TotalEnergies เป็นบริษัทพลังงานสัญชาติฝรั่งเศส ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ ถือเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยได้รับการจัดอันดับจาก Market Capitalization เมื่อเดือนมิถุนายน 2024 ให้เป็นบริษัทด้านพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก บริษัทมีเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ (net-zero) ภายในปี 2050
โครงการไฮโดรเจนและแอมโมเนียสีเขียวในประเทศชิลี ดำเนินการโดยบริษัท TEC H2 MAG ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TotalEnergies ในชิลี โดยโครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของบริษัทแม่ในการลงทุนในพลังงานสะอาด เนื่องจากตอนใต้ของชิลีมีศักยภาพสูงในการผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์
โครงการดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานในปี 2030 โดยประกอบด้วยฟาร์มกังหันลม ศูนย์ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวด้วยกระบวนการอิเล็กโทรไลซิสจำนวน 7 แห่ง โรงกลั่นน้ำทะเล โรงงานผลิตแอมโมเนีย และโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลสำหรับการขนส่ง
ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่พบได้มากในธรรมชาติ โดยเฉพาะในน้ำ ซึ่งสามารถสกัดออกมาในรูปของก๊าซบริสุทธิ์ได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ไฮโดรเจนที่สกัดได้แบ่งออกตามแหล่งพลังงานที่ใช้ ดังนี้:
ชิลีเป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว โดยเป็นแหล่งผลิตครึ่งหนึ่งของทั้งภูมิภาค ตามข้อมูลของ IEA ในปี 2024 ประเทศมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 70 เท่าของกำลังการผลิตไฟฟ้าปัจจุบัน และสามารถผลิตไฮโดรเจนสะอาดได้สูงสุดถึง 160 ล้านตันต่อปีภายในปี 2050 ตามยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนสีเขียวแห่งชาติ
แผนพัฒนาไฮโดรเจนของชิลีดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศ อาทิ กองทุนสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (EIB) และธนาคารเพื่อการพัฒนา KfW ของเยอรมนี มูลค่า 225 ล้านยูโร (ประมาณ 8,351 ล้านบาท) เงินกู้ 150 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4,908 ล้านบาท) จากธนาคารโลก และเงินกู้ 400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 13,098 ล้านบาท) จากธนาคารพัฒนาอเมริกา (IDB)
แม้ว่าชิลีจะผลักดันการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนสะอาดอย่างจริงจัง แต่บริษัทบางแห่งได้แสดงความกังวลว่ากระบวนการขอใบอนุญาตยังคงล่าช้า และประเทศยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งอาจกลายเป็นข้อเสียเปรียบของชิลีในฐานะผู้นำด้านพลังงานสีเขียว
จากข้อมูลในเว็บไซต์ของโครงการ กระบวนการขอใบอนุญาตจะใช้เวลาราว 2 ปี โดยมีกำหนดเริ่มก่อสร้างในปี 2027 โรงงานผลิตแอมโมเนียจะทยอยเปิดดำเนินการเป็นระยะ และคาดว่าจะสามารถผลิตแอมโมเนียได้สูงสุดถึง 10,800 เมตริกตันต่อวัน