ธุรกิจการตลาด

การบินไทยเปิด 34 เส้นทางทั่วโลก พร้อมแจ้งแผนปรับโครงสร้างการเงิน แก้ปัญหาส่วนผู้ถือหุ้นติดลบกับ ตลท

24 มี.ค. 65
การบินไทยเปิด 34 เส้นทางทั่วโลก  พร้อมแจ้งแผนปรับโครงสร้างการเงิน แก้ปัญหาส่วนผู้ถือหุ้นติดลบกับ ตลท
ไฮไลท์ Highlight
โดยอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการปรับโครงสร้างทุนที่รองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน และการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีทางเลือกในการได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

การบินไทยชี้แจงแผนปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อเตรียมขอขยายเวลา การแก้ปัญหาส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่ให้ติดลบต่ออีก 1 ปี จากเดิมกำหนด 3 ปี ส่วนธุรกิจการบิน มีการเปิด 34 เส้นทางทั่วโลก รองรับการเดินทางที่หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการโควิด  

 

การบินไทย สรุปเส้นทางให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารในตารางการบินฤดูร้อน ปี 2565 รองรับการเดินทางของผู้โดยสารสู่ 34 เส้นทางบินทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย โดยจะเริ่มวันที่ 27 มีนาคม – 29 ตุลาคม 2565 ดังนี้

เส้นทางสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์

1.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-แฟรงก์เฟิร์ต ทำการบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ ศุกร์ และอาทิตย์

2.เส้นทาง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-ลอนดอน-กรุงเทพฯ ทำการบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ พฤหัสบดี และเสาร์

3.เส้นทาง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-ซิดนีย์-กรุงเทพฯ ทำการบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์

4.เส้นทาง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-โคเปนเฮเกน-กรุงเทพฯ ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร และพฤหัสบดี (ทำการบินระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-30 เมษายน 2565)

5.เส้นทาง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-สตอกโฮล์ม-กรุงเทพฯ ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ และศุกร์ (ทำการบินระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-30 เมษายน 2565)

 

เส้นทางยุโรปและออสเตรเลีย

1.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ลอนดอน ทำการบินสัปดาห์ละ 11 เที่ยวบิน (เที่ยวบินที่ ทีจี 910 ทำการบินทุกวัน/ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป เที่ยวบินที่ ทีจี 916 ทำการบินออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร พุธ ศุกร์ และอาทิตย์ )

2.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ปารีส ทำการบินทุกวัน

3.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ซูริก ทำการบินทุกวัน (ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม-4 กรกฎาคม 2565 ทำการบินสัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์)

4.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-บรัสเซลส์ ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ และศุกร์ (ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม – 30 สิงหาคม 2565 ทำการบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์)

5.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต ทำการบินทุกวัน (ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป เที่ยวบินที่ ทีจี 922 ทำการบินทุกวันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และเสาร์)

6.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-มิวนิก ทำการบินทุกวัน

7.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โคเปนเฮเกน ทำการบินสัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ (ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทำการบินทุกวัน)

8.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-สตอกโฮล์ม ทำการบินสัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์ และอาทิตย์

9.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ซิดนีย์ ทำการบินสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และอาทิตย์

10.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เมลเบิร์น ทำการบินสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี เสาร์ และอาทิตย์

 

เส้นทางเอเชีย

1.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) ทำการบินทุกวัน

2.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (ฮาเนดะ) ทำการบินทุกวัน (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป)

3.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นาโกยา ทำการบินสัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ และอาทิตย์

4.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โอซากา ทำการบินทุกวัน

5.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-มะนิลา ทำการบินทุกวัน

6.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โซล ทำการบินทุกวัน

7.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ไทเป ทำการบินสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน ออกจากรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดี และศุกร์ (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทำการบินทุกวัน)

8.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฮ่องกง ทำการบินทุกวัน

9.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ ทำการบินทุกวัน (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทีจี 409 ทำการบินออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และเสาร์)

10.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-จาการ์ตา ทำการบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ ศุกร์ และอาทิตย์ (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทำการบินทุกวัน)

11.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ ทำการบินสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และอาทิตย์ (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทำการบินทุกวัน)

12.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ธากา ทำการบินทุกวัน

13.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เจนไน ทำการบินสัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์ และอาทิตย์ (ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทำการบินทุกวัน)

14.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เบงกาลูรู ทำการบินสัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์ และอาทิตย์ (ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทำการบินทุกวัน)

15.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นิวเดลี ทำการบินทุกวัน

16.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-มุมไบ ทำการบินทุกวัน

17.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ละฮอร์ ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร และศุกร์

