หุ้นไทย 8 ก.ค.ปรับย่อลงเล็กน้อย ดัชนียังไม่หลุด 1,100 จุด แม้ว่าสหรัฐฯจะแจ้งอัตราเก็บภาษีจากไทยในอัตรา 36% แล้วก็ตาม
บทวิเคราะห์จากฟินันเซีย คาดว่า SET Index จะปรับตัวในแดนลบ เข้าหากรอบ 1,100–1,115 จุด โดยมีปัจจัยกดดันจากกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งจดหมายถึงประเทศไทย ยืนยันเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของความสำเร็จในการเจรจาการค้าระหว่างไทย–สหรัฐฯ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เราประเมินว่า กลุ่มหุ้นส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เกษตรกรรม และนิคมอุตสาหกรรม จะเผชิญแรงขายในระยะสั้น โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ รัฐบาลไทยจะมีแนวทางยื่นข้อเสนอการค้าเพิ่มเติมต่อสหรัฐฯ อย่างไร ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ก่อนมาตรการภาษีจะเริ่มบังคับใช้
ในกรณีเลวร้ายที่สุด หากไม่สามารถเจรจาให้มีการปรับลดอัตราภาษีลงได้ จะส่งผลกระทบต่อประมาณการ GDP ของไทยในปีนี้ ซึ่งตลาดคาดไว้ราว +2% y-y ขณะที่ประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดที่ระดับ 89.5 บาทต่อหุ้นก็อาจมีความเสี่ยงปรับตัวลง (Downside)
เรามองว่า หุ้นในกลุ่ม Domestic และ Defensive เช่น ค้าปลีก การแพทย์ อาหารพร้อมรับประทาน และโรงไฟฟ้า จะสามารถปรับตัวได้แข็งแกร่งกว่าตลาดในภาวะความไม่แน่นอนนี้
นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนมิถุนายนที่ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 โดยเฉพาะในกรณีที่อัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้เดิมที่ 18%
ด้านปัจจัยการเมือง ยังต้องติดตามพัฒนาการกรณีการถอนวาระพิจารณาโครงการ Entertainment Complex ออกจากสภา แต่มีแนวโน้มว่าอาจถูกแทนที่ด้วยการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งอาจเป็นประเด็นใหม่ที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนได้อีกครั้งในระยะข้างหน้า
หุ้นไทยผันผวนรับแรงกดดันทั้งในและต่างประเทศ SET ร่วงแรง 22.2% ครึ่งปีแรก จับตา Fund Flow - ปรับกลยุทธ์ Stay Invest - หวังเศรษฐกิจฟื้น
ตลาดหุ้นไทยในเดือนมิถุนายน 2568 ปิดฉากลงด้วยความผันผวนสูง ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ โดย SET Index ปิดที่ระดับ 1,089.56 จุด ลดลง 5.2% จากเดือนก่อนหน้า และถือเป็นการลดลงต่อเนื่องจากต้นปี คิดเป็น 22.2% สะท้อนแรงกดดันรอบด้านต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนมิถุนายนได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ซึ่งดันราคาน้ำมันให้อยู่ในช่วง 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สร้างแรงกังวลด้านต้นทุนพลังงานและเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศเริ่มมีความหวัง หลังจากสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงลดภาษีนำเข้ากับเวียดนามอย่างไม่เป็นทางการ ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ตกลงกับสหรัฐฯ ได้ในยุคของมาตรการภาษีใหม่นี้ สร้างแรงกระเพื่อมต่อแนวโน้มการค้าโลกในระยะถัดไป
ขณะที่ในประเทศ นักลงทุนไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนจากประเด็นการเมือง โดย ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องถอดถอนนายกรัฐมนตรี และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐในระยะสั้น
นอกจากนี้ ปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาที่ปะทุขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนยังเป็นอีกปัจจัยกดดันตลาด เนื่องจากส่งผลต่อความเชื่อมั่นในภูมิภาคและกระทบภาพลักษณ์ของไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติ
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระุบว่า ประสบการณ์ในอดีตชี้ว่า แม้ตลาดจะผันผวนจากเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลาดหุ้นมักจะฟื้นตัวกลับได้ภายในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจพื้นฐานแข็งแกร่ง
กลยุทธ์สำคัญในช่วงที่ตลาดผันผวนเช่นนี้คือการรักษาวินัยการลงทุน หรือ “Stay Invest” เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนไม่พลาดโอกาสสำคัญ หากดัชนีตลาดสามารถพลิกกลับขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะถัดไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากภาคการผลิตและการเร่งส่งออกสินค้า ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อีกหนึ่งปัจจัยหนุนสำคัญคือ Fund Flow จากการเปิดขายกองทุน Thai ESGX ซึ่งดึงดูดเงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงปิดการเสนอขาย ช่วยพยุงตลาดในช่วงที่ความเชื่อมั่นเปราะบาง
แม้ตลาดหุ้นจะอ่อนตัวลง แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2568 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด จากแรงขับเคลื่อนของภาคการผลิตและการส่งออกสินค้า ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสนับสนุนการเติบโตต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบทุนไทยผ่านโครงการ “JUMP+” ที่สนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในมิติต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาว
ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ในเดือนมิถุนายนมีสัญญาณฟื้นตัว โดยปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 442,877 สัญญา เพิ่มขึ้น 24.1% จากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่ม Single Stock Futures และ SET50 Index Futures
อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวมครึ่งปีแรก ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 438,459 สัญญา ลดลง 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากการลดลงของ Single Stock Futures และ Gold Online Futures
ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย