แม้รัฐบาลจะหวังพึ่งภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ครึ่งแรกของ ปี 2568 กลับสะท้อนสัญญาณตรงกันข้าม เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศก็ยังไม่ได้ผลอย่างเต็มที่ เพราะโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง ยังมีความไม่ราบรื่นในการใช้แอปเพื่อเข้าร่วมโครงการ
ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2568 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 16.685 ล้านคน ลดลง 4.66% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มี 17.501 ล้านคน จึงไม่น่าแปลกใจธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่วนใหญ่กำลังเจอปัญหายอดขายที่ลดลงไปตามๆกัน
ในบรรดา 10 ประเทศที่เดินทางมาไทยมากที่สุดพบว่า "จีน" เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว 2,265,556 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 34.13% ส่วนอันดับ 1 คือมาเลเซีย 2,299,897 คน เดินทางเที่ยวไทยลดลงเล็กน้อย -5.59% ส่วนอันดับ 3 คืออินเดีย 1,183,899 คน เพิ่มขึ้น +13.83%
แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง แต่ข้อมูลจาก Agoda เผยให้เห็นมุมที่น่าสนใจว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ยังคงเป็นชาติที่จองที่พักในไทยมากที่สุดในครึ่งแรกของปี 2568 สะท้อนว่า ความนิยมก็ยังไม่ได้หายไปเสียทีเดียว แต่ "รูปแบบ" การเที่ยวอาจเปลี่ยนไป
เมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และ โดยเฉพาะ"หาดใหญ่" ซึ่งกลายเป็นหมุดหมายใหม่ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ เพราะค่าครองชีพต่ำและความคุ้มค่าของการเดินทาง ซึ่งหาดใหญ่ ติดอันดับหนึ่งในสามของจุดหมายปลายทางราคาประหยัดในเอเชียติดต่อกันสองปีซ้อน
Agoda ยังพบว่า แม้นักท่องเที่ยวจีนจะมีจำนวนนักเดินทางมาไทยมากที่สุด แต่กลับไม่ได้อยู่ไทยนานที่สุด แต่นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ครองแชมป์ด้าน "ระยะเวลาพำนักเฉลี่ย"นานสุด รองลงมาคือญี่ปุ่น, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และจีน ตามลำดับ
สำหรับจุดหมายปลายทางที่นักเดินทางจากแต่ละประเทศเลือกอยู่นานที่สุด ได้แก่:
น่าสังเกตว่า "เกาะ" และเมืองรองที่สงบ กลายเป็นตัวเลือกของนักเดินทางระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มองหาไมโครทริป (Micro-travel) ที่เน้นความสงบ ความคุ้มค่า และประสบการณ์เฉพาะตัวมากกว่าการท่องเที่ยวแบบเร่งรีบ
แม้ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง แต่แนวโน้มพฤติกรรมการเที่ยวแบบใหม่กำลังเกิดขึ้น นักเดินทางต่างชาติจำนวนไม่น้อยเริ่มมองหา “จุดหมายปลายทางทางเลือก” ที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก และเน้นคุณภาพประสบการณ์มากกว่าจำนวนวันหรืองบประมาณ
เมืองอย่างหาดใหญ่ ปทุมธานี เกาะเต่า และเกาะพะงัน อาจเป็นคำตอบของทิศทางการท่องเที่ยวไทยในอนาคต การปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ตลาดใหม่ ๆ การส่งเสริมเมืองรอง และการสร้างแคมเปญที่กระตุ้น “การพำนักในไทยให้นานขึ้น” อาจกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ที่มา:กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา , Agoda