หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ประเทศ "ซาอุดีอาระเบีย" ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเดินทางไปเยือนในสัปดาห์นี้ เป็นซาอุฯ ที่กำลังพลิกโฉมเปลี่ยนไปมาก จากที่แรงงานไทยหลายคนเคยไปทำงานเมื่อ 30 ปีก่อน
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศมหาเศรษฐีน้ำมันตะวันออกกลาง กำลังจะเปลี่ยนไปสู่รูปแบบ "ความรวยใหม่" ที่ไม่พึ่งพา "น้ำมัน"
และหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า อะไรใหม่ๆ ที่ว่านี้ คือส่วนหนึ่งของ วิสัยทัศน์ "Saudi Vision 2030" วิสัยทัศน์ที่จะพาซาอุฯ ออกจากบ่อน้ำมันกลางทะเลทราย ไปสู่ซิลิคอนวัลเลย์และโลกแห่งเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่
ทีมข่าว SPOTLIGHT จะพาไปรู้จักซาอุฯ โฉมใหม่ ดังนี้
Saudi Vision 2030 คืออะไร
Saudi Vision 2030 คือวิสัยทัศน์ที่จะนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่แกนหลักเลยคือ "ลดการพึ่งพาน้ำมัน และเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ" ซึ่งมกุฏราชกุมาร มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน (MBS) ประกาศเป็นครั้งแรกในปี 2016
เพราะซาอุฯ รู้ดีว่า เศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลักนั้นมีความเสี่ยงหลายด้าน หลักๆ คือ 3 ด้านด้วยกันคือ
จะเห็นได้ว่าปัจจัยเรื่องน้ำมัน คือแรงกดดันหลักที่ทำให้ซาอุฯ ต้องเปลี่ยนเพื่อรอด นำไปสู่วิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 ที่เปิดตัวในปี 2016 เพื่อให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมี 3 เสาหลักคือ
การดำเนินการตาม Saudi Vision 2030 จะแบ่งการทำงานเป็นหลายด้าน และหลายระยะ เช่น โครงการเปลี่ยนผ่านแห่งชาติ ที่ดำเนินการโดยสภาพัฒน์ฯ ของซาอุฯ เป็นหนึ่งในโครงการเฟสแรกระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2016 - 2020 โดยมีผลงานสำคัญคือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจน้ำมัน "ซาอุดี อรามโก" (บางส่วน) นอกจากนี้ ก็ยังมีการดำเนินโครงการต่างๆ แต่ที่เป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก เห็นจะเป็นโปรเจกต์ด้าน "สิทธิสตรี" กับการไฟเขียวให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้เองเป็นครั้งแรกในปี 2018 และการอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าชมการแข่งกีฬาในสนามได้
ฝันไกลที่ยังไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง
ในช่วงแรกนั้น วิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 ได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกค่อนข้างดี เพราะหากซาอุฯ จะเปลี่ยนผ่านประเทศครั้งใหญ่เช่นนี้ ก็จำเป็นต้องมีการปฏิรูปหลายด้านที่ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำมันและเศรษฐกิจ แต่ต้องรวมถึงสังคมและการเมืองการปกครองด้วย เพื่อปรับโฉมประเทศให้ทันสมัย เปิดรับโลก และสามารถดึงดูดการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวจากต่างชาติได้ เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางสังคม เช่น เรื่องสิทธิสตรี แต่การให้ผู้หญิงขับรถได้หรือชมการแข่งขันกีฬาได้นั้น ก็ยังถูกมองว่าเป็นเพียง "กิมมิค" ที่แค่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ แต่ไม่ได้มีการปฏิรูปจริงจัง
เพราะในช่วงหลายปีมานี้ ซาอุฯ เองก็เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่มากระทบแผนการปฏิรูป และสั่นคลอนความเชื่อมั่น ตั้งแต่เรื่องสเกลเล็กๆ อย่างผู้หญิงที่หนีการคลุมถุงชนแต่งงานมาติด ตม. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ไปจนถึงเรื่องที่สเกลใหญ่ขึ้น เช่น การเป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่จากสหรัฐ และการมีบทบาทในสงครามกลางเมืองที่เยเมน ก็ทำให้ซาอุฯ ถูกตั้งแง่และถูกกีดกันไปจากการลงทุนในโลกเทคโนโลยี ที่ซิลิคอนวัลลีย์ สหรัฐ ไปด้วย
แต่เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด และสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่สุดก็คือ ประเด็นการอุ้มฆ่านักข่าว "จามาล คาช็อกจี" เมื่อปี 2018 ซึ่งผลการสอบโยงไปถึงคนรอบตัวของ มกุฏราชกุมาร มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน เรื่องนี้นับว่าสั่นสะเทือนความเชื่อมั่นต่อซาอุฯ และแผนปฎิรูปประเทศมากที่สุด สะเทือนไปจนถึงกองทุน Vision Fund ของบริษัทซอฟต์แบงก์ (Softbank) จากญี่ปุ่น ที่ไปลงทุนด้านเทคโนโลยีทั่วโลกโดยมีซาอุฯ เป็นนักลงทุนรายใหญ่ผ่านกองทุนนี้
และทั้งหมดนี้จึงยังทำให้ Saudi Vision 2030 เป็นวิสัยทัศน์ระยะไกลที่ยังต้องรอการพิสูจน์ความสำเร็จอีกยาว