ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ไร้เสถียรภาพจากสงครามการค้า และเมื่อไทยรู้ผลแล้วว่าจะต้องเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ถึง 36% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศคู่แข่งโดยตรง สิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงรอบด้านต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะผู้เล่นตัวเล็กในระบบเศรษฐกิจอย่าง “SMEs” ที่มีสายป่านสั้นและยากจะปรับตัวทันในสมรภูมิที่เปลี่ยนเร็วและดุเดือดเช่นนี้
ธุรกิจ SMEs ไทยคิดเป็น 35% ของ GDP ไทย มูลค่าทางเศรษฐกิจราว 6.5 ล้านล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 70% ของแรงงานในประเทศ แต่นับจากหลังโควิด 19 เป็นต้นมา คือในช่วงปี 2564–2567 ธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กและรายย่อยกลับปิดกิจการเฉลี่ย 7% ต่อปี ซึ่งเทียบได้กับการหายไปของฟันเฟืองขนาดใหญ่ในกลไกเศรษฐกิจ
ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่าในปี 2567 ที่ผ่านมามีธุรกิจ SMEs ที่ทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 100 ล้านบาทปิดตัวมากถึง 23,551 ราย สะท้อนความเปราะบางที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และยังไม่มีสัญญาณว่าจะหยุดลงง่าย ๆ แม้จะมีธุรกิจ SMEs ตั้งใหม่ปีละกว่า 7% เช่นกัน แต่ก็พบว่า ผู้ประกอบการที่อยู่รอดหลัง 3 ปี ( Early stage ) กลับลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งแสดงว่าแม้จะเริ่มธุรกิจได้ แต่ก็ “รอดยาก”
ธุรกิจ | จำนวนกิจการที่ปิด (ปี 66–67) | % เพิ่มขึ้นจากปี 64–65 |
---|---|---|
ก่อสร้าง | 1,935 ราย | +16% |
ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม | 1,063 ราย | +38% |
ขนส่งสินค้า/คน | 854 ราย | +29% |
ค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ต | 632 ราย | +116% |
ค้าปลีกสินค้าอื่น ๆ | 593 ราย | +63% |
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกิจ SMEs ในภาคการผลิตต้องเผชิญกับความเสี่ยงซ้ำซ้อน จากทั้งการเสียความสามารถในการแข่งขันเดิม และการถูกเก็บภาษีนำเข้าโดยสหรัฐฯ
หากไทยถูกเก็บภาษีในอัตราสูงกว่าคู่แข่ง ต้นทุนการผลิตและการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ จะยิ่งเลวร้ายลง และส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อในห่วงโซ่อุปทานที่ SME ไทยเกี่ยวข้องอยู่ ลดลงด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบัน SMEs ในภาคการผลิตของไทยมีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ 3.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 7% ของมูลค่าส่งออกในภาคการผลิตทั้งหมดของไทยไปยังสหรัฐฯ
แท้จริงตลาดของ SME รายเล็กๆ คือ ตลาดในประเทศ ซึ่งปัจจุบันก็ตกอยู่ในสภาพกดดันไม่แพ้กัน เห็นได้จากข้อมูลทางเศรษฐกิจเช่น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเสนอว่า สิ่งสำคัญที่ SME ต้องเร่งทำคือ การพัฒนา Bottom line ให้มั่นคงก่อนเติบโต ยืดหยุ่นและเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด ไม่หยุดหาโอกาสท่ามกลางวิกฤต
เพราะท้ายที่สุด ความสามารถในการเอาตัวรอดและพึ่งพาตนเองในทุกสถานการณ์ คือเข็มทิศเดียวที่ SME ไทยจะใช้เพื่อลุยต่อในยุคที่ไม่มีใครการันตี “เส้นทางปลอดภัย” SME ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการรายย่อย แต่คือรากฐานของเศรษฐกิจไทย หากรากฐานนี้อ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ เศรษฐกิจไทยทั้งระบบก็อาจจะรอดยากเช่นกัน.
ที่มา:ศูนย์วิจัยกสิกรไทย