การเงิน

รับมือ ‘ภาษีลงทุนหุ้นนอก’ ปี 67 วางแผนง่าย ด้วยตัวคุณเอง

23 ธ.ค. 66
รับมือ ‘ภาษีลงทุนหุ้นนอก’ ปี 67 วางแผนง่าย ด้วยตัวคุณเอง
ไฮไลท์ Highlight
และในวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาก็มีประกาศฉบับ ป.162 ออกมา ซึ่งใจความสำคัญคือ ถ้าเงินได้นั้นเกิดขึ้นก่อน 1 มกราคม 2567 คุณสามารถเอาเงินได้นั้นเข้ามาได้ในปีถัดๆ ไปแบบไม่ต้องเสียภาษี หรือก็คือเกณฑ์เดิมกับที่เคยใช้กันมาตลอด แต่เงินได้ที่เกิดขึ้นหลัง 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไปจะนับเป็นเกณฑ์ใหม่ สรุปก็คือ ทุกอย่างจะถูกเริ่มต้นใหม่หลัง 1 มกราคม 2567

หากคุณกำลังลงทุนหุ้นต่างประเทศหรือมีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศอยู่ย่อมติดตามความเคลื่อนไหวของกรมสรรพากรในประเด็นสำคัญเรื่องการเก็บ ‘ภาษีเงินได้จากต่างประเทศ’ กันอยู่ใช่ไหมครับ เกณฑ์การเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศมีรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นักลงทุนต้องทำอะไรหรือไม่ ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ

ในอดีตถ้าเรามีรายได้จากต่างประเทศเราจะมีวิธีการบริหารภาษี 2 ประเภทด้วยกันคือ

แบบที่ 1 แบบถิ่นที่อยู่ คือถ้าเราไม่ได้อยู่ในประเทศถึง 180 วัน เงินได้จากต่างประเทศในปีนั้นจะไม่เสียภาษี

แบบที่ 2 คือ ถ้าเราอยู่ในประเทศไทย 180 วัน และมีเงินได้ต่างประเทศในปีนั้น ถ้าเราเอาเงินได้นั้นกลับเข้ามาในประเทศไทยข้ามปีภาษี เราก็ไม่ต้องเอารายได้จากต่างประเทศตรงนั้นมายื่นคำนวณภาษีเงินได้ส่วนบุคคล

ซึ่งเกณฑ์ที่ว่ามานั้น ไม่ได้นับเฉพาะนักลงทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ แต่รวมไปถึงคนที่มีรายได้จากต่างประเทศในรูปแบบอื่นๆ ด้วยจนวันที่  18 กันยายน ที่ผ่านมา กรมสรรพากรออกได้ประกาศเกณฑ์ฉบับ ป.161  เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ที่มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ภาษีเงินได้จากต่างประเทศ โดยในเกณฑ์ระบุว่า ไม่ว่าคุณจะมีรายได้จากต่างประเทศในปีไหน และนำเข้ามาในประเทศไทยจะมีการคิดภาษีด้วย ซึ่งเป็นประกาศที่สร้างความแตกตื่นให้กับวงการลงทุนระดับหนึ่งเลยในตอนนั้น ซึ่งผมก็ได้ทำวีดีโออัปเดตสถานการณ์ในตอนนั้นไปแล้วเช่นกันตามมย้อนหลังได้นะครับ ในตอนนั้นเราก็รอทางกรมสรรพากรออกมาชี้แจ้งถึงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ถ้าจะคิดภาษีเงินได้ต่างประเทศอย่างไรบ้าง

และในวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาก็มีประกาศฉบับ ป.162 ออกมา ซึ่งใจความสำคัญคือ ถ้าเงินได้นั้นเกิดขึ้นก่อน 1 มกราคม 2567 คุณสามารถเอาเงินได้นั้นเข้ามาได้ในปีถัดๆ ไปแบบไม่ต้องเสียภาษี หรือก็คือเกณฑ์เดิมกับที่เคยใช้กันมาตลอด แต่เงินได้ที่เกิดขึ้นหลัง 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไปจะนับเป็นเกณฑ์ใหม่ สรุปก็คือ ทุกอย่างจะถูกเริ่มต้นใหม่หลัง 1 มกราคม 2567

ทั้งนี้ ประกาศล่าสุด คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161 และ ป.162 ที่ออกมา คือ กำหนดการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมจากแหล่งเงินได้ต่างประเทศ ครอบคลุมถึงการลงทุนหุ้นนอกด้วย สำหรับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และบุคคลจะต้องอยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป

 973384

เมื่อเกณฑ์กรมสรรพากรออกมาในรูปแบบนี้แล้ว นักลงทุนไทยก็ต้องทำตามกฎหมายครับ ตัวผมเองก็ลงทุนหุ้นต่างประเทศ มีหลายพอร์ต เหมือนกับนักลงทุนไทยส่วนใหญ่ ที่กระจายความเสี่ยงลงทุนหุ้นนอกมากขึ้น ไม่ว่าจะเปิดพอร์ตเลือกหุ้นลงทุนเอง หรือลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล เมื่อนำเงินกลับเข้าประเทศ ต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เงินได้พึงประเมิน คำนวณ ‘ภาษีหุ้นนอก’ อย่างไร

สำหรับคำว่า ‘เงินได้พึงประเมิน’ คือ เงินที่เป็นของเราแล้ว เราเอาไปใช้จ่ายได้แล้ว เช่นหากคุณมีอสังหริมทรัพย์ให้เช่า ผู้เช่าจ่ายค่าเช่าคุณแล้ว นั้นหมายความว่า เงินค่าเช่าที่คุณได้รับนั้นถือเป็นรายได้พึงประเมิน

ถ้าเป็นหุ้น ที่ถือเป็นสินทรัพย์ มีมูลค่าแต่ยังไม่ขายออกมา จะยังไม่นับครับ เพราะจะนับเมื่อมีการขายเป็นเงินออกมาแล้วเท่านั้น และมีการบันทึกกำไรแล้วว่าเราได้กำไรเท่าไหร่

ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ นักลงทุน Jitta Wealth ซื้อหุ้น แล้วยังไม่ได้ขายเอากำไร ก็ไม่ต้องนับเป็นเงินได้ ถ้านักลงทุน Jitta Wealth เปิดแอปของเราขึ้นมา เห็นตัวเลขตรงนั้น ก็ยังไม่เรียกว่ารายได้พึงประเมินนะครับ กรมสรรพากรจะถือเป็นรายได้พึงประเมินต่อเมื่อขายออกเท่านั้นครับ

ที่สำคัญ กรมสรรพากร ระบุภาษีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศจะถูกคำนวณก็ต่อเมื่อนำเงินกลับเข้ามาในไทยเท่านั้น หลักการเขาจะพิจารณาจากเงินลงทุนเริ่มต้นก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาจากกำไรที่เกิดขึ้นจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ซึ่งจะเข้าเกณฑ์มาตรา 40 (4) ดอกเบี้ยและเงินปันผล ของเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร

สมมติเหตุการณ์ว่า คุณมีพอร์ตลงทุนหุ้นสหรัฐอเมริกา เงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ลงทุนตั้งแต่ก่อนปี 2567 มีทั้งกำไรและขาดทุนจากราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ณ สิ้นปี 2566 มูลค่าพอร์ตรวม 1.3 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2568 พอร์ตหุ้นสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมเป็น 1.5 ล้านบาท (กำไรเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนบาท) ซึ่งคุณต้องการจะนำเงินจากพอร์ตลงทุนนี้กลับเข้าไทย จะคิดภาษีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศภายใต้คำสั่งกรมสรรพากรใหม่ได้หลายกรณีครับ

กรณีที่ 1 หากคุณนำเงินกลับเข้ามา 500,000 บาท ทั้งก่อนหรือหลังปีภาษี 2567 ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะเป็นส่วนของเงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาทครับ

กรณีที่ 2 หากคุณนำเงินกลับเข้ามาอีก 500,000 บาท ทั้งก่อนหรือหลังปีภาษี 2567 ยังไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เช่นเดียวกัน เพราะจำนวนยังอยู่ในส่วนของเงินลงทุนเริ่มต้น

กรณีที่ 3 หากคุณนำเงินกลับเข้ามาอีก 300,000 บาทในปีภาษี 2568 คุณอาจจะต้องคุยกับเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ และสำแดงเงินได้จากต่างประเทศส่วนนี้ว่า เป็น Capital Gain หรือส่วนต่างกำไรที่เกิดขึ้นก่อนปี 2567 เพื่อให้คุณไม่ต้องเสียภาษี ภายใต้กฎเกณฑ์เก่า

กรณีที่ 4 หากคุณนำเงินที่เหลือจากพอร์ตลงทุนหุ้นสหรัฐอเมริกากลับมา จำนวน 200,000 บาทในปีภาษี 2568 หรือในปีภาษีต่อๆ ไป คุณจะต้องนำมาคำนวณเงินได้ เพราะเป็น Capital Gain ที่เกิดขึ้นหลังปี 2567 ภายใต้กฎเกณฑ์กรมสรรพากรใหม่

ขอย้ำครับว่า การคำนวณภาษีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณขายหุ้นนั้นแล้วมีการนำเงินกลับเข้าไทย ซึ่งส่วนนั้นเรียกว่า กำไรขาดทุนที่รับรู้แล้ว Realized Gain/Loss ครับ หากเป็นมูลค่าพอร์ตลงทุนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากเงินลงทุนเริ่มต้นนั้น เรียกว่า กำไรขาดทุนที่ยังไม่รู้ หรือ Unrealized Gain/Loss ยังไม่ต้องมาคำนวณภาษีหุ้นนอกครับ

ในทางกลับกัน หากเงินลงทุนเริ่มต้นในพอร์ตลงทุนหุ้นสหรัฐอเมริกา 1 ล้านบาทนั้น ต่อมาเหลือ 800,000 บาท คุณนำเงินลงทุนนั้นกลับเข้าไทย ก็ไม่ต้องเสียภาษี เพราะขาดทุน จำนวนเงินที่เอากลับเข้ามาก็ยังอยู่ในส่วนของเงินลงทุนเริ่มต้น

เมื่อพิจารณาหลักการคำนวณภาษีลงทุนหุ้นต่างประเทศ ภายใต้กฎเกณฑ์กรมสรรพากรใหม่ คุณจะเห็นว่า ต้องมี Capital Gain จากการลงทุนหุ้นเท่านั้น ซึ่งคุณยังคงได้ประโยชน์จากการลงทุนก่อน 31 ธันวาคม 2566 ดังนั้นส่วนต่างกำไรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เรียกได้ว่า ค่อยมาคำนวณ​ นับหนึ่งกันใหม่

ลงทุนระยะยาว รับมือ ‘ภาษีหุ้นนอก’ อย่างไรดี

มีนักลงทุนระยะยาวหลายคนที่คิดประมาณว่า ก็เราลงทุนระยะยาว จะเอาเงินนั้นกลับเข้ามาปีไหนก็ค่อยว่ากันอีกที เพราะจริงๆ แล้วประเด็นก็คือ เราจะเสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศนี้ เมื่อเอาเงินกลับเข้าประเทศไทย

นักลงทุนระยะยาวหลายคนที่มีเป้าหมายลงทุนเพื่อใช้เงินก้อนนี้หลังเกษียณ ก็ปล่อยให้เงินทำงานอีก 10-20 ปี ให้เงินลงทุนเหล่านั้นทบต้นไป แล้วค่อยเสียภาษีเงินได้นั้นในปีที่จะเอากลับมาในประเทศไทยจริงๆที่สำคัญเมื่อถึงเวลานั้น เกณฑ์ในการเสียภาษีของเราก็อาจจะลดลงเพราะไม่มีเงินได้มากนักเนื่องจากหยุดทำงานแล้ว เราก็สามารถค่อยๆ ทยอยโอนเงินลงทุนเข้ามาใช้จ่าย เราก็จะเสียภาษีน้อยลงด้วย ก็เป็นการบริหารเงินภาษีรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

พอร์ตลงทุนหุ้นต่างประเทศของผม มีเป้าหมายลงทุนระยะยาวมากกว่า 10 ปี หรืออาจจะยาวไปจนถึงผมเกษียณแต่ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ที่จะบังคับใช้ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ผมยอมรับว่า กระทบในแง่ของภาษีเงินได้ที่ต้องคำนวณจาก Capital Gain หากมองในมุมของการลงทุนระยะยาว คุณสามารถบริหารภาษีหุ้นนอกได้เช่นเดียวกัน

ในช่วงที่คุณกำลังทำงาน มีเงินได้ในไทย คุณสามารถปล่อยให้เงินทำงานสร้างผลตอบแทนทบต้นในพอร์ตลงทุนหุ้นต่างประเทศต่อไป โดยไม่ต้องขายหุ้นแล้วนำเงินกลับเข้าไทย เพราะในวัยทำงาน คุณมีหน้าที่เสียภาษีจากแหล่งเงินได้ในประเทศอยู่แล้ว การนำเงินกลับเข้ามา ก็เป็นการเพิ่มฐานคำนวณภาษีเงินได้ของคุณให้สูงขึ้นไปอีก คุณอาจจะเสียภาษีมากกว่าเดิมโดยไม่จำเป็นครับ

คุณสามารถให้พอร์ตลงทุนหุ้นต่างประเทศ เป็นแหล่งรายได้ของคุณหลังเกษียณอายุ แล้วค่อยๆ ทยอยนำเงินกลับเข้ามา แล้วคำนวณภาษีเงินได้จาก Capital Gain ในปีภาษีนั้นครับ แต่เมื่อถึงเวลานั้น ฐานคำนวณภาษีของคุณอาจจะไม่สูงมาก หรือได้รับการยกเว้น เพราะคุณไม่ได้ทำงานนั่นเอง แต่ไม่ว่า กฎเกณฑ์กรมสรรพากรจะเปลี่ยนไปอย่างไร คุณสามารถเสีย ‘ภาษีกำไรหุ้นนอก’ น้อยลงได้ แค่ปรับวิธีการบริหารเงินลงทุนจากต่างประเทศครับ

Money Market แหล่งพักเงินลงทุน ล็อกกำไร

ในจังหวะที่คุณเห็นว่า เป็นเวลาอันสมควรหรือจำเป็นที่จะต้องขายสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ในต่างประเทศ เช่นวิกฤตหรือสงครามที่จะมากระทบเงินต้นของเราได้ หากคุณไม่ต้องการนำเงินได้เหล่านั้นกลับเข้าประเทศ ก็สามารถมองหาแหล่งพักเงิน เพื่อรอโอกาสลงทุนครั้งใหม่  ​ซึ่งสินทรัพย์ประเภทตราสารตลาดเงิน หรือ Money Market นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการพักเงินลงทุน เพราะมีความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูง ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรระยะสั้น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และหุ้นกู้ระยะสั้น ซึ่งตราสารเหล่านี้ อายุไม่เกิน 1 ปีครับ

ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม และ ETF (Exchange Traded Fund) มีกองทุนตลาดเงินเป็นทางเลือกให้นักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ใส่เงินเข้าไปในกองทุนตลาดเงินก่อน รอโอกาสลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างหุ้น หรือได้กำไรจากหุ้น แล้วโยกเงินมาพักไว้ในกองทุนตลาดเงิน ซึ่ง ETF ที่บริหารโดยบริษัทจัดการลงทุนระดับโลกอย่าง iShares by BlackRock และ State Street Global Advisors  เช่น iShares 0-3 Month Treasury Bond ETF (SGOV) และ SPDR Bloomberg 1-3 Month T-Bill ETF (BIL)

ETF ทั้งสองกองนี้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของสหรัฐอเมริกา อายุไม่เกิน 1 ปี ใช้กลยุทธ์ Passive Investment มีมูลค่า AUM (Assets Under Management) มากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็น ETF ที่อยู่ในตลาดหุ้นมาอย่างน้อย 3 ปี จึงเป็นกองที่ผมเชื่อมั่นและเลือกเข้ามาใส่ในกองทุนส่วนบุคคล Jitta Money เพื่อเพิ่มทางเลือกให้เป็นแหล่งพักเงินสำหรับลูกค้าที่ลงทุนอยู่กับ Jitta Wealth  และยังเป็นเครื่องมือสำหรับนักลงทุนที่ยังไม่กล้าออกไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศด้วย

และด้วยทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในช่วงที่ผ่านมาทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ส่งผลดีต่อการลงทุนพันธบัตร  โดยจะเห็นว่าผลตอบแทนของ Jitta Money อยู่ที่ 4.53% เมื่อคำนวณจาก 30-Day SEC Yield หลังหักค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว (ณ 15 พฤศจิกายน 2566) โดย 30-Day SEC Yield เป็นมาตรฐานการคำนวณผลตอบแทนของตราสารตลาดเงินที่กองทุนและ ETF ในสหรัฐอเมริกาใช้กัน กำหนดโดย Securities and Exchange Commission (SEC)

หากคุณมีพอร์ตลงทุนหุ้นนอกกับ Jitta Wealth ไม่ว่าจะเป็นแผน Jitta Ranking แผน Thematic และแผน Global ETF เมื่อมีกำไรแล้วและต้องการปิดพอร์ต ผมแนะนำให้โยกมาพักเงินไว้ที่ Jitta Money ก่อนได้ครับเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยที่คุณสามารถรอโอกาสลงทุนหุ้นต่างประเทศครั้งใหม่ หรือล็อกกำไรที่ได้รับ ก่อนนำเงินกลับเข้าไทยในเวลาที่เหมาะสม

ที่สำคัญ คือ Capital Gain ที่เกิดจาก Jitta Money อาจจะไม่เยอะมาก ทำให้ฐานคำนวณภาษีเงินได้ไม่สูง เมื่อคุณนำเงินกลับเข้าไทย คุณจะเสีย ‘ภาษีเงินได้ต่างประเทศ’ น้อยลงเช่นกันครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังไม่ได้จะต้องใช้เงินก้อนเหล่านี้ที่ลงทุนอยู่ ก็ปล่อยให้เงินเติบโตในต่างประเทศไปได้ เพราะว่า เงินต้นของเราเอาเข้ามาปีไหนก็ไม่เสียภาษีอยู่แล้ว ส่วนกำไรที่รับรู้แล้วที่เกิดขึ้นก่อน 1 มกราคม 2567 ถ้านำเข้ามาหลังปี 2566 เป็นต้นไป ก็ไม่ต้องเสียภาษี เพราะฉะนั้นเราจะเหลือเงินก้อนเล็กๆ ที่เป็นกำไรที่ยังไม่รับรู้ ที่ถ้าเอาเข้ามาต้องเสียภาษี แต่ก็ปล่อยให้เงินก้อนนั้นเติบโตไปได้เช่นเดียวกัน

หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจมากขึ้นลดความวิตกกังวลเรื่องการเสียภาษีจากการลงทุนหุ้นในต่างประเทศ เรามาตั้งหลักวางแผนการลงทุนระยะยาวกับวางแผนภาษีไปพร้อมๆ กันเพื่อให้พอร์ตเติบโตมีเงินไว้ใช้รองรับชีวิตวัยเกษียณกันครับ

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT