นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีน ประกาศวานนี้ (19 กรกฎาคม) เปิดตัวโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในที่ราบสูงทิเบต ซึ่งคาดว่า จะกลายมาเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดของโลก
โครงการดังกล่าวจะตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำยาร์ลุงจังโป ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้แก่อินเดียและบังกลาเทศ เนื่องจากเกรงว่า เขื่อนที่สร้างใหม่จะส่งผลกระทบต่อทั้งปริมาณน้ำและสิ่งแวดล้อมให้กับทั้งสองประเทศ
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานเมื่อวานนี้ว่า นายกฯ หลี่เดินทางเข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างเขื่อนที่เมืองญิงจี ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต
สำหรับแม่น้ำยาร์ลุงซังโปนั้นจะถูกเรียกว่า แม่น้ำพรหมบุตร เมื่อไหลออกจากที่ราบสูงทิเบตลงทางใต้สู่รัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐอัสสัมของอินเดีย ก่อนจะไหลต่อเข้าสู่บังกลาเทศ
รัฐบาลจีนเริ่มประกาศแผนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำสายนี้ครั้งแรกในปี 2020 ภายใต้แผนระยะ 5 ปี อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การใช้ศักยภาพพลังงานน้ำจากที่ราบสูงทิเบตให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยโครงการได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และได้รับการพูดถึงว่า เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยกำลังผลิตไฟฟ้าต่อปีสูงถึง 300,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง มากกว่าเขื่อนสามผาราว 3 เท่า
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลในอินเดียและบังกลาเทศเกี่ยวกับผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหารและน้ำ โดยมีความเป็นกังวลเกี่ยวกับการไร้ที่อยู่ของประชากรและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จีนจะใช้น้ำเป็นอาวุธ ซึ่งจีนอาจจะใช้เขื่อนควบคุมน้ำ เพื่อทำให้เกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนยืนยันว่า โครงการได้ผ่านการประเมินทางวิทยาศาสตร์อย่างเข้มงวด และจะไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เสถียรภาพทางธรณีวิทยา หรือสิทธิการใช้น้ำของประเทศที่อยู่ปลายน้ำ ทางการจีนยังระบุว่า จะไม่แสวงหาผลประโยชน์จากเพื่อนบ้าน
นอกเหนือไปกว่านั้น จีนยังระบุว่า โครงการนี้อาจช่วยในการป้องกันภัยพิบัติ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคท้ายน้ำ
มีรายงานว่า เขื่อนดังกล่าวของจีนทำให้อินเดียต้องเร่งการก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของตนบนแม่น้ำพรหมบุตรในรัฐอรุณาจัลประเทศ เพื่อยืนยันสิทธิในการใช้น้ำ โดยอินเดียย้ำว่า รัฐอรุณาจัลประเทศเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตยตน ขณะที่จีนยังคงอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งของทิเบตตอนใต้ และคัดค้านโครงการพัฒนาอื่น ๆ ของอินเดียในพื้นที่นี้
รายงานยังระบุว่า โครงการยักษ์ในทิเบตนี้จะประกอบด้วยสถานีไฟฟ้าแบบเรียงต่อกัน 5 แห่ง (cascade hydropower stations) ด้วยงบลงทุนรวมประมาณ 1.2 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5.4 ล้านล้านบาท) โดยเน้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออกเป็นหลัก พร้อมตอบสนองความต้องการในพื้นที่ท้องถิ่น