กมากมาย 

โดยรถเข็นขายฮอตด็อกนี้ เป็นหนึ่งในร้านอาหารเพื่อร่วมสนับสนุนองค์กรอนุรักษ์สวนสาธารณะเมดิสันสแควร์ ซึ่งกำลังจัดกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะเพื่อปรับปรุงบรรยากาศของสวนที่ทรุดโทรมลงเพราะขาดการดูแลรักษา ซึ่งคอนเซปในการทำร้านของมายเออร์ในขณะนั้นก็คือการขายอาหารธรรมดา เช่น ไส้กรอกฮ็อตดอก ด้วยวัตถุดิบพรีเมียมในราคาที่จับต้องได้ (สำหรับคนทั่วไปในนิวยอร์ก)

เมื่อเปิดร้านมา อาหารของร้านก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงพักกลางวันที่มีพนักงานแถวนั้นมารอต่อแถวเพื่อซื้ออาหารเที่ยง เพราะชื่นชอบที่ทางร้านทำอาหารง่ายๆ ออกมาได้มีคุณภาพ และอร่อย ทำให้เป็นทางเลือกที่ดีเมื่อเทียบกับฟาสต์ฟู้ดที่ให้สารอาหารและรสชาติไม่ดีเท่า

จากคำบอกเล่า ในขณะนั้นมายเออร์ไม่ได้คิดว่าร้านนี้จะกลายเป็นร้านที่ตั้งถาวรในสวนเมดิสันสแควร์ และไม่เคยคิดว่าร้านฮ็อตดอกในโครงการเล็กๆ จะกลายเป็นร้านอาหารดัง แต่เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น ทางเมืองนิวยอร์กก็เล็งเห็นช่องทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่และธุรกิจ ในที่สุดในปี 2004 ร้าน Shake Shack แบบคีออส (kiosk) ก็ถือกำเนิดขึ้นในสวนเมดิสันสแควร์ 

โดยร้านแรกของ Shake Shack นั้นออกแบบโดยบริษัท SITE Environmental Design ให้ออกมามีความกลมกลืนกับสถานที่มากที่สุด ทำให้สีเขียว สีขาว และความโปร่งโล่งเป็นธรรมชาติกลายมาเป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์ของร้าน และเป็นแนวคิดในการออกแบบร้าน Shake Shack สาขาอื่นๆ ในเวลาต่อมา

หลังจากเปิดร้านแรก Shake Shack ก็กลายเป็นร้านดัง และได้รับความนิยมขึ้นอีกจนไม่ได้มีแต่คนในพื้นที่เท่านั้นที่มารอกิน ทำให้แต่ละวันมีแถวยาวเหยียดรอบสวน บางคนต้องรอถึงสามชั่วโมงกว่าจะถึงเคาน์เตอร์ 

Shake Shack เริ่มขยายสาขาในยังย่านที่อยู่อาศัยอื่นๆ ในนิวยอร์กและออกไปนอกนิวยอร์กเมื่อปี 2010 ภายในปี 2015 Shake Shack ก็มีสาขาในประเทศรวม 84 สาขา โดยหนึ่งในสาขาในต่างประเทศที่แรกๆ ที่ Shake Shack ไปเปิดก็คือสาขาที่สนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ที่เปิดขึ้นเมื่อปี 2018

 

เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดมูลค่าหมื่นล้าน

ทาง USHG นำ Shake Shack เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อปี 2015 โดยราคาหุ้นของ Shake Shack เปิดตัวด้วยราคาที่สูงกว่าราคา IPO ถึง 124% ที่ 47 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น จาก 21 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในศักยภาพในการเติบโตของ Shake Shack

ปัจจุบันจากข้อมูลของ Shake Shack ทางร้านมีสาขาอยู่ทั้งหมด 439 แห่ง แบ่งเป็น 287 สาขาในสหรัฐฯ และ 149 สาขาในต่างประเทศ มีมูลค่าตลาดในวันที่ 27 มีนาคมที่ 2.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.6 หมื่นล้านบาท 

โดยหากดูจากรายงานผลประกอบการของบริษัท Shake Shack มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ยกเว้นในปี 2020 ที่รายได้ลดลงจากการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบยอดขายทั่วโลก จากปี 2018-2022 ผลประกอบการของ Shake Shack เป็นดังนี้

รายได้/กำไร

2018 : 22,905 ล้านบาท / 3,852 ล้านบาท

2019 : 30,506 ล้านบาท/ 4,363 ล้านบาท

2020 : 26,552 ล้านบาท/ 2,420 ล้านบาท

2021 : 38,277 ล้านบาท/ 4,056 ล้านบาท

2022 : 47,006 ล้านบาท/ 5,147 ล้านบาท

 

ร้านอาหารที่ใส่ใจผู้บริโภคปลายทาง

ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นเชนร้านอาหาร fine casual dining หรือร้านฟาสต์ฟู้ดที่มีชื่อเสียงด้านอาหารที่ทานง่ายแต่มีคุณภาพดีแล้ว อีกจุดเด่นที่ทำให้ Shake Shack ได้รับความนิยมไปทั่วโลกคือการผสมผสานความเป็นท้องถิ่นเข้ามาทั้งในดีไซน์ของร้านและเมนูอาหารของแต่ละพื้นที่ 

โดยไม่ว่าจะไปเปิดร้านที่ไหน Shake Shack จะวิเคราะห์ก่อนเสมอว่าจะต้องออกแบบตกแต่งร้านอย่างไรให้สวยงามกลมกลืนกับสถานที่ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับเมื่อครั้ง Shake Shack เริ่มตั้งร้านถาวรในสวนเมดิสันสแควร์ 

นอกจากนี้ Shake Shack ยังทำงานร่วมกับทีมพัฒนาอาหารในท้องถิ่นเพื่อคิดเมนูอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ทำให้ทุกร้าน Shake Shack นอกจากจะมีเมนูพื้นฐานดังๆ อย่าง ฮ็อตด็อกไส้กรอกเนื้อ Shack Burger เมนูซิกเนเจอร์จากเนื้อแองกัส และเมนูของหวานอย่าง Concretes หรือไอศกรีมปั่นผสมกับคัสตาร์ดและไข่แดงแล้ว ยังมีเมนูที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาหารในพื้นที่ โดยจากข้อมูลของ Shake Shack ประเทศไทย ตัวอย่างเมนูพิเศษของบ้านเราก็อย่างเช่น 

  1. มิลค์เชคข้าวเหนียวเจลลีใบเตย ทำจากไอศกรีมวานิลลาปั่นผสมน้ำนมข้าว น้ำเชื่อมน้ำตาลตโนดข้าวเหนียวมูน พร้อมเจลลีใบเตย
  2. CentralSwirled ที่ทำจากไอศกรีมรสวานิลลา ผสมคาราเมลน้ำปลาหวาน โรยด้วยขนมผิง และมะพร้าวกรอบ
  3. Coconut About You ที่ทำจากไอศกรีมรสวานิลลา ผสมเนื้อมะพร้าว ใส่คุกกี้ชอร์ตเบรดและทับทิมกรอบ โรยถั่วทอง

 

ที่มา: Investopedia, Shake Shack, Shake Shack ประเทศไทย

 

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT