ธุรกิจการตลาด

"โตโยต้า" ร่วมใช้สิทธิภาษีรถยนต์ไฟฟ้า เดินหน้าลดราคารุ่น bZ4X

30 เม.ย. 65
"โตโยต้า" ร่วมใช้สิทธิภาษีรถยนต์ไฟฟ้า เดินหน้าลดราคารุ่น  bZ4X

คนไทยได้มีโอกาสซื้อรถยนต์อีวี "ญี่ปุ่น" ถูกลงแล้ว หลังค่ายใหญ่ "โตโยต้า" รับสิทธิ์รัฐอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเดินหน้าลดราคารุ่น "bZ4X" คลังเผยมีค่ายรถสนใจเข้าร่วมอีกกว่า 5 ราย หลังจากก่อนหน้านี้มีแค่รถอีวี "จีน" เพียง 2 ราย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ได้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐแล้ว โดยบริษัทมีแผนจะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร ลดภาษีสรรพสามิต และรับเงินอุดหนุน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้การใช้รถอีวีในประเทศไทยก้าวกระโดดขึ้น

20211029_01_23_s

ทั้งนี้ นอกจากมาตรการดังกล่าวที่สนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าและเกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ยังได้มีการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าและมาตรการสนับสนุนอัตราค่าใช้ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม


“เชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา โดยเฉพาะมาตรการอุดหนุนราคาขายปลีกรถยนต์ไฟฟ้า จะส่งผลดีต่อราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์มากที่สุด”



นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ตามแนวทางของ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ของ โตโยต้า ได้นำรถยนต์ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) รับสิทธิ์ดังกล่าวในรุ่น Toyota bZ4X โดยจะนำเสนอรถยนต์รุ่นดังกล่าวสู่ตลาด ภายใต้ราคาขายปลีกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุนแล้ว เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในด้านราคาจำหน่ายที่ลดลง กระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้าถึงการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น


“การเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกิจใหม่ขององค์กร ในการนำเสนอการขับเคลื่อนที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย”


ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปี 2565 จะมีผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวมถึงผู้นำเข้า สนใจเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวอีกไม่น้อยกว่า 5 ราย และภายในสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามกับผู้ประกอบการ 2 ราย ในกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย


ทั้งนี้ จากการที่ภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ส่งผลให้มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตแล้ว จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด มียอดจองรถยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการฯ รวมกันทั้งสิ้นกว่า 5,000 คัน ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า GWM รุ่น ORA GOOD CAT และ MG รุ่น MG EP และ MG ZS


นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้เข้าร่วมมาตรการฯ มียอดจองกว่า 600 คัน ประกอบด้วย

VOLVO
มียอดจองจำนวน 385 คัน
BMW มียอดจองจำนวน 112 คัน
MINI มียอดจองจำนวน 58 คัน
Porsche มียอดจองจำนวน 58 คัน
Nissan มียอดจองจำนวน 19 คัน
Audi มียอดจองจำนวน 10 คัน
และ TAKANO มียอดจองจำนวน 6 คัน


จากสถิติที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตามแนวทางที่รัฐบาลวางรากฐานไว้ รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ZEV (Zero Emission Vehicle) โดยเฉพาะเป้าหมายการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์กระบะในปี 2030 (ปี 73) คิดเป็น 30% ของกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศ

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT