ธุรกิจการตลาด

ทุจริตหุ้น STARK ก.ล.ต. DSI เอาจริง! ยึดทรัพย์ ออกหมายจับ ตรวจสอบเพิ่ม

9 ก.ค. 66
ทุจริตหุ้น STARK ก.ล.ต. DSI เอาจริง! ยึดทรัพย์ ออกหมายจับ ตรวจสอบเพิ่ม

 

กรณีทุจริตหุ้น STARK ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้น นักลงทุน สถาบันการเงิน คู่ค้า กว่า 38,000 ล้านบาท ที่เป็นข้อกังขาถึงความล่าช้าในการดำเนินการของทางการที่จะจัดการกับพวกทุจริตที่สร้างความเสียหายมากขนาดนี้

ก.ล.ต.เองเพิ่งมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิด กรณี STARK 10 ราย ซึ่งเป็นชุดแรก และสั่งห้าม 5 บุคคลออกนอกประเทศ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ด้าน DSI ยึดรถหรู 4 คันของ 'ชนินทร์ อดีตบิ๊ก STARK' หลังเข้าตรวจค้นสถานที่ 15 จุด พร้อมเตือนผู้ครอบครองให้ส่งมอบ หากซุกซ่อน จ่อฟันข้อหาฟอกเงิน พร้อมออกหมายเรียก 'วนรัชต์ ทายาทสี TOA' กับพวกรวม 10 ราย เข้าให้การในฐานะพยาน หลัง ก.ล.ต. ร้องเอาผิด

โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลอาญารวมจำนวน 15 จุด เพื่อค้นหาพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน และยึดสิ่งของมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมาย 

ทั้งนี้ การเข้าตรวจค้นบริษัทจำนวน 5 จุด ได้แก่ 

  1. บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 
  2. บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด 
  3. บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด 
  4. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 
  5. บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 

เป็นบริษัทที่พบการทำธุรกรรมในทางบัญชีและการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และเข้าตรวจค้นบ้านซึ่งเป็นที่พักอาศัยและที่มีชื่อของผู้ต้องสงสัยและผู้ที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ครอบครองรวมจำนวน 10 จุด 

ด้าน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการขยายผลในการตรวจสอบผู้กระทำความผิดในหุ้น STARK และหากผลการกระทำความผิดก็จะมีการกล่าวโทษเพิ่มเติม

“ก.ล.ต.ทำงานร่วมกันผู้ที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนหาผู้ที่กระทำความผิดในกรณี STARK เพิ่มเติม ซึ่งเราดูในหลายส่วน ทั้งในด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชี รวมถึงการสร้างราคาหุ้น” นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ และรักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีคำถามถึงการตรวจสอบผู้สอบบัญชี ซึ่งต้องแยกเป็น 2 ส่วน โดยดำเนินการตรวจสอบผู้สอบบัญชีที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหลักฐานในชั้นนี้ยังไปไม่ถึง ในกรณีทั่วหากผู้สอบบัญชีที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงาน สามารถดำเนินการได้ทันที 

แต่บริษัทย่อยหรือบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ หรือ ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต.นั้น ก.ล.ต.ก็จะดำเนินการตรวจสอบเช่นกัน และหากพบการกระทำความผิดจะประสานงานกับ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อดำเนินการลงโทษต่อไป

ขณะที่ DSI เร่งติดตามรายการทรัพย์สินที่เหลือ เพื่อดำเนินการอายัด ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้เสียหายให้มากที่สุด ขอให้สังคมและผู้เสียหายไว้วางใจว่าดีเอสไอไม่ได้นิ่งเฉย เพราะเวลาที่ยังไม่ถึง 1 เดือน เราสามารถแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหา และทำการอายัดทรัพย์บางส่วน ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานทุกชิ้น ก่อนนำมาพิจารณาประกอบการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลอื่นๆที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการโกงหุ้นสตาร์ค

ก.ล.ต.กล่าวโทษ 10 คน ห้ามออกนอกประเทศ 5 คน

ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษบุคคล รวม 10 ราย เป็นชุดแรก ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินคดีกรณีตกแต่งงบการเงิน เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง อันเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้แก่ 

  1. บริษัท STARK 
  2. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 
  3. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ
  4. นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 
  5. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ
  6. นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 
  7. บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 
  8. บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI)
  9. บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด 
  10. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (บ.เอเชีย)

ทั้งนี้ ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามความมาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ได้มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดชุดแรก รวม 10 รายดังกล่าว เป็นเวลา 180 วัน เนื่องจากปรากฏพฤติการณ์การกระทำผิดที่มีลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง โดยปรากฏมูลค่าความเสียหายจากหนี้สินของบริษัท STARK ที่มีมากกว่า 38,000 ล้านบาท และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าผู้กระทำความผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินออกไป 

พร้อม คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศ เป็นระยะเวลา 15 วัน จำนวน 5 ราย ดังนี้  

  1. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 
  2. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ
  3. นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 
  4. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 
  5. นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม

การสั้งห้ามมิให้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว มีกำหนด 15 วัน เนื่องจากมีเหตุฉุกเฉินอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร โดยหลังจากนี้ ก.ล.ต.จะไปร้องขอต่อศาลอาญาเพื่อออกคำสั่งห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรต่อไป

“ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานเพื่อขยายผลการดำเนินคดีเพิ่มเติมกับผู้เกี่ยวข้องการทุจริต บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) ทั้งเรื่องผู้สอบบัญชี การปั่นราคาหุ้น การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ รวมทั้งการใช้ข้อมูลภายใน มั่นใจจากพยานหลักฐานสามารถดำเนินการได้ถึงที่สุด” นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ และรักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าว 

โดยก.ล.ต.จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

สำหรับการดำเนินคดีกับผู้สอบบัญชีนั้น ก.ล.ต. แยกเป็น 2 ส่วน คือ 

  1. ผู้สอบบัญชี STARK ที่อยู่ภายใต้อำนาจของ ก.ล.ต.ที่จะเข้าไปกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนที่สามารถเข้าตรวจสอบได้ทันที ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการตรวจสอบพยานหลักฐาน
  2. กรณีที่ผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อยของ STARK และบริษัทที่เกี่ยวข้องที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. จะดำเนินการตรวจสอบด้วยเช่นกัน หากพบว่ามีความผิดร่วมด้วยจะประสานงานกับสภาวิชาชีพเพื่อดำเนินการเอาผิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.พยายามชี้แจงว่า การดำเนินการตั้งใช้ระยะเวลา เพื่อให้สามารถหลักฐานเพียงไปในการกล่าวโทษ ยังชี้แจงถึงการกล่าวโทษและออกคำสั่งอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหุ้น STARK ล่าช้าว่า ตามมาตรา 267 แห่งพ.ร.บ. หลักทรัพย์ มีแนวทางกำหนดขั้นตอนการใช้มาตรการเอาไว้ หากมีเหตุอันสงสัยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการกล่าวโทษ ก.ล.ต. ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอสำหรับการกล่าวโทษและอายัดทรัพย์ ซึ่งการอายัดทรัพย์สินได้อายัดทรัพย์ทุกประเภทรวมทั้งหุ้น TOA ของนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ หนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวโทษ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK ด้วย

สำหรับการห้ามผู้ถูกกล่าวโทษเดินทางออกนอกประเทศเป็นเวลา 15 วันนั้น ก.ล.ต. สามารถยื่นขอศาลอาญาเพื่อขยายระยะเวลาออกไปได้อีก 1 ครั้ง ส่วนกรณีที่มีรกระแสข่าวว่า หนึ่งในผู้ถูกกล่าวโทษหลบหนีออกไปนอกประเทศแล้ว เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการดำเนินการติดตามตัวผู้กระทำผิด

เฟ้ลปส์ ดอด์จถูกยกเลิกออเดอร์หลังมีข่าวอายัดทรัพย์

สำหรับพนักงานของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ กว่า 100 คนเข้ามายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่ ก.ล.ต.นั้น นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า แม้จะมีการอายัดทรัพย์ไว้ แต่ตัวบริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ เพราะการอายัดทรัพย์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในตัวแทนพนักงานที่มายื่นคำร้องต่อ ก.ล.ต.ระบุว่า คำสั่งกล่าวโทษและอายัดทรัพย์ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้า เฟ้ลปส์ ดอด์จ โดยคู่ค้าได้ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และลูกค้าทั่วไปได้ยกเลิกออเดอร์เกือบทั้งหมด กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้มาร้องขอความเป็นธรรม

DSI ยึดรถหรู 4 คันของ 'ชนินทร์ อดีตบิ๊ก STARK' 

ภายหลังจาก DSI ได้เข้าตรวจค้นสถานที่ 15 จุด ได้ยึดรถหรู 4 คันของ 'ชนินทร์ อดีตบิ๊ก STARK'   พร้อมเตือนผู้ครอบครองให้ส่งมอบ หากซุกซ่อน จ่อฟันข้อหาฟอกเงิน พร้อมระบุ ออกหมายเรียก 'วนรัชต์ ทายาทสี TOA' กับพวกรวม 10 ราย เข้าให้การในฐานะพยาน หลัง ก.ล.ต. ร้องเอาผิด

เมื่อ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ น.ส.พิทยาภรณ์ ชูรัตน์ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ  แถลงความคืบหน้า กรณีคดีพิเศษที่ 57/2566 หรือ คดีมหากาพย์โกงหุ้น ภายหลังจากอธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวน กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ร่วมกันเข้าตรวจค้นบ้านพักและสถานที่ของผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก่อนนำไปประกอบสำนวนคดี 

สำหรับไทม์ไลน์การสอบสวนคดี STARK เริ่มต้นรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 

วันที่ 3 ก.ค. ออกหมายเรียกผู้ต้องหา "นายชนินทร์ เย็นสุดใจ" 

วันที่ 5 ก.ค. ออกหมายจับนายชนินทร์ โดยมี ก.ล.ต. เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ 

วันที่ 6 ก.ค. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลอาญารวมจำนวน 15 จุด เพื่อค้นหาพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน รวมถึงเพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมาย 

tlstark

โดยเป็นการเข้าตรวจค้นบริษัทจำนวน 5 จุด ได้แก่ 

  1. บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 
  2. บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด 
  3. บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด 
  4. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 
  5. บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 

โดยเป็นการพบบริษัทที่พบการทำธุรกรรมในทางบัญชีและการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และเข้าตรวจค้นบ้านซึ่งเป็นที่พักอาศัยและที่มีชื่อของผู้ต้องสงสัยและผู้ที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ครอบครองรวมจำนวน 10 จุด 

สำหรับผลการตรวจค้นนั้น คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้พบและยึดสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการสอบสวนทั้งเอกสารการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในบริษัท สตาร์คฯ และบริษัทในเครือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บไว้ในรูปแบบไฟล์คอมพิวเตอร์ และเอกสารหลักฐานพยานวัตถุอื่น ๆ เป็นพยานหลักฐานที่จะประกอบการสอบสวนและพิสูจน์ถึงพฤติการณ์อันมีลักษณะทุจริต 

รวมถึง ขยายผลไปถึงบุคคลอื่นที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด รวมทั้งได้พบและยึดเงินสด อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดไว้เพื่อทำการตรวจสอบ 

สำหรับรายการทรัพย์สินของนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ที่ดีเอสไอได้มีการอายัดนั้น มีดังนี้ 

  1. เป็นการอายัดทางทะเบียนรถยนต์หรู 4 คัน 
  • BMW 630i Gran Turismo RHD ทะเบียน 1กญ-0289 กรุงเทพมหานคร / 
  • MINI COOPER S Cabrio RHD สีน้ำเงิน ทะเบียน 1ขศ-0042 กรุงเทพมหานคร
  • MERCEDES BENZ AMG GLA 35 4MATIC สีเทา ทะเบียน 2ขร-1162 กรุงเทพมหานคร 
  • ROLLS-ROYCE DAWN สีดำ ทะเบียน 8 กร-0011 กรุงเทพมหานคร 

479148

รถยนต์หรูทั้ง 4 คันนี้ ดีเอสไอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังบุคคลที่ครอบครองในปัจจุบันว่า ขอให้ส่งมอบมาที่ดีเอสไอโดยเร็ว มิเช่นนั้น จะถูกแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงินได้ 

ส่วนถ้าประชาชนรายใดรู้เบาะแสของรถทั้ง 4 คัน สามารถแจ้งมายังดีเอสไอได้ทั้งการแจ้งผ่านเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ แจ้งผ่านสายด่วนของดีเอสไอ เบอร์ 1202 

"การเลื่อนหมายเรียกผู้ต้องหาของนายชนินทร์ที่แจ้งมายังดีเอสไอ ระบุเพียงว่า ติดภารกิจ แต่ยังไม่มีการระบุวันเวลาที่จะเข้าพบพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด และขณะนี้ทราบเบื้องต้นว่านายชนินทร์หลบหนีหมายจับของศาลอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์นั้น ดีเอสไอจึงขอฝากถึงนายชนินทร์ให้กลับมาที่ประเทศไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และยังสามารถใช้สิทธิผู้ต้องหาตามกฎหมายได้ อาทิ การเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา” 

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าพนักงานสอบสวน กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เตรียมออกหมายเรียกผู้ต้องหาแก่เลขานุการของนายชนินทร์ (น.ส.ยสบวร อำมฤต) เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน

ส่วนข้อซักถามถึงการอายัดทรัพย์ของนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ทายาทสี TOA และในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสตาร์คหรือไม่ เนื่องจาก ก.ล.ต. ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบุคคล 10 รายกับดีเอสไอ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายวนรัชต์รวมอยู่ด้วยนั้น 

รองโฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า ทราบจากพนักงานสอบสวน เบื้องต้นได้มีการออกหมายเรียกตามรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลทั้ง 10 รายในฐานะพยานเรียบร้อยแล้ว ส่วนกำหนดนัดหมายวันเวลา จำเป็นต้องขอสงวนการเปิดเผย เนื่องจากความปลอดภัยของพยาน

“เรามีการเร่งติดตามรายการทรัพย์สินที่เหลือ เพื่อดำเนินการอายัด ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้เสียหายให้มากที่สุด ขอให้สังคมและผู้เสียหายไว้วางใจว่า ดีเอสไอไม่ได้นิ่งเฉย เพราะเวลาที่ยังไม่ถึง 1 เดือน เราสามารถแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหา และทำการอายัดทรัพย์บางส่วน ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานทุกชิ้น ก่อนนำมาพิจารณาประกอบการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลอื่นที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการโกงหุ้นสตาร์ค” รองโฆษกดีเอสไอ 

DSI คาดสรุปสำนวนได้ภายใน 3 เดือน นำส่งอัยการสั่งฟ้อง ก.ย.นี้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า คณะพนักงานสอบสวน กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการสรุปสำนวนคดีทุจิตหุ้นสตาร์ค ภายในเวลา 3 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จ นำส่งพนักงานอัยการสั่งฟ้องได้ในเดือนกันยายนนี้.

นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ออกแถลงการณ์ระบุว่า การที่ถูกอายัดทรัพย์ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจของ STARK หยุดชะงักไปต่อไม่ได้ ต้องหยุดการผลิต พนักงานเดือดร้อน ถูกคู่ค้าขึ้นแบล็คลิสต์ กิจการอาจต้องล้มละลาย จ่อโดนฮุบในราคาถูก ๆ ไม่มีเงินไปคืนผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้

ที่มา : ก.ล.ต., DSI

“เสี่ยเอ” ร่อนแถลงการณ์โวยถูกอายัดทรัพย์ทำหนทางแก้ปัญหา STARK พังรอวันล้มละลาย

advertisement

SPOTLIGHT