แรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าหลายล้านชีวิตในเอเชีย กำลังวิตกกังวลว่าพวกเขาอาจจะต้องตกงาน ขณะที่ภาษีตอบโต้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่กำลังจะมีผลบังคับใช้
นับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศระงับการขึ้นภาษีใหม่เป็นเวลา 90 วัน เปิดทางให้ประเทศต่าง ๆ ได้เข้ามาเจรจาทำข้อตกลง ซึ่งทรัมป์ได้แจ้งกับหลายประเทศแล้วว่า ภาษีใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีใหม่นี้ แม้สำหรับบางประเทศจะลดลงจากเมื่อตอนประกาศครั้งแรกในเดือนเมษายน แต่ก็แทบไม่ได้ลดความตึงเครียดลงเลย
ในบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับจดหมายแจ้งจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แล้ว คือแหล่งผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ อย่างกัมพูชาและศรีลังกา ซึ่งพึ่งพาสหรัฐฯ อย่างมากในการส่งออก ซึ่งกัมพูชาจะเจอกับภาษี 36 % และศรีลังกา 30 %
Nike, Levi's และ Lululemon เป็นหนึ่งในแบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ผลิตในสองประเทศ
หนา โสกลิน แรงงานเสื้อผ้าชาวกัมพูชาเปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า คุณพอจะจินตนาการออกมั้ย ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราตกงาน ฉันกังวลมาก กังวลเป็นพิเศษเรื่องลูก พวกเขาต้องการอาหาร
โสกลินและสามีของเธอทำงานด้วยการเย็บกระเป๋าถือ 10 ชั่วโมงต่อวัน พวกเขาสองคนมีรายได้เดือนละ 570 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 18,324 บาท แทบจะไม่เพียงพอต่อค่าเช่า ดูแลลูกชายยังเป็นวัยรุ่น 2 คน และพ่อแม่ที่แก่ชรา
“ฉันอยากส่งข้อความถึงประธานาธิบดี บอกเขากรุณายกเว้นภาษีให้กัมพูชาเถอะ เราต้องการงานเพื่อหาเลี้ยงดูครอบครัว”
ตัวเลขจาก Asean Statistics Division ระบุว่า กัมพูชา ซึ่งกลายมาเป็นแหล่งทางเลือกที่โด่งดังของผู้ค้าปลีกชาวจีน เพราะว่าแรงงานมีราคาถูก พวกเขาส่งออกเสื้อผ้ามูลค่ากว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยังสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ธุรกิจเสื้อผ้ายังเป็นอาชีพของแรงงานชาวกัมพูชากว่า 900,000 คนทั่วประเทศ
กัมพูชา ซึ่งได้รับการผ่อนปรนภาษีจากสหรัฐถึง 13 เปอร์เซนต์ เพราะในการประกาศภาษีรอบแรกในเดือนเมษายน กัมพูชาโดนถึง 49 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่อมาลดลงเหลือ 36 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม กัมพูชายังไม่หยุดเพียงเท่านั้น โดยเตรียมเดินหน้าหารือเพิ่มเติมกับฝ่ายสหรัฐเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีกว่าเดิม
ซุน จันโทล รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในฐานะหัวหน้าทีมเจรจา กล่าวว่า กำลังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนและแรงงาน โดยเป้าหมายคืออยากให้ภาษีเป็นศูนย์ แต่ก็เคารพการตัดสินใจของสหรัฐฯ และจะเดินหน้าเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีให้ได้มากที่สุด
ในขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยืนยันว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดช่องว่างมูลค่าสินค้านำเข้า-ส่งออกของสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนเห็นต่าง ศาสตราจารย์มาร์ก แอนเนอร์ คณบดีคณะบริหารจัดการและแรงงานสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ระบุว่า มาตรการภาษีของทรัมป์มองข้ามผลประโยชน์ที่สหรัฐได้รับจากข้อตกลงการค้าเดิม เช่น สินค้าเสื้อผ้าราคาถูก และกำไรที่เพิ่มขึ้นของบริษัทสหรัฐที่ใช้แรงงานและวัตถุดิบจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างศรีลังกาหรือกัมพูชา