ข่าวเศรษฐกิจ

อันดับเงินเฟ้อทั่วโลก เงินเฟ้อพุ่งแรง-ของแพงทั้งโลก

28 เม.ย. 65
อันดับเงินเฟ้อทั่วโลก เงินเฟ้อพุ่งแรง-ของแพงทั้งโลก

ทั่วโลกกำลังเจอภาวะ "อันดับเงินเฟ้อพุ่งแรง-ของแพงทั้งโลก" ดัชนีเงินเฟ้อแข่งกันทุบสถิติเป็นรายประเทศ เอกชนดาหน้าขึ้นราคาสินค้า รัฐบาลก็เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย เผชิญอันดับเงินเฟ้อทั่วโลก

ปัญหา "อันดับเงินเฟ้อ-ของแพง" กำลังยกระดับกลายเป็น "วิกฤตการณ์ร่วมทั่วโลก" เมื่อหลายประเทศกำลังแข่งกันรายงานดัชนีเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทุบสถิติใหม่ในรอบหลายสิบปี หรือสูงสุดตลอดกาล ต้นตอปัญหานี้หนีไม่พ้นสงครามระหว่าง "รัสเซีย-ยูเครน" ที่เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. แต่มาเริ่มส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกอย่างจริงจังตั้งแต่เดือน มี.ค. ในฐานะที่ทั้งสองประเทศนี้ เป็นประเทศผู้ส่งออก พลังงาน-อาหาร รายใหญ่ของโลก


อันดับเงินเฟ้อทั่วโลก


อันดับเงินเฟ้อทั่วโลกแข่งกันทุบสถิติใหม่

หากจะเทียบกันแค่เรื่อง "ตัวเลข" ว่าใครมากกว่าใคร ก็คงไม่มีประเทศไหนเอาชนะพวกประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจระดับเรื้อรัง เช่น ซิมบับเว เวเนซูเอล่า หรือประเทศในแถบแอฟริกาได้

แต่หากจะวัดกันจริงจังใน "กลุ่มประเทศที่มีอิทธิพลกับโลก" ทั้งในแง่เศรษฐกิจการค้าและนโยบายการเงิน จะพบว่า บรรดาประเทศใหญ่ทั้งใน สหรัฐ ยุโรป และเอเชีย กำลังเจอปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทำสถิติใหม่กันถ้วนหน้า ดังนี้



อันดับเงินเฟ้อสหรัฐ - ทุบสถิติเงินเฟ้อรอบ 41 ปี

สภาพของสหรัฐอาจเรียกได้ว่า "เฟ้อแล้วเฟ้ออีก" เพราะดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือดัชนีที่เป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นมาทุกเดือนตั้งแต่ ม.ค. ปีนี้ จนมาล่าสุดในเดือน มี.ค. ก็ขึ้นไปถึง 8.5% หรือสูงที่สุดในรอบ 41 ปี โดยสงครามยูเครนเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งขึ้น และนำไปสู่ภาวะข้าวของแพงตามมา ซึ่งในเดือน มี.ค. ราคาแก๊สของสหรัฐแพงขึ้นมากกว่า 18% หรือแพงขึ้น 48% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนราคาอาหารและสินค้าด้านพลังงานอื่นๆ สูงขึ้น 6.5%

จึงไม่น่าแปลกใจที่ "คะแนนนิยมของประธานาธิบดี โจ ไบเดน" จะลดลงติดต่อกันด้วย ซึ่งประชาชนชาวอเมริกันให้เหตุผลเรื่องเงินเฟ้อและปากท้อง เป็นผลงานที่น่าผิดหวังที่สุดของรัฐบาล



อันดับเงินเฟ้อทั่วโลก

สถานการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องส่งสัญญาณ "ขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นอีก" จากรอบก่อนหน้านี้ที่ขึ้นไปแล้ว 0.5% นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า เฟดส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยตลาดคาดการณ์ว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 10 ครั้ง แต่นอกจะคุมเงินเฟ้อแล้ว ทุกการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% จะส่งผลให้หนี้การคลังของสหรัฐเพิ่มขึ้น 75,000 ล้านดอลลาร์ด้วย ดังนั้น ในอีกด้านก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือมีอัตราการขยายตัวที่ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4/2565 นี้ด้วย



อันดับเงินเฟ้อกลุ่มยูโรโซน (ใช้เงินยูโร) - ทุบสถิติเงินเฟ้อรอบ 25 ปี

อัตราเงินเฟ้อใน “ยูโรโซน” หรือกลุ่ม 19 ประเทศในยุโรปที่ใช้เงินยูโร พุ่งสูงขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 7.5% ทำลายสถิติเดิมของเดือนที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 5.9% และยังเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการใช้เงินสกุลยูโรในปี 2540

สำนักงานสถิติยูโรสแตท ระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่แพงขึ้น เป็นผลกระทบหลักจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยราคาพลังงานเฉลี่ยในเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นถึง 44% หรือสูงขึ้นไปอีกจากเมื่อเดือน ก.พ. ที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วในระดับ 32% นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นผลจากสงครามในยูเครนนั้นกำลังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมา



อันดับเงินเฟ้ออังกฤษ - ทุบสถิติเงินเฟ้อรอบ 30 ปี

อัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักร เดือนมี.ค. อยู่ที่ 7% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. หน่วยงานควบคุมพลังงานของสหราชอาณาจักรได้เพิ่มขีดจำกัดราคาพลังงานในครัวเรือนขึ้น 54% ตามราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งรวมถึงราคาก๊าซโลกที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

สถานการณ์นี้ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงิน 3 ครั้งติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.1% เป็น 0.75% และดูเหมือนว่าอังกฤษจะยังไม่สามารถหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไดในเร็วๆ นี้ด้วย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีวี่แววว่าจะชะลอตัว ซึ่งภาวะนี้น่าเป็นห่วงต่อภาคครัวเรือนมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้เงินออมจากโรคระบาดโควิด-19 หมดแล้ว



อันดับเงินเฟ้อจีน

การดูเงินเฟ้อของจีนจะไม่ดูแค่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพียงอย่างเดียว ซึ่งโดยปกติมักจะคุมให้อยู่ในระดับที่ต่ำได้ แต่ต้องดูไปที่ดัชนีราคาผู้ผลิตหน้าโรงงาน (PPI) ด้วยในฐานะที่จีนเป็นโรงงานผลิตอันดับ 1 ของโลก ซึ่งตัวเลขในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า อยู่ที่ 1.5% ส่วน PPI อยู่ที่ 8.3%



อันดับเงินเฟ้อ

ในภาพรวมถือว่ายังเป็นระดับที่ไม่แย่เกินไปนักเมื่อเทียบสหรัฐและยุโรป แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า นโยบายแก้ปัญหาโควิดด้วยการปิดประเทศ (Zero-Covid) ของจีนนั้นในแง่หนึ่งยังหมายความว่า จีนซื้อของจากโลกน้อยลง (เน้นกิน ใช้ เที่ยว ภายในประเทศ) ซึ่งหมายถึงจีนที่เคยเป็นกลไก "ดูดซับเงินเฟ้อ/สภาพคล่องของโลก" มาตลอด ไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนเดิมแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะไม่เจอปัญหาเงินเฟ้อหนักเหมือนที่อื่นๆ และรัฐบาลยังสามารถควบคุมได้ แต่จีนก็เจอผลกระทบเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากผลกระทบของโควิดแทน

 

advertisement

SPOTLIGHT