การเงิน

5 ตัวช่วยต้องรู้ ของคนอยากเก็บเงิน

19 ส.ค. 65
5 ตัวช่วยต้องรู้ ของคนอยากเก็บเงิน

อยากมีเงินเก็บ เป้าหมายเล็กๆ ของใครหลายคน ที่ฟังดูเป็นคำง่ายๆ แต่ทำจริงได้ยากสำหรับบางคน ที่พอเริ่มมีเงินเก็บทีไรต้องเผลอนำออกไปใช้ทุกที ซึ่งการจะเก็บเงินให้อยู่ความตั้งใจอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยตัวช่วยให้เก็บเงินอยู่ ส่วนตัวช่วยที่ว่ามีอะไรบ้าง เรามาหาคำตอบไปพร้อมกัน

1.แยกบัญเงินเก็บ


เงินเก็บควรถูกแยกเป็นสัดเป็นส่วนออกจากเงินที่ไว้ใช้จ่ายทั่วไป ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อีกบัญชีเพื่อใช้เป็นที่เก็บเงินโดยเฉพาะ โดยทุกครั้งที่ได้รับรายได้หรือเงินเดือนออก ควรรีบกันเงินไปเก็บทันทีโดยตั้งโอนเงินล่วงหน้าอัตโนมัติทุกเดือน ด้วยจำนวนเงินที่ตั้งใจเก็บ ในวันที่ได้รับเงินเป็นประจำ เช่น วันงินเดือนออก ฯลฯ



ปัจจุบัน การเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพิ่ม เป็นเรื่องที่แสนง่ายทำได้ทันทีบนมือถือโดยไม่ต้องเสียเวลาไปรอคิวกรอกและยื่นเอกสารที่สาขาธนาคาร แถมบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ปิดบนมือถือส่วนใหญ่เป็นบัญชีเงินฝากดิจิทัล (e-Savings) ที่มักให้ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไปด้วย

 

 

2.ตัวช่วย เก็บเงินก้อน

 

งินฝากประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการฝากไว้ชัดเจน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน ฯลฯ ที่หากฝากไว้จนครบระยะเวลาจะได้รับดอกเบี้ยในจำนวนที่ประกาศไว้ ณ วันเปิดบัญชีหรือนำเงินไปฝาก ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่สูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป จึงเป็นตัวช่วยให้อยากเก็บเงินจนครบระยะเวลา หรือทำให้ต้องทบทวนทุกครั้งหากอยากจะถอนเงินก่อนกำหนด เพราะอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก

 

อีกตัวช่วยที่เพิ่มความมั่นใจในการเก็บเงิน นั่นคือ กองทุนรวมตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) ที่มีอายุโครงการให้เลือก เช่น 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน ฯลฯ ขึ้นกับสถาบันการเงินและช่วงเวลาที่ไปเปิดบัญชี โดย Term Fund เป็นทางเลือกที่มีการแจ้งประมาณการผลตอบแทนให้รู้ล่วงหน้า นับตั้งแต่ตอนไปเปิดบัญชีหรือนำเงินไปลงทุน ซึ่งมักสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาใกล้เคียงกัน แต่ Term Fund จะไม่สามารถนำเงินออกก่อนครบเงื่อนไข ไม่ว่าจะจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนเท่าไรก็ตาม ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ควรระวังสำหรับบางคน แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้หลายคนมั่นใจว่าจะเก็บเงินได้ตามที่ตั้งใจ

 

 วิธีเก็บเงิน



3.
ตัวช่วย เก็บเงินทุกเดือน

 

เงินฝากดอกเบี้ยสูง ที่มีเงื่อนไขต้องฝากด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกเดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 24 เดือน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับคนที่อยากทยอยเก็บเงินทุกเดือน เพราะหากฝากไม่ครบตามเงื่อนไขหรือขาดฝากเกิน 1-2 ครั้ง ก็จะได้ดอกเบี้ยที่น้อยลง ทำให้เกิดความเสียดายและอยากจะเก็บเงินให้ได้ทุกเดือนตามเงื่อนไข เพื่อนำเงินก้อนพร้อมดอกเบี้ยออกมาใช้หลังฝากครบระยะเวลา

 

สำหรับใครที่ยังลังเล หรือรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะเก็บเงินได้ทุกเดือนหรือไม่ อยากให้ลองตัดสินใจใช้ตัวช่วยนี้ดูเพราะหากทำได้จนครบระยะเวลา ต่อไปการเก็บเงินจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่หากระหว่างทางเกิดเหตุฉุกเฉินจำเป็น เช่น ตกงาน ขาดรายได้ ฯลฯ ต้องหยุดเก็บเงินจริงๆ หรือจำเป็นต้องถอนเงินที่เก็บไปออกมาใช้ ผลกระทบก็เพียงแค่ได้รับดอกเบี้ยน้อยลงหรือไม่ได้เลย ส่วนเงินต้นที่เก็บไปก็ยังอยู่ครบ เสมือนว่าที่ผ่านมานำเงินไปเก็บไว้ในเงินฝากออมทรัพย์หรือหยอดกระปุกไว้ที่บ้านเท่านั้นเอง

 

 4.ตัวช่วย บังคับเก็บทุกปี

 

สำหรับใครที่รู้ตัวว่าจริงๆ แล้วรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจำเป็นยังมีเงินเหลือเก็บได้อย่างไม่เดือดร้อน ประกันชีวิตโดยเฉพาะประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่เราสามารถเลือกใช้เพื่อเป็นการสร้างกติกาการเก็บเงินให้กับตนเองผ่านการจ่ายเบี้ยประกัน โดยปัจจุบันประกันชีวิตมีแบบให้เลือกหลากหลาย จากหลายบริษัทประกัน ทั้งแบบที่จ่ายเบี้ยสั้นๆ 1 ปี 3 ปี ฯลฯ หรือจ่ายเบี้ยยาวๆ 10 ปี 20 ปี ฯลฯ หรือจนถึงอายุ 55 ปี 60 ปี ฯลฯ และมักเป็นการเก็บเงินระยะยาว ที่ส่วนใหญ่ต้องรอ 10-25 ปี ถึงจะได้เงินก้อนที่สะสมไปคืนมา จึงถือเป็นตัวช่วยสำหรับคนที่อยากเก็บให้ได้เงินก้อนโตในอนาคต

 

หากตัดสินใจเก็บเงินด้วยประกันแล้ว ต่อมาเกิดเก็บเงินต่อไม่ไหวหรือจำเป็นต้องยกเลิกประกันเพื่อนำเงินออกมาใช้ เงินที่ได้รับอาจน้อยกว่าเงินที่ได้เก็บสะสมไปหรืออาจไม่ได้เลยหากเพิ่งเก็บเงินมาได้ไม่กี่ปี และในกรณีที่เคยนำเบี้ยประกันไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนอกจากต้องคืนเงินภาษีที่ได้ใช้สิทธิไปแล้ว ยังต้องจ่ายเงินเพิ่มให้สรรพากรด้วย จึงถือเป็นตัวช่วยในลักษณะกึ่งบังคับให้ต้องเก็บเงินในจำนวนและเวลาตามแบบประกันที่ตนเองเลือกไป

 วิธีเก็บเงิน

 

5.ตัวช่วย ให้เก็บแล­ะลงทุนระยะยาว

 

สำหรับคนที่มีรายได้ต้องเสียภาษี และรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้บ้าง เงินคืนภาษีจากการใช้สิทธิกองทุน SSF/RMF เป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้หลายคนสามารถเก็บเงินและลงทุนได้ในระยะยาว โดยเงินคืนภาษีที่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นกับฐานภาษีของแต่ละคน เช่น คนเงินเดือน 30,000 บาท อาจขอคืนภาษีได้ประมาณ 5%จากยอดเงินที่ลงทุน ส่วนคนเงินเดือน 50,000 บาท อาจขอคืนภาษีได้ประมาณ 10%จากยอดเงินที่ลงทุน เป็นต้น

 

ด้วยเงื่อนไขการเก็บเงินหรือลงทุนในกองทุน SSF ที่ต้องถือเงินที่ลงทุนไปแต่ละครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปีเต็ม ส่วนกองทุน RMF ที่ต้องเก็บหรือลงทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไปเรื่อยๆ ทุกปีถึงอายุอย่างน้อย 55 ปีบริบูรณ์ (แต่ต้องไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม) นอกจากช่วยให้สามารถเก็บเงินระยะยาวได้แล้ว ยังอาจเป็นจุดเริ่มต้นของหลายคนในการต่อยอดเงินเก็บให้งอกเงยด้วยการลงทุน ซึ่งสามารถเริ่มต้นจากการลงทุนความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนตราสารหนี้ หรือการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วยกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้น

 

ตัวช่วยเก็บเงินมีอยู่มากมาย เพียงมองที่ผลประโยชน์โดยรวมที่ได้รับหรือข้อจำกัดของแต่ละตัวช่วย เช่น เงินคืนภาษี ความคุ้มครองชีวิตจากประกัน ความเสี่ยงที่อาจต้องนำเงินออกมาใช้อย่างกะทันหัน เพื่อเลือกตัวช่วยให้เหมาะสมกับความต้องการและข้อจำกัดของตนเองที่สุด ก็ทำให้สามารถเริ่มต้นเก็บเงินได้ไม่ยากเลย

 

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

SPOTLIGHT