Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เดนมาร์กมุ่งมั่นเดินหน้าสู่ เมืองหลวงคาร์บอนเป็นศูนย์
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เดนมาร์กมุ่งมั่นเดินหน้าสู่ เมืองหลวงคาร์บอนเป็นศูนย์

30 พ.ค. 68
16:44 น.
แชร์

เป้าหมายของเดนมาร์กคือการเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2045 ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก แต่หากมองตามความเป็นจริง เดนมาร์กดูจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มจะทำความฝันนี้ให้สำเร็จได้ก่อนใคร ด้วยปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เดนมาร์กมีความเป็นไปได้เช่นนั้น?

เริ่มก่อนใคร

จุดเริ่มต้นของการเดินทางด้านความยั่งยืนของเดนมาร์กเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1973 เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ในเวลานั้น เดนมาร์กพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเกือบ 100% โดยเฉพาะน้ำมันดิบ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นจึงบีบบังคับให้รัฐบาลต้องหาแหล่งพลังงานทางเลือก โดยเริ่มจากถ่านหิน และต่อมาเป็นพลังงานหมุนเวียน

คุณฟินน์ มอร์เทินเซิน กรรมการบริหาร State of Green องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและโซลูชันสีเขียวในเดนมาร์กกล่าวที่งาน Earth Jump 2025 ในหัวข้อ From Denmark’s sustainable transformation to Copenhagen - the world’s first carbon neutral capital ว่า กลยุทธ์ของรัฐบาลในช่วงปี 1980s คือการใช้ทั้ง “ไม้เรียว” และ “แครอท” หมายถึงใช้ทั้งบทลงโทษและการให้รางวัล เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน

“เราจริงจังกับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงาน วิธีการคือเก็บภาษีสูงกับพลังงานฟอสซิล (‘ไม้เรียว’) และให้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจแก่ภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปในการลดการใช้พลังงาน (‘แครอท’)” มอร์เทินเซินกล่าว

“เรามีการให้เงินอุดหนุน เช่น ถ้าคุณมีบ้าน คุณจะได้รับสิทธิภาษีคืน หรือแรงจูงใจทางการเงินหากลงทุนในบ้าน เช่น การติดตั้งหน้าต่างใหม่ เทอร์โมสแตต ฯลฯ”

เดนมาร์กมาถึงจุดไหนแล้ว?

คุณมอร์เทินเซินระบุว่า เดนมาร์กสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มากถึง 48% ตั้งแต่ปี 1990 และเมืองโคเปนเฮเกนสามารถลดการปล่อย CO₂ ได้ถึง 80% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่การใช้พลังงานรวมในประเทศเพิ่มขึ้น 15% แต่มากกว่า 60% ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศมาจากพลังงานหมุนเวียน โดยส่วนใหญ่เป็นพลังงานลม

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เดนมาร์กได้ลงทุนอย่างจริงจังในด้านการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) และการกำจัดคาร์บอน (CDR) ผ่านการให้ทุนวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ และโครงการสาธิตเกี่ยวกับการฉีด CO₂ ลงสู่แหล่งกักเก็บใต้ดิน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนและเงินอุดหนุนสำหรับวิธีการ CDR หลากหลายประเภท เช่น การปลูกป่า การใช้ถ่านชีวภาพ (biochar) และ BECCS (การดักจับและกักเก็บคาร์บอนจากชีวมวล)

เป้าหมายถัดไปของเดนมาร์กคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 110% ภายในปี 2050 เมื่อเทียบกับปี 1990 ซึ่งหมายความว่าต้องมีการปล่อยคาร์บอนสุทธิติดลบประมาณ 8 ล้านตัน และหากนับรวมการชดเชยคาร์บอนที่ยังหลงเหลืออยู่ เป้าหมายนี้อาจต้องอาศัยการกำจัดคาร์บอนมากกว่าตัวเลขนี้ถึงสองเท่า

อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของเดนมาร์กคือการเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคในการกักเก็บคาร์บอนใต้ดิน ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กเชื่อว่าประเทศมีศักยภาพสูงในด้านนี้

สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี

หลายคนมองว่าการดำเนินการด้านความยั่งยืนต้องใช้ต้นทุนสูง และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจก็ไม่แน่นอน แต่เดนมาร์กพิสูจน์ให้เห็นว่า ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถเดินไปพร้อมกันได้

ตลอดทศวรรษที่แนวทางสีเขียวขยายตัวในเดนมาร์ก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศเติบโตขึ้นถึง 80%

เศรษฐกิจของเดนมาร์ก ตั้งแต่ปี 1990 มีอุตสาหกรรมการผลิตเป็นแกนหลัก และมีอุตสาหกรรมยาเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในช่วงหลัง มีสัดส่วนประชากรที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมและการประมงเพียงเล็กน้อย และให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดเล็ก ในปี 2025 มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศจะเติบโตเพิ่ม และมีการจ้างงานเพิ่ม 29,000 ตำแหน่ง รวมถึงค่าแรงภาคเอกชนเพิ่ม 3.5% 

“นี่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากการใช้พลังงานได้อย่างแท้จริง และนี่คือข้อความสำคัญที่เราต้องการสื่อสารกับผู้มาเยือนเดนมาร์กจากทั่วโลกว่า คุณสามารถมีการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการลดการใช้พลังงานได้” มอร์เทินเซินกล่าว

“นี่ไม่ใช่เพียงความทะเยอทะยานด้านสภาพภูมิอากาศของเดนมาร์ก แต่เป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราเลือกใช้ เราแสดงให้เห็นแล้วว่า ‘การเติบโตสีเขียว’ และ ‘การจ้างงาน’ สามารถไปด้วยกันได้”

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ภาคส่วนสีเขียวในเดนมาร์กเติบโตต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีงานเต็มเวลามากกว่า 83,000 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีสะอาด และความต้องการโซลูชันสีเขียวจากเดนมาร์ก

เป้าหมายเหล่านี้ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ของโคเปนเฮเกนอย่างมาก ภายในเวลาไม่ถึงสองทศวรรษ คลองในย่านอุตสาหกรรมที่เคยปนเปื้อน กลับกลายเป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยมที่ประชาชนสามารถลงไปว่ายน้ำได้

คุณมอร์เทินเซินกล่าวว่า ความสำเร็จของเดนมาร์กเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร


แชร์
เดนมาร์กมุ่งมั่นเดินหน้าสู่ เมืองหลวงคาร์บอนเป็นศูนย์