Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
นักวิชาการชี้ไทยต้องมีข้อมูลแน่น-บุคลากรพร้อม  สู้เกมศาลโลกของกัมพูชา
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

นักวิชาการชี้ไทยต้องมีข้อมูลแน่น-บุคลากรพร้อม สู้เกมศาลโลกของกัมพูชา

5 ก.ค. 68
09:01 น.
แชร์

ขณะที่สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาไม่สู้ดีนัก รัฐบาลไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินเกมนี้ต่อไปอย่างไร เพราะมีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้น แต่กัมพูชาได้เร่งเดินเกมยื่นฟ้องต่อศาลโลกแล้ว 

Spotlight สัมภาษณ์รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ในประเด็นการเตรียมความพร้อมของไทย ซึ่งอาจารย์แนะนำว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งจัดทำฐานข้อมูล หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เอกสารแผนที่ และภาพถ่ายทางอากาศที่ชัดเจนเพื่อรองรับข้อพิพาทในอนาคต รวมถึงการสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและภูมิศาสตร์ชายแดน เพื่อให้สามารถตอบโต้ได้ทันต่อกลยุทธ์ของกัมพูชา

กัมพูชากำลังทำอะไรอยู่ ในประเด็นชายแดน?

รศ.ดร.ดุลยภาคประเมินว่า เจตนาที่แท้จริงของกัมพูชา คือการขยายพื้นที่อาณาเขตทั้งทางบกและทางทะเล โดยใช้ยุทธศาสตร์สองแนวทางขนานกัน ขาแรกคือการขยายพรมแดนทางบก โดยเฉพาะบริเวณชายแดนด้านอีสานใต้ของไทย ซึ่งยังมีข้อพิพาทเรื่องพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร รวมถึงพื้นที่เชื่อมโยงอื่น ๆ เช่น ภูมะเขือ ที่แม้ในทางข้อเท็จจริงจะอยู่ในเขตไทย แต่กัมพูชายังคงมีความพยายามขยับขยายและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การตัดถนนเข้าไปในพื้นที่พิพาท

ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของกัมพูชาในเรื่องนี้ยังสอดคล้องกับแนวคิด “Territorial Identity” หรือ “อัตลักษณ์อาณาเขต” ซึ่งนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ได้โพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยชี้ว่า พื้นที่ที่มีปราสาทหินหรือร่องรอยอารยธรรมเขมรใกล้ชายแดน ควรถูกตีความให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชาในเชิงวัฒนธรรมและกฎหมายสากล ซึ่งรวมถึงปราสาทตามเมืองทม และปราสาทอื่น ๆ ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

สำหรับพื้นที่ช่องบก บริเวณชายแดนจังหวัดอุบลราชธานี แม้จะไม่มีปราสาทหินเหมือนในพื้นที่ศรีสะเกษ แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “สามเหลี่ยมมรกต” พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว โดยฮุน เซน เคยกล่าวอ้างผ่านสื่อออนไลน์ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา ซึ่งนอกจากจะมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์แล้ว ยังเชื่อว่าพื้นที่นี้อาจมีแร่แรร์เอิร์ธ ทองคำ และทรัพยากรสำคัญที่เกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมและการป้องกันประเทศ

นักวิชาการมองว่า กัมพูชาอาจใช้กระบวนการทางกฎหมายระหว่างประเทศและการตีความคำพิพากษาของศาลโลกเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน ทั้งที่ไทยยืนยันมาโดยตลอดว่าจะไม่รับอำนาจตัดสินของศาลโลกในคดีที่อาจกระทบต่ออธิปไตยดินแดน แต่กรณีปราสาทพระวิหารเคยเป็นตัวอย่างแล้วว่าคำวินิจฉัยของศาลโลกอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเปลี่ยนสถานะพื้นที่ชายแดน

อีกหนึ่งมิติที่ไม่ควรมองข้าม คือแนวทางขยายอาณาเขตทางทะเล โดยกัมพูชาได้มีการขีดเส้นเขตแดนทางทะเลในลักษณะที่นักกฎหมายระหว่างประเทศหลายฝ่ายมองว่าเป็นการอ้างสิทธิ์เกินกว่าความเป็นจริง (Overclaim) ซึ่งอาจครอบคลุมถึงพื้นที่รอบเกาะกูด จังหวัดตราด ของไทยด้วย

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ไทยจำเป็นต้องจับตาและเตรียมมาตรการรับมืออย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในประเด็นข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างประเทศที่อาจกลายเป็นช่องทางให้กัมพูชาขยายอิทธิพลและขยับเขตแดนได้ในระยะยาว

กัมพูชาวางแผนมา 20 ปี จากเขาพระวิหารสู่ช่องบก

นักวิชาการด้านความมั่นคงระบุว่า แผนการขยายอิทธิพลและเขตแดนของกัมพูชาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นกลยุทธ์ที่มีการต่อยอดมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 20 ปี โดยมีรากฐานมาตั้งแต่กรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2503–2505 ที่กัมพูชามองว่าตนเองได้เปรียบทางกฎหมาย และมีการเดินหน้าตีความคำพิพากษาของศาลโลกซ้ำในช่วงปี 2554–2556 ในสมัยรัฐบาลไทยยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งในเวลานั้นแม้นักกฎหมายไทยจะยืนยันว่าคำตัดสินบางส่วนยังเป็นประโยชน์กับไทย แต่กัมพูชาก็มองว่ายังมีช่องทางขยายพื้นที่พิพาทต่อได้

ยุทธศาสตร์ล่าสุดของกัมพูชาถือเป็นการ ‘สู้ยกสาม’ โดยยังคงใช้ศาลโลกเป็นเวทีหลัก ใช้กรอบเอกสารและหลักฐานเดิมเป็นฐาน แต่ขยับพื้นที่เป้าหมายให้กว้างขึ้น ครอบคลุมทั้งบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก จุดรอบปราสาทพระวิหาร เพิ่มกลุ่มปราสาทตามเมือง และจุดยุทธศาสตร์อย่างช่องบก ซึ่งมีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากร และภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับคำถามว่าไทยควรเตรียมการอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เสียเปรียบในเวทีระหว่างประเทศ นักวิชาการชี้ว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งจัดทำฐานข้อมูล หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เอกสารแผนที่ และภาพถ่ายทางอากาศที่ชัดเจนเพื่อรองรับข้อพิพาทในอนาคต รวมถึงการสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและภูมิศาสตร์ชายแดน เพื่อให้สามารถตอบโต้ได้ทันต่อกลยุทธ์ของกัมพูชา

นอกจากนี้ ไทยควรสื่อสารเชิงรุกกับประชาคมโลก เพื่อชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และข้อกฎหมายที่ยืนยันอธิปไตยอย่างถูกต้อง ลดช่องว่างในการตีความ หรือการสร้างข้อมูลฝ่ายเดียวที่อาจเป็นคุณต่ออีกฝ่าย ขณะเดียวกันภาครัฐควรมีแผนบูรณาการข้อมูลร่วมระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคง กฎหมาย และการต่างประเทศ เพื่อให้การรับมือข้อพิพาทชายแดนครั้งใหม่เป็นไปอย่างรัดกุมและทันต่อสถานการณ์


แชร์
นักวิชาการชี้ไทยต้องมีข้อมูลแน่น-บุคลากรพร้อม  สู้เกมศาลโลกของกัมพูชา