18.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อิสลามาบัด ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์ และศุกร์ (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ทำการบินทุกวันจันทร์ และพุธ)

19.เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-การาจี ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร และศุกร์ (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ทำการบินทุกวัน)

 

 

การบินไทยชี้แจงแผนทางการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์

ขณะที่เมื่อวานนี้ (23 มีนาคม 2565) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เรื่อง แนวทางการดำเนินการของบริษัท กรณีมีการดำเนินงานหรือฐานะทางการเงินที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ระยะที่ 2 (NC ระยะที่ 2)

 

ทางบริษัทชี้แจงว่า บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้กระบวนการพื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งบริษัท เชื่อว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้ บริษัทมีแนวทางในการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนและกำหนดระยะเวลาการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยสรุปดังนี้

 

  1. การดำเนินการให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท มีค่ามากกว่าศูนย์นั้น บริษัทมีแผนที่จะปรับโครงสร้างทุน และโครงสร้างหนี้ เพื่อทำให้บริษัทสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน บริษัทคาดว่าจะมีการเพิ่มทุน รวมถึงมีการให้สิทธิการแปลงหนี้เป็นทุนแก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นและลดภาระหนี้สิน

 

โดยอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการปรับโครงสร้างทุนที่รองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน และการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีทางเลือกในการได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

 

ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถดำเนินการปฏิรูปธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร ตลอดจนการขายเงินลงทุนและสินทรัพย์รองที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำไรอย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัท

 

ทั้งนี้ งบการเงินรวม สำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัท มีกำไรสุทธิ จำนวน 55,113 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ จำนวน 71,250 ล้านบาท ติดลบลดลงเปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ จำนวน 128,665 ล้านบาท

 

  1. การดำเนินการให้บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ออกมาตรการและดำเนินการตามเป้าหมายอย่างเข้มข้น เพื่อให้สามารถปฏิรูปธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากธุรกิจการบิน รวมถึงผลักดันแหล่งรายได้เสริมอื่น ๆ เช่น

 

การเปิดภัตตาคารในบรรยากาศเสมือนให้บริการบนเครื่องบิน การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ “การบินไทย” จากชิ้นส่วนเครื่องบิน ตลอดจนการเปิดให้บริการเข้าเยี่ยมชมและทดลองการบินด้วยเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) อีกทั้งการเตรียมความพร้อมด้านความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เริ่มคลี่คลาย

 

ตลอดจนปรับปรุงกิจการผ่านโครงการตามแผนปฏิรูปธุรกิจ (Transformation Initiatives) กว่า 400 โครงการ ซึ่งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนโครงการทั้งหมด รับทราบมูลค่าโครงการรวมในรูปแบบของต้นทุนดำเนินการที่ลดลงเมื่อระดับปริมาณการผลิตกลับไปเทียบเท่าปี 2562 เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 50,000 ล้านบาท

 

ซึ่งประกอบด้วย การลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไปจนถึงการลดต้นทุนค่าวัสดุและบริการจากภายนอก ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรรวม โดยการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว ปรับปรุงต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายบุคลากรโดยการเทียบเคียงมาตรฐานอุตสาหกรรมและสายการบินชั้นนำในระดับเดียวกัน ลดจำนวนบุคลากรรวมลงมากกว่าร้อยละ 50 ส่งผลให้ลดต้นทุนลงประมาณร้อยละ 70

 

 

ส่วนด้านฝูงบินและการบริหารจัดการอากาศยาน จากการเจรจาทำให้ต้นทุนด้านอากาศยานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และยังทำให้ประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการฝูงบินและ มาตรฐานการให้บริการผู้โดยสารสูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งประเภทอากาศยานในฝูงบินปัจจุบันเป็นอากาศยานที่มีเทคโนโลยีทันสมัย อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ รวมถึงแบบเครื่องยนต์ที่ลดลงทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนอะไหล่คงคลังได้ดีขึ้น

 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 สายการบินต่าง ๆ กลับมาทำการบินมากขึ้น บริษัทได้เริ่มให้บริการเที่ยวบินและเส้นทางบินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 โดยพิจารณามาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศปลายทางเป็นหลัก ประกอบกับ การคาดการณ์ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ในแต่ละเส้นทาง และ การดำเนินงานตามแผนปฏิรูปธุรกิจ การหารายได้เพิ่มเติมในช่วงที่สถานการณ์การบินยังไม่กลับมาเป็นปกติ การปรับเพิ่มเที่ยวบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่รองรับการขนส่งสินค้ามากขึ้น และการเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่สนับสนุนการบิน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้กำไรสุทธิของบริษัท กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT