การเงิน

ทำไมได้คืนภาษีช้าจัง หรือเป็นเพราะว่าเราลืมทำสิ่งเหล่านี้ ?

4 ก.พ. 67
ทำไมได้คืนภาษีช้าจัง หรือเป็นเพราะว่าเราลืมทำสิ่งเหล่านี้ ?
ไฮไลท์ Highlight
กรมสรรพากรจะดำเนินการคืนเงินภาษี ภายใน 3 เดือน กรณีมีเอกสารชัดเจนแสดงว่า ได้มีการเสียภาษีไว้เกิน ผิด ซ้ำหรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอคืนเงินภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.90/91 ที่แจ้งความประสงค์ขอคืนเงินภาษี หรือแบบ ค.10

ยื่นภาษีแล้ว กี่วันถึงจะได้เงินคืน คำถามนี้เป็นคำถามที่เจอกันบ่อย ๆ ในช่วงยื่นภาษีประจำปีแบบนี้ครับ ซึ่งถ้าหากให้ตอบตามหลักการของกฎหมายก็ต้องบอกว่าภายใน 3 เดือนครับ

กรมสรรพากรจะดำเนินการคืนเงินภาษี ภายใน 3 เดือน กรณีมีเอกสารชัดเจนแสดงว่า ได้มีการเสียภาษีไว้เกิน ผิด ซ้ำหรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอคืนเงินภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.90/91 ที่แจ้งความประสงค์ขอคืนเงินภาษี หรือแบบ ค.10

 อ้างอิง : https://www.rd.go.th/63437.html หัวข้อ ระยะเวลาการได้คืนเงินภาษี)

“แต่มีหลายคนที่ได้คืนไวกว่านั้นนะ” หลายคนคงจะนึกสงสัยอยู่ในใจ เพราะว่าเห็นว่าเพื่อน หรือ คนข้าง ๆ หลายคนก็ยื่นภาษีและขอคืนพร้อมกับเรา แต่ทำไมเขาได้คืนก่อน นั่นสิ ?

อันดับแรกสิ่งที่อยากแนะนำ (ที่หลายคนยังไม่ได้ทำ) นั่นคือการตรวจสอบสถานะการขอคืนภาษีในระบบ My TAX Account ของกรมสรรพากรครับโดยเข้าไปตรวจสอบได้ที่ My TAX Account หัวข้อตรวจสอบข้อมูลทางภาษีครับและเช็คสถานะว่าเป็นยังไง ?

 ขอคืนภาษี

ซึ่งขั้นตอนในการขอคืนภาษีนั้นจะมีหน้าตาแบบนี้ครับ
ขอคืนภาษี

หากดูจากรูปจะเห็นว่า ถ้าหากเพิ่งยื่นภาษีอาจจะมีต้องผ่านขั้นตอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าข้อมูล วิเคราะห์แบบ ขอเอกสาร พิจารณาคืนภาษี ส่งคืนภาษี และ ได้รับคืนภาษี ซึ่งความช้าเร็วตรงนี้ ก็อยู่ที่การตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่สรรพากร จำนวนเงินภาษีที่ขอคืน และ ความซับซ้อนของข้อมูลประกอบกันครับ

ทีนี้ขั้นตอนที่จะทำให้เราได้คืนภาษีช้า (ในฝั่งเรา) มีตรงไหนบ้าง ผมสรุปประเด็นที่ควรพิจารณาให้ตามนี้ครับ

  • กรณีแรก หากอยู่ในสถานะ “ขอเอกสาร” อันนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องอัพโหลดส่งให้กับทางสรรพากรครับ ซึ่งถ้ายิ่งช้า อันนี้จะถือว่าไม่เริ่มนับในระยะเวลาขอคืน (3 เดือน) ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จนกว่าเราจะนำส่งเอกสารทั้งหมดให้เรียบร้อยครับ (ดังนั้นอาจจะทำให้ยิ่งช้าไปใหญ่ สำหรับคนที่นำส่งเอกสารช้าครับ)

    อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เอกสารบางส่วนไม่ต้องนำส่งให้กับทางกรมสรรพากรแล้วนะครับ เช่น ประกัน กองทุนลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เงินบริจาคต่างๆ ซึ่งตรงนี้เราสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบ My TAX Account ว่าตรงกับข้อเท็จจริงไหม หากตรงกันสรรพากรมักจะไม่ขอเอกสารส่วนนี้เพิ่มเติมครับ

    แต่ส่วนที่ต้องระวัง นั่นคือ ช้อปดีมีคืน ปี 2566 ที่ระบบของสรรพากรดึงข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดขึ้นมาให้โดยที่มีบางตัวไม่ได้เข้าเงื่อนไขลดหย่อนภาษี อันนี้ต้องระวังให้ดีครับ หากกรอกผิดหรือใช้สิทธิ์เกิน อาจจะทำให้เราขอคืนภาษีช้ากว่าที่กำหนดได้ครับ

  • กรณีที่สอง การสมัครพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน มีผลมากครับกับการได้คืนภาษี เพราะในปัจจุบันการคืนเงินภาษีจะ คืนเข้าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งถ้าหากไม่มี กรมสรรพากรจะออกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) เป็นหลักฐานเพื่อนำไปติดต่อรับเงินคืนที่สาขาธนาคารธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ล่าช้าไปอีกเช่นเดียวกันครับ

  • กรณีสุดท้าย การยื่นภาษีช้า โดยเฉพาะคนที่ยื่นภาษีในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป มีโอกาสที่จะได้ภาษีคืนช้าลงจากจำนวนแบบแสดงรายการภาษีที่ยื่นเข้ามามาก (แต่ก็อาจจะไม่ใช่ทุกคนนะครับ) ดังนั้นก็อย่าลืมรีบจัดการข้อมูลต่าง ๆ ของตัวเองให้เรียบร้อยที่สุดครับผม

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ แต่ขอให้ทุกคนที่ยื่นขอคืนภาษีได้ภาษีคืนไวๆ นะครับ (ฮา)

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT