การเงิน

ทำไมคนขายของออนไลน์ ถึงกลัวเรื่องภาษี ? เรามีธีแก้ไข

7 พ.ค. 66
ทำไมคนขายของออนไลน์ ถึงกลัวเรื่องภาษี ? เรามีธีแก้ไข

ทำไมคนขายของออนไลน์ ถึงกลัวเรื่องภาษี ? เรามีธีแก้ไข

ทำไมคนขายของออนไลน์ถึงกลัวเรื่องภาษี ? และจะแก้ไขวิธีนี้ได้อย่างไร ? ผมสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาและแชร์ประสบการณ์ให้ในบทความนี้ครับ 

โดยปกติแล้วเวลาเจอคนที่ขายของออนไลน์มาปรึกษาปัญหาภาษี คำถามที่ผมมักจะเจอจะแบ่งเป็นสองแนวทางครับ นั่นคือ อยากยื่นภาษีให้ถูกต้องจะทำยังไงดี กับ ถ้าไม่ยื่นภาษีแบบนี้สรรพากรจะรู้ไหม 

เอาที่คำถามแรกก่อนครับ อยากยื่นภาษีให้ถูกต้องจะทำยังไง ? คำตอบแบบง่ายที่สุด คือ ต้องรู้ว่าเรามีรายได้เท่าไรครับ เพราะว่า ภาษีหลักๆที่เกี่ยวข้องกับคนขายของออนไลน์ อย่าง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม มันเกี่ยวข้องกับรายได้ของเราครับ

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปกติแล้วจะคำนวณจาก เงินได้สุทธิ ซึ่งมาจาก เงินได้ (รายได้) - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน ซึ่งจุดเริ่มต้นก็คือ เงินได้หรือรายได้ทั้งปีของเรานี่แหละครับ

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเกี่ยวกับรายได้ของเราเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากเรามีรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (โดยที่ไม่ใช่รายได้ที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) ก็มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและจัดการเรื่องนี้ให้ถูกต้อง

แต่ก่อนจะไปต่อเรื่องของ ภาษี ให้ปวดหัวมากกว่านี้ เรากลับมาที่คำถามนี้ก่อนครับ นั่นคือ เราจะรู้รายได้ของเราได้อย่างไร 

คำถามนี้เป็นคำถามที่ดูเหมือนง่าย แต่เชื่อไหมครับว่าหลายคนตอบไม่ได้ เพราะว่า …

  • ไม่เคยเก็บข้อมูลรายได้ของตัวเองเลย รู้สึกตัวอีกทีก็จะมายื่นภาษีแล้ว 
  • ไม่แยกบัญชีส่วนตัวกับบัญชีรายได้ ทุกอย่างที่โอนเข้ามาในบัญชีปนกันหมด ก็ไม่รู้ว่ารายได้เท่าไร 
  • อยากจะหลบเลี่ยงภาษี เลยไม่เอาเงินเข้าบัญชีตัวเอง กระจายให้คนอื่นบ้าง รับเงินสดบ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่ารายได้ของตัวเองเป็นเท่าไร 

ปัญหาพวกนี้จะไม่เกิดขึ้นครับ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่ตามมาในคำถามที่สอง นั่นคือ ถ้าไม่ยื่นภาษีแบบนี้สรรพากรจะรู้ไหม เพราะคำตอบก็คือ รู้เมื่อไรเขาจะเล่นคุณ

ลองคิดภาพกลับกันแบบนี้นะครับ สมมติว่าคุณเป็นสรรพากรเสียเอง แล้วจะตรวจสอบคนขายของออนไลน์ว่าเสียภาษีถูกต้องไหม คุณจะตรวจสอบรายได้เขายังไงดี ถ้าคิดแบบง่ายๆ ก็คงขอบัญชีธนาคาร กับ บัญชีรายรับรายจ่ายมาดูใช่ไหมครับ แต่ถ้าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คนนั้นบอกว่า ไม่รู้รายได้ตัวเองเท่าไร ไม่รู้ข้อมูลต่าง ๆ  ไม่มีบัญชีรายรับรายจ่าย คุณจะทำยังไงต่อครับ

ถ้าแบบไม่คิดอะไรก็ (อีกแล้ว) ก็ขอบัญชีธนาคารมาตรวจสอบใช่ไหมครับ (ซึ่งมีอำนาจกระทำได้) และถือซะว่ายอดเงินที่เข้าบัญชีเป็นรายได้ซะ เพราะไม่รู้ว่าจะใช้ยอดไหน ในเมื่อไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ก็ใช้หลักการแบบง่ายๆตามนี้แหละ หรือถ้าซ้ำร้ายไปกว่านั้น เกิดทางสรรพากรมีข้อมูลอื่นที่เชื่อได้ว่าคุณมีรายได้เยอะกว่านี้ เช่น จากข้อมูลที่ธนาคารส่งให้สรรพากร (ตามกฎหมาย) ข้อมูลการร้องเรียน หรือ แนวทางการตรวจสอบรายได้จากแพลตฟอร์มต่างๆ ไปจนถึงข้อมูลประกอบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้สรรพากรมีตัวเลขที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ทีนี้พอจุดนี้ คุณกลับมามองที่ตัวของพ่อค้าแม่ค้าบ้าง เราก็จะรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมซะเลย ในเมื่อเราไม่รู้รายได้ แต่ทำไมถึงมาประเมินรายได้เราแบบนี้ ก็ต้องตอบว่า ในตัวบทกฎหมายของประเทศนี้ กำหนดให้ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ยื่นแบบและประเมินภาษีด้วยตัวเองเสียก่อน แล้วถ้าหากพบว่ามีข้อมูลไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่สรรพากรก็มีอำนาจประเมินเพิ่มเติมได้ 

มาถึงตรงนี้ สิ่งที่แย่ที่สุดคืออะไรรู้ไหมครับ นั่นคือ คุณจะไม่รู้รายได้ ไม่รู้ว่าภาษีที่ตัวเองเสียอยู่นั้นมันถูกต้องหรือเปล่า (เพราะสรรพากรก็อาจจะประเมินเกินก็ได้) และซ้ำร้ายคือ คุณไม่มีโอกาสจะต่อสู้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องเลย จากการไม่มีข้อมูลนั่นเองครับ มาถึงตรงนี้ ผมเลยอยากแนะนำวิธีแก้ไขง่าย ๆ คือ เริ่มต้นที่จัดการรายได้ให้ชัดเจนก่อน โดยทำตามขั้นตอนตามนี้ครับ 

istock-1384286027
ขั้นตอนการจัดการรายได้ก่อนยื่นภาษี 

  1. แยกบัญชีส่วนตัวกับบัญชีธุรกิจ (บัญชีขายของ) อย่างที่บอกไปว่าหลายคนพลาดเพราะเอาทุกอย่างมารวมกัน แต่จริงๆ ควรแยกให้ชัดไปเลยว่า อันไหนส่วนตัว อันไหนธุรกิจ เพื่อให้สามารถจัดการทั้งสองเรื่องนี้ได้ครับ 

  2. (ถ้าเป็นไปได้) แยกบัญชีไว้จ่ายเงินกับรับเงินออกจากกัน 
  • บัญชีรับเงิน ไว้รับเฉพาะรายได้เท่านั้น  เพื่อให้รู้ว่ารายได้ชัด ๆ ของเรามีอะไรบ้าง
  • บัญชีจ่ายเงิน เอาไว้จ่ายแยกต่างหากโดยในบัญชีนี้ใส่เงินไว้ 1 ก้อน (มีงบประมาณกำหนดไว้) ตรงนี้จะเหมาะสำหรับคนที่รู้ว่าตัวเองมีอะไรต้องจ่ายบ้าง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน และต่อยอดไปที่การทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ถูกต้อง

และถ้าหากมีข้อมูลต่างๆเรียบร้อยแล้ว ผมแนะนำต่อในข้อที่ 3 ครับ คือ แยกบัญชีลงทุนต่อ 

  1. แยกบัญชีไว้กันเงินลงทุนต่อหรือเผื่อฉุกเฉิน แนะนำให้ตั้งบัญชีลงทุนไว้เก็บเงินสะสมไว้  เผื่อขยายธุรกิจ หรือต้องใช้เร่งด่วน หมุนเงินไม่ทัน หรือวางแผนฉุกเฉินผ่านบัญชีนี้ได้เหมือนกัน  โดยขึ้นอยู่กับเป้าหมายและแนวทางธุรกิจของเราครับ 

สรุปสุดท้ายมาถึงตรงนี้ สิ่งที่ผมอยากบอกว่า เหตุผลนึงที่เรากลัวเรื่องภาษี เพราะเราไม่รู้ข้อมูลของธุรกิจเราอย่างชัดเจน ซึ่งการรู้ข้อมูลที่ถูกต้องนั้นต้องเริ่มต้นจากการ รู้รายได้ที่ถูกต้องของเรา  เพราะมันจะทำให้เราใช้รายได้ตรงนี้เป็นข้อมูลในการจัดการและวางแผนจัดการภาษีได้อย่างถูกต้องนั่นเองครับ

 

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

SPOTLIGHT