1 พฤษภาคมที่ผ่านมาคือวันแรงงานสากล วันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกหยุดทำงาน แต่แรงงานหลายแสนคนทั่วโลกใช้เวลาวันนี้รวมตัวกันเรียกร้องสิทธิที่แรงงานควรจะมี Spotlight จะพาไปดูว่า วันแรงงานปี 2025 แรงงานทั่วโลกกำลังเรียกร้องอะไรกันบ้าง
แรงงานรวมตัวกันในนิวยอร์ก ชิคาโก ฟิลาเดลเฟีย ลอสแองเจลิส และหน้าทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตันดีซี รวมถึงในพื้นที่อีกหลายรัฐเพื่อแสดงความโกรธเกรี้ยวต่อการบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ขัดขวางการคุ้มครองแรงงาน และเรียกร้องมาตราการส่งเสริมความหลากหลาย รวมถึงสิทธิของพนักงานรัฐบาลกลาง
บรรยากาศการประท้วงที่ชิคาโกเป็นไปอย่างคึกคัก ชาวอเมริกันหลายพันคนรวมตัวกันที่สวนสาธารณะ West Side ก่อนเดิยนขบวนมุ่งหน้าสู่ทะเลสาปในตัวเมือง หลายคนเต้นรำและร้องเพลง และมีตุ๊กตาล้อเลียนประธานาธิบดีทรัมป์หลากหลายรูปแบบ ขบวนพาเหรดประกอบด้วยสหภาพแรงงาน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ นักเคลื่อนไหวเพื่อชาวปาเลสไตน์ และนักศึกษาที่เรียกร้องงบประมาณสนับสนุนโรงเรียนของรัฐบาบลที่ดีขึ้น
“เราต้องยืนหยัดและสู้กลับ” ลาทรินา บาร์เนส ผู้ช่วยพยาบาลวัย 48 ปีกล่าว เธอบอกกับผู้สื่อข่าว Associate Press ว่าความกังวลว่า นโยบายของทรัมป์จะส่งผลกับประกันและการดูแลด้านสาธารณะสุขทำให้เธอออกมาร่วมการประท้วงแรงงานเป็นครั้งแรก
ที่ฟิลาเดลเฟีย เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์ กล่าวปราศรัยหน้าศาลาว่าการเมืองระหว่างการชุมนุม ก่อนที่ฝูงชนจะเดินขบวนไปตามท้องถนน ผู้ชุมนุมหลายสิบคนนั่งลงกลางสี่แยกพร้อมป้ายข้อความว่า “แรงงานต้องมาก่อนมหาเศรษฐี” นำไปสู่การจับกุมผู้ชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ด้านลอสแอนเจลิส การชุมนุมจัดขึ้นโดยกลุ่มพันธมิตรแรงงานลอสแองเจลิส (Los Angeles May Day Coalition) ผู้ประท้วงหลายพันคนร่วมเดินขบวน พร้อมชูป้ายข้อความว่า “ผู้อพยพทำให้อเมริกายิ่งใหญ่,” “การอพยพคือความงดงาม” และ “นี่ไม่ใช่เวลาที่จะเงียบ” ท่ามกลางเสียงดนตรีและธงโบกสะบัด บรรยากาศการชุมนุมคึกคักราวกับงานเฉลิมฉลอง
“เราพร้อมสู้กับพวกมหาเศรษฐีและนักการเมืองที่พยายามยุแยงให้เราแตกแยกด้วยความกลัวและคำโกหก” เอพริล เวอร์เรตต์ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานบริการนานาชาติ (Service Employees International Union) ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงาน 2 ล้านคน กล่าว
นอกจากนี้ผู้ปราศัยอีกหลายคนประกาศเรียกร้องสิทธิคุ้มครองแรงงานและแรงงานข้ามชาติที่มีประสิทธิภาพด้วยสโลแกน “หนึ่งอุปสรรค หนึ่งสังเวียน แรงงานร่วมใจ”
นิวยอร์ก ทนายความหลายร้อยคนและกลุ่มผู้สนับสนุนมารวมตัวกันใกล้ศาลในย่านโลเวอร์แมนฮัตตันในการชุมนุม “วันแห่งหลักนิติธรรมแห่งชาติ” เพื่อประณามสิ่งที่บางคนมองว่าเป็นการไม่เคารพระบบกฎหมายของรัฐบาลทรัมป์
หลังจากการชุมนุมของเหล่าทนายไม่กี่ชั่วโมง แรงงานอีกหลายพันคนมารวมตัวกันในจตุรัสเดียวกันนั้น เพื่อเดินขบวนวันแรงงานสากล ขบวนประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหวแรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน และกลุ่มอื่น ๆ พร้อมธงสายรุ้งของชาว LGBTQ และป้ายที่ประณามการปราบปรามผู้อพยพของทรัมป์
