ข่าวเศรษฐกิจ

5 กูรู แห่หั่นเป้าศก.ไทยปีนี้ลงเหลือ 2.4-2.6% ปี 2024 โตราว 3%

14 ธ.ค. 66
5 กูรู แห่หั่นเป้าศก.ไทยปีนี้ลงเหลือ 2.4-2.6%  ปี 2024 โตราว 3%

5 กูรู แห่หั่นเป้าศก.ไทยปีนี้ลงเหลือ 2.4-2.6% ผลจากจีดีพีไตรมาส 3 ออกมาต่ำกว่าคาด ส่งออกติดลบจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น มีปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น ผันผวน อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับสูง นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยต่ำกว่าคาด จากน้กท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับผลจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว จากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์

เศรษฐกิจไทยปี 2024 คาดโตราว 3.0-3.2% อานิสงส์การท่องเที่ยวฟื้นตัว การบริโภคภาคเอกชนเพิ่ม

เศรษฐกิจไทยปีนี้ต่ำกว่าคาดจากสาเหตุอะไร?

เศรษฐกิจไทยปีนี้ นักเศรษฐศาสตร์ต่างพากันปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยกันลงหมด จากก่อนหน้าที่คาดจะทะลุ 3% ปีนี้ ภายหลังจากเห็นตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 ออกมาเพียง 1.5% ต่ำกว่าที่ทุกคนคาดการณ์ไว้ 

เหตุผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว กระทบกับการส่งออกของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนที่ประสบปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ส่งผลให้เศรษฐกิจในจีนชะลอตัว ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เข้าไทยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยจากที่คาดการณ์ไว้ปีนี้จะถึง 30 ล้านคน กลับต้องเหลือเพียงราว 28 ล้านคนเท่านั้น 

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2024 โต  3.0-3.2% 

ทั้งบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย SCB EIC ธนาคารโลก และศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตดีกว่าปีนี้ 

โดยคาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโตอยู่ในช่วงประมาณ 3.0-3.2% จากปัจจัยการส่งออกของไทยฟื้นตัว ตามแนวโน้มการค้าโลกที่ขยายตัวสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้นตามภาคการส่งออกที่คาดขยายตัวประมาณ 2% เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) เพิ่มขึ้น 

ภาคการท่องเที่ยวมีการฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มอยู่ที่ 30.6 ล้านคน จากปีนี้ประมาณ 28 ล้านคน และการบริโภคภาคเอกชน

ขณะที่ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวใน 3 ภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร และภาคการผลิต สะท้อนความแข็งแกร่งของตลาดภายในของไทยและการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ระบุว่า เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกสูง และจีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลลบกับอุปสงค์ภายในประเทศ

Digital Wallet ช่วยหนุน GDP ได้แค่ไหน?

ขณะที่นโยบาย Digital Wallet ที่จะออกมา ธนาคารโลกคาดว่าจะสามารถกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.5-1.0% ในช่วงระหว่างปี 2567-2568 แต่จะส่งผลให้ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเป็o 4-5% ของ GDP และอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น 65-66% ของ GDP

สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มองว่า ด่านทดสอบที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย คือ การออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นการบริโภคทั่วทุกภูมิภาคของประเทศโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย 

แม้ว่านโยบายนี้สามารถส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ (โดยอาจเพิ่มเป็น 3.6% เทียบกับ 3.1% กรณีไม่มีนโยบายนี้) แต่ยังทำให้เกิดความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตและการไหลออกของเงินทุน 

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการดำเนินการและความจำเป็นของนโยบายนี้อาจต้องพิจารณาสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ใน 2 สถานการณ์ด้วยกัน คือ กรณีที่มีดิจิทัลวอลเล็ต และกรณีที่ไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต

ปัจจัยเสี่ยงปีหน้าหนักหนาแค่ไหน?

ttb analytics ระบุปีหน้ามีโอกาสเกิดเหตุการณ์เหล่านี้

  1.  “เศรษฐกิจและการค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง” แม้เศรษฐกิจโลกจะผ่านพ้นจุดต่ำสุด (Bottom Out) ไปแล้ว แต่ในระยะต่อไปเศรษฐกิจทั่วโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลง 

โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่น่าจะเผชิญโมเมนตัมเศรษฐกิจแผ่วลง (Soft Landing) เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ และมีความเปราะบางเชิงโครงสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ 

     2. ขณะที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังครุกรุ่นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ถือเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่อาจลดทอนกำลังซื้อในตลาดโลกและการส่งออกของไทย“ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนมากขึ้น” โดยตลอดทั้งปี 2567 จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่หลายแห่งทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งอาจทำให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการดำเนินโยบายด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าระหว่างประเทศในระยะต่อไป 

นอกจากนี้ นักลงทุนในตลาดบางส่วนคาดหวังว่าจะเห็นการทยอยผ่อนคลายการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Dovish) ของประเทศหลักในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2567 ซึ่งอาจกดดันตลาดการเงินทั่วโลก รวมไปถึงค่าเงินบาทอาจจะมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากขึ้นได้เช่นกัน

    3. “การบริโภคในประเทศอ่อนแอกว่าที่เห็น” โดยระดับรายได้ของครัวเรือนไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ด้านอัตราดอกเบี้ยก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนอ่อนแอลง ส่งผลให้การปล่อยกู้สินเชื่อภาคธนาคารมีความเข้มงวดขึ้น เห็นได้จากการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 ขณะที่คุณภาพหนี้ภาคครัวเรือนก็ย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตัวเลขหนี้เสีย (NPL) และความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย (Stage 2) ของสินเชื่อเช่าซื้อรถในไตรมาสล่าสุดที่เร่งขึ้นอย่างมีนัย

  4. “เสถียรภาพเศรษฐกิจเปราะบางขึ้น” คาดว่าโครงการเงินดิจิทัล (Digital Wallet) จะออกมาช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 และ 3 ของปี 

โดยประเมินเบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจได้ราว 0.4-0.7% ของจีดีพี และหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% ในปีหน้า แม้จะยังไม่เห็นความชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็จำเป็นต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่มีข้อจำกัดมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติจากเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศที่เปราะบางขึ้น 

ประเทศไทยต้องปรับตัวอะไรบ้าง?

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เสนอแนะว่า ต้องมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ด้วยชุดนโยบาย 4 สร้าง ดังนี้

  1. สร้างภูมิคุ้มกัน : ให้กับภาคครัวเรือน ผ่านการสร้างกลไก Social assistance และ Social insurance ที่ครอบคลุมและเพียงพอ 
  2. สร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ผ่านการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศ และผลักดันไทยให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะช่วยเร่งให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติ
    ที่ดีของ OECD ได้ 
  3. สร้างกลยุทธ์การลงทุนของประเทศให้เหมาะสมกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนไป 
  4. สร้างความยั่งยืนของภาคการผลิตไทย ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยปีหน้าเป็นอย่างไร?

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังประเมินว่าเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงในปี 2567 ถึงแม้ว่าตลาดการเงินมองว่ามีโอกาสที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 

SCB EIC มองว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วขึ้นเป็นไตรมาส 2 ปี 2567 จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าคาด 

ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในช่วงครึ่งแรกของปี และยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงครึ่งหลังของปี

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะคงอยู่ที่ระดับ 2.5% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังเป็นบวกเล็กน้อย และหากในอนาคตเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัวลงก็มีช่องให้ใช้นโยบายการเงินในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราเงินเฟ้อมีการขยับขึ้นไปสู่กว่ากรอบเป้าหมายก็ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อได้ในอนาคต

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT