ยองซู พนักงานบริษัทประกันภัย เริ่มทำงานในบริษัทตั้งแต่อายุ 23 ปี และใช้เวลากว่าสามทศวรรษไต่เต้าจนได้เป็นผู้อำนวยการสาขา ปัจจุบัน ยองซูอายุใกล้ 60 ปีแล้ว แต่บริษัทที่รับใช้อย่างเต็มกำลังมาหลายสิบปีกำลังลดเงินเดือนของเขาลง ตามระบบขั้นบันไดที่กำหนดไว้ เนื่องด้วยข้อกำหนด “ค่าจ้างสูงสุด” ซึ่งไม่ได้ทำให้ค่าจ้างติดเพดานอยู่กับที่เท่านั้น แต่หลายบริษัทในเกาหลีใต้ให้ค่าตอบแทนลดลงกว่าเดิมอีกต่างหาก
ล่าสุด ยองซูในวัย 56 ปี กำลังถูกหักเงินเดือนลง 20% และทุก ๆ ปีหลังจากนี้ จะถูกตัดลดลงอีกปีละ 10% ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนที่เขาจะถูกบังคับให้เกษียณในอีก 1 ปีข้างหน้า ทั้งปีที่เหลือนั้นเขาจะได้รับเงินเดือนเพียง 52% ของรายได้ที่เขาได้รับสูงสุดก่อนที่จะถูกหัก แน่นอนว่ายองซูและชาวเกาหลีใต้วัยเกษียณหลายคนรู้สึกว่าสมการเช่นนี้ช่างไร้ความยุติกรรม เพราะปริมาณงานและชั่วโมงการทำงานยังต้องทำเท่าเดิม และไม่ได้รู้สึกว่าประสิทธิภาพการทำงานของตนเองลดลงแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับ ยังซุก พยาบาลวัย 59 ปี ที่กำลังจะต้องเกษียณอายุหลังจากทำงานมา 36 ปี แสดงความวิตกกังวล โดยบอกเล่าให้ฟังว่า “ฉันนึกภาพตัวเองไม่ออกเลยว่าจะออกจากองค์กรนี้ได้ยังไง มันคงรู้สึกเหมือนยืนอยู่คนเดียวบนถนนที่คดเคี้ยว”
รายงานของ Human Rights Watch (HRW) ที่เผยแพร่ออกมาล่าสุด เปิดเผยว่า นโยบายการจ้างงานที่ถูกใช้ในเกาหลีใต้ บังคับให้ชาวเกาหลีใต้ได้รับค่าจ้างน้อยเกินไป และความมั่นคงทางรายได้สั่นคลอนการศึกษาพบว่ากฎหมายจ้างงานของเกาหลีใต้บังคับให้คนหลายล้านคนเกษียณอายุที่ 60 ปี โดยลดเงินเดือนของพวกเขาลงเกือบครึ่งหนึ่งจากปีก่อนผ่านระบบ “ค่าจ้างสูงสุด” แม้ว่าบริษัทต่างๆ จะสามารถเลือกกำหนดอายุเกษียณได้ แต่ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่า 95% บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 300 คน เลือกที่จะกำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 60 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อพนักงานจำนวน 3.1 ล้านคน ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กมักไม่กำหนดอายุเกษียณเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน
อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวกลับส่งผลให้มีอัตราความยากจนของผู้สูงอายุสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยผู้สูงอายุ 38% ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน แรงงานที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานที่อายุน้อยกว่า และเกือบ 70% อยู่ในภาวะการจ้างงานที่ไม่มั่นคง
ผลการวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่เกาหลีใต้กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายเพดาน ‘ค่าจ้างสูงสุด’ ว่ากำลังทำร้ายคนทำงานวัยใกล้เกษียณหรือไม่ และขณะนี้ ประเทศกำลังเผชิญกับอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกควบคู่ไปกับประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังเผชิญกับภาวะเงินใกล้หมดคลังเต็มที จำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ก่อนจะเกิดปัญหาขึ้นภายในอีกไม่กี่ทศวรรษ
ประธานาธิบดีอี แจมยอง ให้คำมั่นระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่า จะค่อย ๆ เพิ่มอายุเกษียณภาคบังคับเป็น 65 ปี โดยจะปิดช่องว่าง 5 ปีก่อนมีสิทธิ์รับเงินบำนาญ ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา คณะที่ปรึกษาของรัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ความคิดริเริ่มดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนงานรุ่นใหม่ ซึ่งกลัวว่าจะทำให้โอกาสในการทำงานของพวกเขาถูกจำกัด
ทั้งนี้ คิม กีดึก ทนายความด้านแรงงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอื่น ๆ เตือนว่า การเพิ่มอายุเกษียณเพียงอาจทำให้การเลือกปฏิบัติเลวร้ายลง สิ่งที่พวกเขาพยายามจะขับเคลื่อนคือการยกเลิกกฎหมายเพดานค่าจ้างสูงสุดออกไปจากระบบการทำงานของเกาหลีใต้ไปเลย ซึ่งสอดคล้องกับ Human Rights Watch ที่มองว่า การบังคับเกษียณอายุไม่ว่าในวัยใด ๆ ก็ตาม ถือเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และควรยกเลิกโดยสิ้นเชิง