Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อินโดฯ คว้าดีลภาษี 19% แลกเก็บสหรัฐฯ 0% ซื้อโบอิ้ง คาดกระทบ GDP -0.3%
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

อินโดฯ คว้าดีลภาษี 19% แลกเก็บสหรัฐฯ 0% ซื้อโบอิ้ง คาดกระทบ GDP -0.3%

16 ก.ค. 68
11:54 น.
แชร์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า สหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่กับอินโดนีเซีย โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียในอัตรา 19% ขณะที่ฝั่งอินโดนีเซียตกลงยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด พร้อมให้คำมั่นว่าจะจัดซื้อสินค้าอเมริกันรวมมูลค่ากว่า 19,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินโบอิ้งจำนวน 50 ลำ

“เราจะสามารถเข้าถึงตลาดอินโดนีเซียได้อย่างเต็มรูปแบบ พวกเขาจ่าย 19% แต่เราไม่ต้องจ่ายอะไรเลย” ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว

ต่อมา ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียว่า อินโดนีเซียตกลงซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ มูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ และสินค้าเกษตรอีก 4,500 ล้านดอลลาร์ โดยระบุว่าเครื่องบินโบอิ้งที่สั่งซื้อนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่น 777 อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาการจัดส่งหรือรูปแบบการดำเนินการยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ และทางการอินโดนีเซียก็ยังไม่ออกมายืนยันตัวเลขภาษีนำเข้าที่ทรัมป์ประกาศ

ข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และอินโดนีเซียที่ประกาศโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นับเป็นความคืบหน้าแรกภายใต้กรอบจดหมายเตือนภาษีที่สหรัฐฯ ส่งไปยังหลายประเทศเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยเดิมที อินโดนีเซียเผชิญความเสี่ยงถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 32% หากไม่สามารถตกลงได้ภายในเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม

ดีลฉบับนี้จึงถือเป็นการบรรเทาความกังวลทางเศรษฐกิจของจาการ์ตา ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับสอง โดยเฉพาะในกลุ่มเสื้อผ้าและน้ำมันปาล์มที่เป็นแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จาก 5.2% เหลือ 5% เพื่อลดแรงกระแทกจากภาวะการค้าที่ไม่แน่นอน

ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นที่นักวิเคราะห์จับตามองคือความสามารถของอินโดนีเซียในการดำเนินการตามข้อตกลงจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้งจำนวนมากตามที่ทรัมป์กล่าว โดยเฉพาะเมื่อสายการบินแห่งชาติอย่าง Garuda Indonesia กำลังประสบวิกฤตสภาพคล่องอย่างหนัก และยังไม่ได้รับเครื่องบินที่เคยสั่งไว้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษก่อน

ตามข้อมูลของบริษัทโบอิ้ง Garuda เคยสั่งซื้อเครื่องบิน 737 Max จำนวน 50 ลำ แต่ได้รับมอบเพียงลำเดียว ก่อนจะระงับคำสั่งซื้อทั้งหมดหลังเกิดอุบัติเหตุในปี 2018 ซึ่งเป็นหนึ่งในสองเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่คำสั่งห้ามบินเครื่องบินรุ่นนี้ทั่วโลก

ดีล 19% ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยเดิม เสี่ยงกระทบ GDP อินโดฯ

นักเศรษฐศาสตร์จาก Bloomberg Economics ให้ความเห็นว่า แม้อัตราภาษี 19% ที่ได้ข้อตกลงกันจะต่ำกว่าที่เคยถูกขู่ไว้ แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากอินโดนีเซียในปี 2024 ซึ่งอยู่ราว 5% ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลให้การส่งออกของอินโดนีเซียไปยังสหรัฐฯ ลดลงถึง 25% ในระยะกลาง คิดเป็นผลกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.3%

ด้านทรัมป์ระบุว่า มูลค่าการซื้อสินค้าสหรัฐฯ ในข้อตกลงนี้จะช่วยลบล้างดุลการค้าเกินดุลของอินโดนีเซียกับสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ราว 18,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดหลักที่ใช้กำหนดท่าทีในนโยบายภาษี

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังย้ำว่าเขาเตรียมใช้มาตรการภาษีที่สูงขึ้นกับสินค้าที่มีการ “ส่งผ่าน” (transshipment) โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับจีน ซึ่งพยายามเลี่ยงมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ผ่านการใช้ประเทศที่สามเป็นทางผ่าน

ทรัมป์เปิดเผยว่าเขาได้เจรจาข้อตกลงนี้โดยตรงกับประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ของอินโดนีเซีย และระบุว่าทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างจัดทำแถลงการณ์ร่วม ซึ่งจะรวมถึงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) และข้อตกลงเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม

Hasan Nasbi หัวหน้าสำนักสื่อสารของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ระบุว่า ปราโบโวจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมหลังเดินทางกลับจากภารกิจต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการเข้าร่วมประชุมสุดยอด BRICS ที่บราซิล และการหารือกับผู้นำสหภาพยุโรปที่เบลเยียม

ข้อมูลจากฝั่งสหรัฐฯ ชี้ว่า ข้อเสนอของอินโดนีเซียในข้อตกลงนี้สอดคล้องกับที่เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้ โดยประกอบด้วยการยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด การเพิ่มนำเข้าพลังงาน ข้าวสาลี และเครื่องบิน พร้อมแสดงความพร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือด้านแร่หายากและการป้องกันประเทศ

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจ Airlangga Hartarto ได้เดินทางไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ รวมถึงผู้แทนการค้า Jamieson Greer, รัฐมนตรีพาณิชย์ Howard Lutnick และรัฐมนตรีคลัง Scott Bessent

แรงกดดันข้ามพรมแดน ประเทศอื่นเร่งหาทางเลือก

นอกจากแนวโน้มเศรษฐกิจของอินโดนีเซียแล้ว นโยบายภาษีของทรัมป์ยังคงสร้างแรงสั่นสะเทือนในระบบการค้าระหว่างประเทศ โดยผู้นำประเทศต่าง ๆ และนักลงทุนต้องเร่งวางกลยุทธ์รับมือกับความไม่แน่นอน ทั้งในเชิงภาษีและตลาดทุน

ทรัมป์กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เขายังไม่ต้องการ “ข้อตกลง” ใด ๆ แต่ต้องการให้จดหมายภาษีที่ส่งออกไปถูกปฏิบัติตาม พร้อมระบุว่ายังคงเปิดช่องสำหรับการเจรจากับกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหภาพยุโรป

แรงกดดันดังกล่าวผลักดันให้หลายประเทศหันไปหาทางเลือกอื่น เช่น อินโดนีเซียที่เพิ่งบรรลุข้อตกลงเศรษฐกิจเบื้องต้นกับสหภาพยุโรปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลายประเทศในอาเซียนยังอยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐฯ เช่น ประเทศไทยที่กำลังพิจารณาปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการ เพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อตกลงที่ไม่กระทบความมั่นคงในประเทศ

ขณะที่ฟิลิปปินส์เองก็อยู่ระหว่างการเร่งเจรจาภายในเส้นตาย โดยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ มีกำหนดเยือนสหรัฐฯ ภายในเดือนนี้ เพื่อหารือประเด็นลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่ตั้งไว้ที่ 20% สำหรับสินค้าฟิลิปปินส์ในหลายหมวด


แชร์
อินโดฯ คว้าดีลภาษี 19% แลกเก็บสหรัฐฯ 0% ซื้อโบอิ้ง คาดกระทบ GDP -0.3%