ข้อมูลล่าสุดระบุว่า กลุ่มแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงในเมียนมา ซึ่งถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมไซเบอร์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์จากเหยื่อทั่วโลก กำลังพึ่งพาบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ของบริษัท SpaceX ที่ก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการสกัดกั้นช่องทางการสื่อสารจากทางการ
ในเดือนพฤษภาคม 2024 ทางการไทยได้ดำเนินการตัดสัญญาณและสายสื่อสารที่เคยส่งจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทยเข้าสู่เมียนมา โดยพื้นที่ชายแดนมีการก่อสร้างแคมป์สแกมเมอร์จำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
องค์กร International Justice Mission (IJM) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐอเมริกาที่ทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลจากแหล่งโฆษณาเชิงพาณิชย์ซึ่งติดตามการใช้โทรศัพท์มือถือแสดงให้เห็นว่าหลังจากการตัดสัญญาณ การใช้งาน Starlink ในแคมป์สแกมเมอร์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า โดยเฉพาะในพื้นที่ KK Park และแคมป์ขนาดใหญ่ในเขตเมืองเมียวดี ทั้งนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมของ Google ยังแสดงให้เห็นจานรับสัญญาณ Starlink ขนาดเล็กติดตั้งอยู่บนหลังคาอาคารในหลายจุดอีกด้วย
“แนวโน้มนี้เห็นได้ชัดเจน” Eric Heintz นักวิเคราะห์ระดับโลกของ International Justice Mission (IJM) กล่าว “โดยเฉพาะในพื้นที่ KK Park และแคมป์ขนาดใหญ่” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเมียวดีของเมียนมา เขายังเสริมว่า ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth ได้เผยให้เห็นจานรับสัญญาณของ Starlink ติดตั้งอยู่ตามหลังคาของแคมป์ต่าง ๆ อย่างชัดเจน
IJM ประเมินการใช้งานของ Starlink โดยอิงจากข้อมูลโทรศัพท์มือถือที่ได้จากเครื่องมือในอุตสาหกรรมโฆษณา ซึ่งสามารถระบุผู้ให้บริการเครือข่ายในระหว่างการใช้งานโทรศัพท์ได้ ข้อมูลล่าสุดจากเดือนเมษายน 2025 ระบุว่า มีแคมป์หลอกลวงอย่างน้อย 8 แห่งในเมืองเมียวดีและบริเวณใกล้เคียงที่มีการใช้งานอุปกรณ์ Starlink รวมทั้งสิ้น 2,492 เครื่อง เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ภาพถ่ายจาก Google Earth ยังยืนยันอีกด้วยว่า ในปี 2025 มีการติดตั้งจานรับสัญญาณ Starlink ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นสีขาวทรงสี่เหลี่ยม บนหลังคาของแคมป์หลายแห่ง ขณะที่ในปีก่อนหน้านั้นยังไม่พบการติดตั้งเลยแม้แต่จานเดียว
แม้การใช้งาน Starlink จะยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเมียนมา แต่ในทางปฏิบัติ ขณะนี้ระบบอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ SpaceX ได้กลายเป็นโครงข่ายสื่อสารหลักของแคมป์หลอกลวงตามแนวชายแดนแล้ว Jacob Sims นักวิจัยประจำ Harvard Asia Center ผู้เชี่ยวชาญด้านขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า “แทบทุกแคมป์ต่างพึ่งพา Starlink เป็นโครงข่ายหลักในการดำเนินงาน”
หนึ่งในจุดแข็งของ Starlink คือความสะดวกในการใช้งานและเคลื่อนย้าย จานรับสัญญาณมีขนาดเพียง 40 x 60 เซนติเมตร สามารถพกพาและลักลอบนำเข้าข้ามแดนได้ง่าย เมื่อมีจาน เราเตอร์ และสายเชื่อมต่อ ก็สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในหลายประเทศได้ทันทีโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายภาคพื้นดิน
Mechelle Moore ผู้อำนวยการองค์กร Global Alms ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากแคมป์หลอกลวงในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า การปรากฏของจาน Starlink ฝั่งเมียนมาสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนจากฝั่งไทย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2023 หลังจากที่ไทยเคยพยายามตัดสัญญาณสื่อสารเข้าสู่เมียนมาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
“คุณจะเห็นจานพวกนี้อยู่บนหลังคา บนระเบียง แทบทุกมุมในแคมป์” Moore กล่าว “ตอนนี้ฉันไม่แน่ใจเลยว่าแคมป์ไหนจะไม่มี Starlink นี่คือกลไกหลักที่พวกเขาใช้ในการเดินหน้าปฏิบัติการ””
มาตรการ “สามตัด” ของไทย ซึ่งประกอบด้วยการตัดน้ำมันเชื้อเพลิง การตัดไฟฟ้า และการตัดสัญญาณโทรคมนาคม ถูกนำมาใช้จริงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2025 และได้รับการประกาศว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยลดอาชญากรรมไซเบอร์ข้ามชาติ โดยทางการระบุว่าสามารถลดจำนวนเหยื่อคนไทยจากแก๊งหลอกลวงในเมียนมาได้ถึง 20% ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีเดียวกัน
พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei ว่า ทางการได้รับรายงานจากอินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ว่าจำนวนสายโทรหลอกลวงจากฝั่งเมียนมาลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าผลลัพธ์ส่วนหนึ่งมาจากปฏิบัติการของไทยที่สามารถช่วยเหลือแรงงานจากแคมป์ผิดกฎหมายได้หลายพันราย
แม้จะมีความคืบหน้า พล.ต.อ. ธัชชัยยอมรับว่ายังคงมีแรงงานอีกกว่า 100,000 คนที่อาจยังถูกบังคับให้ทำงานในแคมป์เหล่านั้น ขณะเดียวกัน การลักลอบขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและอุปกรณ์ของ Starlink เข้าพื้นที่ชายแดนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนประสิทธิภาพของมาตรการ “สามตัด” อย่างมีนัยสำคัญ
พล.ต.อ. ธัชชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับ “หน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ” เพื่อกดดันให้ Starlink ยุติการให้บริการในพื้นที่ชายแดนเมียนมา แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของกระบวนการดังกล่าวได้
“เรากำลังดำเนินการอยู่ และผมหวังว่า Starlink จะยอมปิดการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้” พล.ต.อ. ธัชชัยกล่าว “หากยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่าน Starlink ได้อยู่ ก็คงยากที่จะหยุดปฏิบัติการของแก๊งเหล่านี้อย่างแท้จริง”
ขณะที่บริษัท SpaceX ซึ่งเป็นเจ้าของบริการ Starlink ยังไม่ตอบคำถามของ Nikkei ในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการให้บริการของ Starlink ระบุชัดว่า บริษัทมีสิทธิ์ระงับการใช้งานสำหรับผู้ที่นำบริการไปใช้ใน “กิจกรรมผิดกฎหมายหรือฉ้อโกง”
ที่มา: Nikkei Asia