ผู้คนนับหมื่นรวมตัวกันในกรุงปารีสเพื่อเดินขบวนเนื่องในวันแรงงาน เรียกร้องให้มีการคุ้มครองแรงงานที่เข้มแข็งขึ้น ค่าจ้างที่สูงขึ้น และความเท่าเทียมที่มากขึ้น ขณะกลุ่มผู้ประท้วงเดินผ่านสมาชิกพรรคสังคมนิยม ซึ่งถูกขอให้ออกจากการชุมนุม เกิดการแะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ผู้นำสหภาพแรงงานฝรั่งเศสประณามปรากฏการณ์ “ทรัมป์เป็นใหญ่/การทำให้โลกเป็นแบบทรัมป์” (Trumpization) ของการเมืองโลก โดยระบุว่า การชุมนุมทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ขับเคลื่อนด้วยความไม่พอใจต่ออิทธิพลทางทหารและการค้าของสหรัฐฯ ฌอง-ลุค เมอลองชง ผู้นำฝ่ายซ้ายจัด กล่าวหาสหรัฐฯ ว่ากำลังผลักดันให้ยุโรปเข้าสู่ความขัดแย้งและการตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจ
“ถ้าชาวอเมริกันไม่ต้องการสินค้าของเราอีกต่อไป พวกเราก็แค่นำไปขายให้คนอื่นแทน” เขากล่าว
ณ กรุงเบอร์ลิน มีการรวมตัวชุมนุม เดินขบวนประท้วง และกิจกรรมอื่นๆ รวมมากกว่า 100 กิจกรรมเนื่องในวันแรงงานสากล สมาพันธ์สหภาพแรงงานเยอรมัน (The German Trade Union Confederation: DGB) ชูสโลแกน “Mach dich stark mit uns!” (จงแข็งแกร่งไปพร้อมกับเรา!) เพื่อกระตุ้นให้ลูกจ้างในเยอรมันเรียกร้องค่าแรงที่สูงกว่านี้ และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้น
ผู้นำสหภาพแรงงานเยอรมนีกล่าวเตือนว่า การขยายวันทำงานและบรรยากาศต่อต้านแรงงานข้ามชาติในสหรัฐฯ เป็นภัยต่อการคุ้มครองแรงงานอีกด้วย
ในกรุงเบิร์น ผู้ชุมนุมหลายพันคนร่วมเดินขบวนประณามแนวคิดลัทธิฟาสต์ซิสต์และสงคราม เป็นคลื่นการต่อต้านการผงาดขึ้นของกระแสการเมืองฝ่ายขวาจัดทั่วโลก ส่วนบรรยากาศการชุมในซูริกมีความตึงเครียดขึ้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการ “เดินขบวนปฏิวัติ” ของกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายซ้ายจัด ซึ่งมีการใช้สโลแกนอย่าง “Eat the rich” (กินคนรวย) และ “Bonze uf de Grill” (ภาษาถิ่นสวิส-เยอรมัน แปลประมาณว่า “เอาพวกเศรษฐีขึ้นเตาย่าง”) ซึ่งเป็นถ้อยคำแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านชนชั้นนำ
ชาวสเปนหลายพันคนเดินขบวนในกรุงมาดริด บาร์เซโลนา และเมืองอื่นๆ ในสเปน ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันในวันแรงงานเพื่อเรียกร้องหัวข้อหลากหลาย ตั้งแต่การลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ ไปจนถึงการเรียกร้องคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ที่กระทบสเปนและโปรตุเกส เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการจัดการชุมนุมแยกกันระหว่าง กลุ่ม Solidaridad ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของพรรคขวาจัด VOX และสหภาพแรงงานแบบดั้งเดิม
กลุ่มสหภาพแรงงานขวาจัดโบกสะบัดธงชาติสเปนและวิพากย์รัฐบาลเรื่องเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่เมื่อวันจันทร์
“การทำงานในสเปนแย่มาก ทำงานเยอะแถมค่าแรงก็ต่ำ ค่าครองชีพก็แพงขึ้นทุกวัน รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย” อันเดรอู บาร์บา ผู้ทำงานเป็นคนสวนกล่าว
นอกจากนี้ผู้ชุมนุมในสเปนยังแสดงความไม่พอใจการดำเนินการแบบขวาจัดของทรัมป์อีกด้วย
“โลกเปลี่ยนไปเล็กน้อยนับตั้งแต่ทรัมป์เข้ามา” อังเคล โลเปซ วัย 56 ปี พนักงานจากมาดริดกล่าว “การที่ฝ่ายขวาจัดสามารถขึ้นสู่อำนาจในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก”
แรงงานหลายพันคน และสหภาพแรงงานหลายสถาบันมารวมตัวกันกลางกรุงเอเธนส์ โบกสะบัดธงชาติและโห่ร้องสโลแกนต่อต้านรัฐบาลด้านหน้าอาคารรัฐสภา โฟเตนี ดูลี นักศึกษามหาวิทยาลัยกล่าวถึงความสำคัญของการรวมตัวเนื่องในวันแรงงานสากล
“แน่นอน เรามารวมตัวกันวันนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่วันแรงงาน หลังเราฝ่าฟันและพยายามสู้กันมามาก เราก็เรียกร้องข้อกำหนดทำงานวันละ 8 ชั่วโมงได้สำเร็จ สภาพแวดล้อมการทำงานคือเป้าหมายต่อไป” เธอกล่าว
การชุมนุมวันแรงงานของไต้หวันพุ่งเป้าไปที่วันหยุดของแรงงาน ผู้คนราว 5,000 คนมารวมตัวกันในกรุงไทเป ใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี แรงงานชี้ว่า แม้แรงงานส่วนใหญ่ของภาคเอกชนจะได้หยุดในวันแรงงาน แต่พนังงานราชการและครูยังคงต้องทำงานอยู่ มีการเรียกร้องวันหยุดให้แรงงานมากขึ้น เรียกร้องค่าข้างเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ และการจ่ายเงินบำนาญที่น่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังจัดการแสดงละครสั้นวิจารณ์การทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานไต้หวัน นายหุง ซุนฮัน และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณะสุข นายไท-หยวน
ผู้จัดการประท้วงได้เตือนผู้ร่วมชุมนุมถึงกรณีการกลั่นแกล้งภายในกระทรวงแรงงานเมื่อปีก่อน ซึ่งพฤติกรรมละเมิดต่อผู้ใต้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งถูกเปิดโปง หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย
ผู้นำการประท้วงระบุว่า เหตุดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีบุคคลกลางและตัวแทนแรงงานที่เป็นอิสระเข้ามารับมือกับปัญหาการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน ขณะเดียวกัน นายจ้างไม่ควรมีสิทธิข่มขู่หรือคุกคามผู้เสียหายแต่อย่างใด
บรรยากาศการประท้วงในตุรกีตึงเครียดมาก หลังผู้ชุมนุม 382 คนจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังมีการเดินขบวนประท้วงที่จัตุรัสทักซิม จัตุรัสใจกลางกรุงอิสตันบูลที่ถูกสั่งห้ามใช้เป็นที่ชุมนุมมาตั้งแต่ปี 2013
จตุรัสทักซิมถูกล็อกดาวน์อย่างแน่นหนา การขนส่งสาธารณะปิดชั่วคราวเพื่อหยุดยั้งผู้ชุมนุมไม่ให้สามารถเดินทางไปรวมตัวกันที่จัตุรัสกลางเมืองดังกล่าวได้ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50,000 นายถูกระดมมาควบคุมสถานการณ์ และรถฉีดน้ำปิดล้อมสถานที่ดังกล่าว
การประท้วงจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน ก่อนวันแรงงานสากลที่กรุงบูเอโนสไอเรสเมื่อวันพุธ โดยสมาชิกของสหภาพแรงงานหลักของอาร์เจนตินา เพื่อคัดค้านนโยบายความเข้มงวดทางการเงินของประธานาธิบดีฮาเวียร์ มิเกลิ และเพื่อระลึกถึงพระสันตะปาปาฟรานซิสผู้ล่วงลับ
หนึ่งวันหลังจากความพยายามในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำใหม่ร่วมกับภาคแรงงานและภาคธุรกิจล้มเหลว ระหว่างการประท้วง มีธงที่มีภาพของพระสันตะปาปาและสโลแกนที่ยกย่องผลกระทบจากการปกครองของพระองค์ปรากฏอยู่
สหพันธ์แรงงานทั่วไป (CGT) ได้แถลงการณ์ว่า สหภาพแรงงานมีความ "กังวลและตื่นตัวต่อสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และแรงงาน" ในอาร์เจนตินา ท่ามกลางรัฐบาลที่ "ไม่ตอบสนองต่อความต้องการ ไม่ฟัง และไม่เปิดการเจรจา"
สหภาพพนักงานสัญญาแห่งอินเดีย หรือ All Contractual Karamchari Sangh Bharat จัดการประท้วงเนื่องในวันแรงงานสากล เพื่อเรียกร้องการค้างค่าจ้างที่พวกเขายังไม่ได้รับที่มัสยิด Sector 20 ประธานของสหภาพ บิพิน เชอร์ ซิงห์ กล่าวว่า "การต่อสู้นี้ไม่ใช่เรื่องของคุณหรือเรื่องของฉัน แต่มันเป็นเรื่องของพวกเราทุกคนที่กำลังทำงานหนักร่วมกัน"
เขาเรียกร้องให้มีการให้ความมั่นคงในการทำงานแก่พนักงานสัญญาที่ได้รับการแต่งตั้งตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยอ้างอิงจากรัฐเพื่อนบ้าน และเพื่อการปกป้องพนักงานที่จ้างจากภายนอก เรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด ซึ่งรวมถึงการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับการทำงานที่เท่าเทียมและการยกเลิกระบบสัญญาจ้าง
อ้างอิง: AFP, Euronews, Deutschland, Swissinfo, Taiwannews, BBC, Hindustantimes