Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
23 วันอันตราย! เปิดเสรีให้สหรัฐฯ หรือ โดนภาษี 36%  เลือกแบบไหนก็เจ็บ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

23 วันอันตราย! เปิดเสรีให้สหรัฐฯ หรือ โดนภาษี 36% เลือกแบบไหนก็เจ็บ

9 ก.ค. 68
14:06 น.
แชร์

นับถอยหลังจากวันนี้ 9 ก.ค.2568 เส้นตายเดิมที่สหรัฐฯ เคยประกาศว่า จะขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ค้าที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. นโยบายการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนแปลงตลอดล่าสุดเส้นตายใหม่คือ 1 ส.ค.2568 ซึ่งจากนี้เหลือเวลาอีก 23 วันเท่านั้น ! ทรัมป์ประกาศย้ำว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือขยายวันอีกแล้ว...จริงหรือไม่? ตอบไม่ได้ รู้แต่ว่านี่คือช่วงเวลาที่สำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย 

เพราะในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ถือว่า ปิดดีลภาษีกับสหรัฐฯได้สำเร็จคือ สหราชอาณาจักรโดนภาษี 10% และเวียดนาม 20% ส่วนจีนก็ถือว่า เพียงแค่ลดดีกรีภาษีที่เคยร้อนแรงทะลุ 100 % ลงมาหน่อยเท่านั้นและก็ยังคงเป็นคู่กรณีทางการค้ากันต่อไป

คำถามสำคัญคือ เราเหลือทางเลือกอะไรบ้างในการไปเจรจากับสหรัฐเพื่อให้ภาษีลดลง และ ผลกระทบกับสิ่งที่เศรษฐกิจไทยจต้องเผชิญเป็นอย่างไรบ้างหากถึงเส้นใต้แล้วไทยโดนภาษี 36%? SPOTLIGHT สรุปมุมมองของ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร  ที่มองว่า การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯครั้งนี้ “เป็นเรื่องยากของรัฐบาลไทย” แน่นอน 

ดร.พิพัฒน์มองว่า ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาพอจะอ่านความต้องการของสหรัฐฯว่า ต้องการใช้สถานะของการเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก แก้ไขความเสียเปรียบทางการค้าที่ทรัมป์มองว่า กำลังเผชิญอยู่ เพราะสหรัฐฯเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้าสูงที่สุดในโลกถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่มีประเทศไหนขาดดุลการค้ามากขนาดนี้ แม้ประเทศที่ขาดดุลการค้าอันดับ 2-10 รวมกันก็ยังไม่ขาดดุลการค้าเท่ากับที่สหรัฐฯขาดดุล นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้สหรัฐฯต้องใช้เกมนี้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือ และตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาคือการเจรจาต่อรองของประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มประเทศคู่ค้ากับสหรัฐฯออกเป็น 3 กลุ่ม 

1. กลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐมาก 14 ประเทศ - ซึ่งได้รับจดหมมายแจ้งอัตราภาษีแล้ว รวมถึงไทย 36% มีผล 1 สิงหาคมนี้ กลุ่มประเทศเหล่านี้สะท้อนว่า 3 เดือนที่ผ่านมาการเจรจาต่อรองไม่ประสบความสำเร็จ 23 วันจากนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากว่า จะปิดดีลที่ภาษีเท่าไหร่  ซึ่งในกลุ่มนี้รวมถึงประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ที่เห็นการเจรจราคืบหน้ามาโดยตลอด แต่สุดท้ายก็ยังโดนภาษีที่สูง สะท้อนว่า การเจรจารัฐบาลไทย ต้องอ่านความต้องการของสหรัฐฯให้ออกว่า แท้จริงแล้วต้องการอะไร? 

2. กลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯเล็กน้อย  - กลุ่มนี้คาดว่าจะมีจำนวนมาก และเชื่อว่าในอีกอีกสักระยะนึง สหรัฐฯน่าจะออกจดหมายเป็นจํานวนมากราวร้อยฉบับ ซึ่งอาจจะได้ภาษี 10%

3. กลุ่มประเทศ ในสหภาพยุโรป หรือ อินเดีย ซึ่งมีข่าวในการเจรจากันมาตลอด 

สหรัฐฯต้องการอะไร? …. อ่านเกมจากจดหมายที่ส่งหาคู่ค้า 

ดร.พิพัฒน์ วิเคราะห์ว่า ไส้ในของจดหมายพูดค่อนข้างชัดในประเด็น ที่สหรัฐฯต้องการแก้ไขปัญหาการขาดดุลทางการค้า และต้องการดึงการลงทุนให้กลับไปในสหรัฐฯ โดยหากลงรายละเอียดถึงความต้องการของสหรัฐฯเน้น3เรื่อง

1. Tarrift Barrier คืออัตราภาษีนําเข้าของแต่ละประเทศที่คิดกับสหรัฐฯ
2. NonTarrift Barrier คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่อัตราภาษี
3. มาตรการในการเข้มงวดกับการสวมสิทธิ์ - ข้อนี้มีความชัดเจนที่ไม่ต้องการให้จีนมาสวมสิทธิ์ส่งสินค้าเข้ามาในสหรัฐผ่านประเทศต่างๆ กรณีชัดจน ที่ดีลของเวียดนาม ภาษี 20% แต่ถ้าเป็นสินค้าสวมสิทธิ์โดนภาษี 40%

ทางเลือก ทางรอด ในการเจรจาของทีมไทยแลนด์ 

การที่ประเทศไทยโดนภาษี 36% เป็นการสะท้อนว่า สหรัฐฯยังไม่พอใจกับข้อเสนอจากฝ่ายไทย แสดงว่า ไทยอาจจะต้องนําเสนอข้อเสนอเพิ่ม ซึ่งหากดูจากกรณีเวียดนาม ก็ถือว่าเป็นข้อเสนอที่  extreme เพราะการเปิดตลาดให้สหรัฐฯประเทศเดียวหมดเลย อาจจะทำให้มีประเด็นกับ WTO ได้  ซึ่งไทยอาจไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดเวียดนาม

เราสามารถอ้างอิงจาก USTR Report Trade Barrier จะพบว่า ไทยเก็บอัตราภาษีสินค้านําเข้าจากสหรัฐฯเยอะกว่าสินค้าที่สหรัฐฯ เก็บกับสินค้าไทยมาตั้งแต่ก่อนโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ามารับตำแหน่งแล้ว  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ธัญพืช กลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม ภาษีสูง 30-50%

และนอกจากภาษีแล้วไทยยังมีกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการทำการค้าของสหรัฐ เช่น มาตรการด้านสุขอนามัยที่เราเคลมว่า มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง และสหรัฐได้ทวงถามว่าต้องปรับลดลงในระดับใด แต่ไทยกลับยังไม่มีคำตอบ เท่ากับเรายังห้ามนำเข้าสินค้านี้อยู่ 

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการคุ้มครองทรัยพ์สินทางปัญญา รวมไปถึงปัญหาการคอร์รัปชั่นที่ทำให้ต้นทุนในการเข้ามาทำการค้าในไทยของสหรัฐฯมีต้นทุนที่สูง นอกจากเรื่องการค้าแล้วนโยบายที่ไทยเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สหรัฐฯให้ความสำคัญด้วยหรือไม่  

ดร.พิพัฒน์ กำลังชี้ประเด็นว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่ดูเป็นความต้องการของสหรัฐฯเราได้ดำเนินการหรือยัง ซึ่งอาจจะใช้เป็นข้อเสนอในการเจรจาได้เช่นกัน

เปิดเสรีสินค้าเกษตร งานยากที่ต้องเจรจากับทุกฝ่าย 

อย่างไรก็ตาม การเจรจาประเด็นเรื่องสินค้าเกษตร ที่หากเราเปิดเสรีให้สหรัฐฯ ก็อาจส่งผลกระทบในวงกว้างกับเกษตรกรไทย และ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศ เพราะภาคเกษตรมีผลต่อ GDP ราว 8% แต่มีการจ้างงงานสูงถึง 30% ดังนั้นจะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทำให้ไม่ง่ายที่รัฐบาลจะต้องมีการเจรจากันภายในประเทศก่อนด้วย ทําให้เกิดกลไกในการชดเชย ความเสียหาย หรือว่า การเจรจาที่ทําให้เกิดการชดเชยกันและกันได้หรือไม่ เพื่อทําให้ solution เกิดได้เพื่อที่จะไปเจรจากับสหรัฐฯ เพราะประเด็นนี้จะกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและกลายเป็นประเด็นทางการเมืองได้หากรัฐบาลไม่ดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ 

“การเจรจาในระยะที่ผ่านมามันเป็นงานที่ค่อนข้างยากมากนะครับ เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ เกี่ยวข้องกับชีวิตคน เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและแรงงานจํานวนมาก ผมเชื่อว่ากลไกในการพูดคุยเจรจาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝั่งเอกชนจะเป็นเรื่องที่สําคัญมาก กระบวนการถึงจะเดินไปข้าง หน้าได้ และคงต้องยึดถือว่า อะไรที่ทําให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศ ต่อเศรษฐกิจ ต่อคนไทย ได้ มากที่สุด”  

ผลกระทบจากภาษีทรัมป์ต่อเศรษฐกิจไทย 

ดร.พิฒน์ ระบุว่า การเจรจาของรัฐบาล ถ้าเราไม่สามารถประสบความสําเร็จในการเจรจาได้ แล้วโดนอัตราภาษี 36% ไปเรื่อยๆ ความเสี่ยงที่สำคัญคือ เรามีภาษีที่สูงกว่าประเทศอื่นหรือไม่ ? เพราะที่ผ่านมาก่อนถึงเส้นตายทุกประเทศโดนในอัตรา 10% เท่ากัน แต่หากไทยโดน 36% มันเป็นอัตราที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ต้นทุนสินค้าไทยสูงขึ้นทันที และสุดท้ายราคาสินค้าจากไทยก็จะแพงขึ้น เมื่อเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันที่มาจากประเทศอื่นที่ภาษีต่ำกว่าไทย 

ปัจจุบันไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ประมาณ 18% - 19% ของการส่งออกทั้งหมด  และส่งการส่งออกคิดเป็นประมาณ 50%  ของ GDP ซึ่งถือว่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในแง่ตัวเลขผลต่อ GDP หากประเทศไทยต้องโดนภาษี 36% ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบราว 0.2% ที่เป็นตัวเลขไม่สูง เพราะในครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยและเศรษฐกืจไทยยังขยายตัวได้ดี จากการเร่งการส่งออกก่อนภาษีมีผล แต่หากในปี 2569 เป็นต้นไปถ้าเราต้องโดนภาษีตลอดปี 36% GDP ไทยจะหายไปราว 0.4% 

ส่วนผลกระทบกรณีที่ไทยต้องเปิดเสรีให้กับสหรัฐฯในสินค้าบางกลุ่ม เช่น หากเป็นสินค้าเกษตร ผลต่อ GDP ไทยอาจจะน้อยกว่า แต่ผลต่อผู้ที่เกียวข้องในประเทศจะมากกว่า เพราะเป็นผู้ประกอบการ เกษตรกรในประเทศ 

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการที่ไทยโดนผลกระทบจากภาษี 36% คือ ภาคการลงทุนจะลดลงด้วย โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนของต่างชาติเพื่อผลิตและส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ อาจจะไม่เข้ามาลงทุนใปประเทศไทยเพราะภาษีสูง 

ดร.พิพัฒน์ปิดท้าย ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้เป็นภาวะที่ยากลำบากในการตัดสินใจเจรจาแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการคือ การต้องเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองให้แข็งแรงขึ้น หากเราไม่สามารถมีมาตรการดูแลผู้ประกอบการในประเทศได้มากเท่าอดีตที่ผ่านมา….23 วันจากนี้ไปการเจรจากับสหรัฐฯจึงมีความสำคัญต่อประเทศไทยจริง ๆ 

แชร์
23 วันอันตราย! เปิดเสรีให้สหรัฐฯ หรือ โดนภาษี 36%  เลือกแบบไหนก็เจ็บ