ธุรกิจการตลาด

"โตโยต้า ไฮลักซ์ ไฮโดรเจน" ปิ๊กอัพสายพันธุ์ใหม่จาก Toyota

5 ธ.ค. 65
"โตโยต้า ไฮลักซ์ ไฮโดรเจน" ปิ๊กอัพสายพันธุ์ใหม่จาก Toyota

โตโยต้า เตรียมผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (FCEV) กับรถรุ่นยอดนิยมอย่าง "กระบะไฮลักซ์" ทดสอบกับรถขนาดใหญ่ขึ้น ต่อยอดจากรุ่นซีดาน Mirai 

ดูเหมือนว่าฝั่ง "ญี่ปุ่น" จะยังไม่ยอมแพ้เรื่อง "พลังงานไฮโดรเจน" ง่ายๆ แม้จะถูกท้าทายอย่างหนักจากกระแสยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มาแรงไปทั่วโลกก็ตาม

ล่าสุด โตโยต้า มอเตอร์ ค่ายรถยนต์เบอร์ 1 ในญี่ปุ่น กำลังเตรียมเดินหน้าผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (FCEV) กับรถรุ่นยอดนิยมอย่าง "กระบะไฮลักซ์" (Hilux) แล้ว ซึ่งถือเป็นการทดสอบกับรถขนาดใหญ่ขึ้นมา จากเดิมที่ทำในรถยนต์ซีดานอย่าง Mirai 

ต้องบอกก่อนว่านี่ไม่ใช่โปรเจกต์เพื่อขาย แต่เป็นโปรเจกต์ทดลองเพื่อทำรถต้นแบบในกลุ่มของรถปิ๊กอัพออกมา โดยมาในรูปแบบการรวมกลุ่มคอนซอร์เตียม (Consortium) นำโดยโตโยต้า สหราชอาณาจักร (Toyota UK) และได้รับทุนสนับสนุน 11.3 ล้านปอนด์ (ราว 700 ล้านบาท) ครึ่งหนึ่งมาจากรัฐบาลอังกฤษ และอีกครึ่งหนึ่งมาจาก Advanced Propulsion Centre ที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานสะอาด  

บริษัทจะเริ่มการผลิตรถปิ๊กอัพไฮลักซ์ พลังงานไฮโดรเจน ที่โรงงาน Burnaston ใกล้กับเมือง Derby ในอังกฤษ ปีหน้า 2566 โดยเครื่องยนต์ที่จะใช้ในไฮลักซ์สายพันธุ์ใหม่นี้จะเป็นเทคโนโลยีฟิวเซลล์ (fuel cell) เจน 2 ที่ใช้ในรุ่น Mirai Gen 2 

โตโยต้า ไฮลักซ์ ไฮโดรเจน

โตโยต้า ไฮลักซ์ ไฮโดรเจน

จากข้อมูลที่มีการทดสอบ Mirai Gen 2 ในไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ตัวรถใช้เซลล์เชื้อเพลิงขนาด 650 โวลต์ที่เล็กกว่าและเบากว่ารุ่นก่อน ซึ่งให้กำลัง 128 กิโลวัตต์  รถรุ่นใหม่มีกำลังเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับ MIRAI รุ่นก่อน ถังเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสามถังที่จุพลังงานไฮโดรเจน 141 ลิตร ทำระยะทางได้ไกลเกือบ 800 กิโลเมตร จากการขยายความจุของถังเก็บไฮโดรเจน รวมถึงการติดตั้งถังเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพิ่มเติมเพื่อการกระจายน้ำหนักให้มีความสมดุล

บริษัทยังไม่ได้ให้ข้อมูลแน่ชัดว่าจะผลิตออกมาขายหรือทำลีซซิ่งให้เช่าซื้อหรือไม่ หรือจะกำหนดราคาคันละเท่าไร แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เมื่อผลิตและทดสอบเสร็จสิ้นแล้วก็จะนำผลที่ได้ไปใช้กับการผลิตรถขนาดเล็กรุ่นอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ จากข้อมูลของโตโยต้าอ้างว่า รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน หรือ Fuel Cell Electric Vehicle (FCEV) เป็นรถที่ใช้พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนซึ่งสะอาดมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ได้มาจากการสังเคราะห์พลังงานแสงอาทิตย์และน้ำ โดยมีอัตราการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ มีระยะทางในการขับใช้งานและเวลาในการเติมพลังงานเชื้อเพลิง เท่ากับรถยนต์ทั่วไปที่ใช้เครื่องยนต์เผาไหม้สันดาปภายในปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ก่อให้เกิดมลภาวะ โดยปล่อยของเสียออกมาเป็นแค่น้ำและอากาศอุ่น

 

โตโยต้าจับมือ 3 พันธมิตร เปิดตัวปั๊มไฮโดรเจนในไทย

เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา โตโยต้า ประเทศไทย ได้จับมือกับ 3 พันธมิตรด้านพลังงานในไทยทั้ง PTT – OR และ BIG เปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย ที่จังหวัดชลบุรี โดยนำร่องนำ Toyota Mirai ในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี ให้บริการนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในพื้นที่พัทยา – ชลบุรี ตอบรับแผนภาครัฐ สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) 

ทั้งนี้ สถานีเติมไฮโดรเจนยังไม่ใช่พลังงานที่แพร่หลายมากนักในแต่ละประเทศ โดยปัจจุบัน มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่มีสถานีไฮโดรเจนกระจายในประเทศในหลักมากกว่า 100 แห่ง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะที่เยอรมนีและสหรัฐอเมริกาตามมาในอันดับ 4 และ 5

 

 ที่มา: CNBC, ไทยรัฐ

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT