แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ลุกเป็นไฟจากเหตุปะทะที่ยืดเยื้อกว่าที่คาด ทว่าแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สนามรบ หากแต่ลามลึกถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา-ซึ่งพึ่งพาไทยอย่างลึกทั้งในมิติรายได้ แรงงาน และสินค้าจำเป็น ผลกระทบจากการปิดด่านการค้าทั้ง 5 แห่งตามแนวชายแดน อาจทำให้มูลค่าการค้าหายวับไปกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน รายได้ของแรงงานกัมพูชาในไทยที่คิดเป็นกว่า 6% ของ GDP ก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
เมื่อปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ปะทะเข้ากับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง ความขัดแย้งทางชายแดนครั้งนี้จึงกลายเป็น “สมรภูมิเศรษฐกิจ” ที่กัมพูชาอาจต้องแบกรับความเจ็บปวดมากกว่าทุกฝ่าย
ข้อมูลจาก Innovest X ระบุว่า เศรษฐกิจกัมพูชาเปราะบางต่อความขัดแย้งมากกว่า เพราะพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอกอย่างสูง โดยเฉพาะรายได้จากแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 6% ของ GDP โดยในจำนวนนี้ แรงงานส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในประเทศไทย รายได้จากเงินโอนกลับประเทศของแรงงานกัมพูชาที่ทำงานในไทยสูงถึง 2,950 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็น 6.6% ของ GDP ของประเทศ สะท้อนถึงระดับการพึ่งพิงเชิงโครงสร้างที่ลึกซึ้งของกัมพูชาต่อไทย
ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและกัมพูชาในปี 2024 ได้ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ มูลค่าการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไทยส่งออกสินค้าสู่กัมพูชาทั้งปีมูลค่ารวม 9,168 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 6,378 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเชื้อเพลิง แร่ และน้ำมัน ที่มีมูลค่าส่งออกในช่วงปี 2021-2024 รวม 1,751 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 18.2% ของการส่งออกหมวดนี้ทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากัมพูชาเป็นตลาดที่มีความสำคัญสูงต่อสินค้าเฉพาะกลุ่มของไทย
ไทยยังใช้กัมพูชาเป็นตลาดหลักในการระบายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน และเครื่องดื่มบรรจุขวดต่าง ๆ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 440 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 22.2% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีสินค้ากลุ่มเกษตรที่แม้มูลค่าการส่งออกจะอยู่เพียง 71-100 ล้านดอลลาร์ แต่กลับมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดกัมพูชาสูงอย่างชัดเจน อาทิ ปุ๋ย (39.3%) สัตว์มีชีวิต (29.2%) ผ้าผืน (19.9%) และผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ น้ำผึ้ง (19.0%) ซึ่งบ่งชี้ถึงบทบาทของกัมพูชาในฐานะตลาด “หลัก” สำหรับสินค้าไทยบางประเภท
ด้านแรงงาน ประเทศไทยเองก็พึ่งพาแรงงานจากกัมพูชาจำนวนระหว่าง 0.5-1.5 ล้านคน เพื่อทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลนในภาคเกษตรกรรม ก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต จึงกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมีลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน แต่ในเชิงโครงสร้างแล้ว กลับมีความไม่สมดุล
หากเกิดความขัดแย้งทางการเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างฉับพลัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไทยอาจอยู่ในวงจำกัด การส่งออกไปยังกัมพูชามีสัดส่วนเพียง 3% ของการส่งออกทั้งหมด แม้อาจกระทบแรงงานไทยที่จ้างแรงงานต่างชาติระหว่าง 1.2-2 ล้านคน แต่โดยรวมแล้วไทยมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่า
ในทางกลับกัน กัมพูชาจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าอย่างชัดเจน ทั้งในแง่การสูญเสียรายได้จากแรงงาน การขาดแคลนสินค้าจำเป็น และการสะดุดของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา หากเส้นทางขนส่งบริเวณชายแดนเกิดปัญหา จะไม่เพียงกระทบรายได้จากฝั่งไทยเท่านั้น แต่ยังซ้ำเติมปัญหาพลังงานและการบริโภคภายในกัมพูชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้โครงสร้างความเชื่อมโยงที่เปราะบางนี้ กัมพูชาจึงมีความเสี่ยงต่อการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจในระดับสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับไทย.
ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะไม่ได้พึ่งพิงการค้ากับกัมพูชามากนัก (คิดเป็นเพียง 3% ของการส่งออกทั้งหมด) แต่หากเกิดการปิดด่านเต็มรูปแบบ กระทบในระดับภาคส่วนจะเกิดขึ้นทันที โดยเฉพาะต่อแรงงานชายแดน ผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร-ค้าปลีก ที่ใช้กัมพูชาเป็นตลาดระบายสินค้าและพื้นที่ห่วงโซ่อุปทาน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยระบุว่าไทยมีการค้าผ่านแดนกับกัมพูชาผ่านจุดผ่านแดนถาวรหลัก 5 แห่ง ได้แก่ ด่านอรัญประเทศ คลองใหญ่ ช่องจอม จันทบุรี และช่องสะงัม หากสถานการณ์ยกระดับจนต้องปิดด่านทั้งหมด อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทยประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อเดือน และหากยืดเยื้อถึงสิ้นปี 2568 มูลค่าความเสียหายอาจรวมสูงถึง 55,000 ล้านบาท
แม้การค้าผ่านด่านชายแดนจะเป็นการค้าทางบกเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้ง ผู้ประกอบการได้เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าบางส่วนไปสู่การส่งออกทางอากาศและทางเรือ ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบด้านมูลค่าการค้าได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นายธนวรรธน์เตือนว่า สถานการณ์ควรได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อขณะนี้รัฐบาลไทยได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาและลดระดับความสัมพันธ์ลงแล้ว
ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ประเมินผลกระทบจากการปิดด่าน 5 แห่งใน 3 กรณี ได้แก่
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดน ส่งผลให้ทั้งกำลังพลและประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ กระทบต่อความเชื่อมั่น ตลอดจนกิจกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หอการค้าไทยจึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างรอบคอบ และเร่งคลี่คลายสถานการณ์ เพื่อรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคง และความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน
ในด้านนโยบายการค้า หอการค้าไทยยืนยันว่า ฝ่ายไทยยังไม่มีนโยบายปิดกั้นการค้าชายแดน แต่สถานการณ์ความรุนแรงและมาตรการด้านความมั่นคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งหากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เชื่อว่าการค้าและการลงทุนจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า การค้าชายแดนไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.–มิ.ย.) การส่งออกไปมาเลเซียมีมูลค่าสูงสุดที่ 6,434 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.4% รองลงมาคือกัมพูชา 5,123 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12.4% ตามด้วย สปป.ลาว และเมียนมา
เขาระบุเพิ่มเติมว่า เหตุความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาจะกระทบเฉพาะการค้าชายแดนกับกัมพูชาเท่านั้น โดยไม่ส่งผลต่อการค้าชายแดนกับเมียนมา ลาว และมาเลเซีย และไม่กระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยในเชิงกว้าง ส่วนการค้าผ่านแดนที่เป็นการส่งสินค้าจากไทยไปยังประเทศที่สาม เช่น จีน ก็ยังดำเนินการได้ตามปกติ เนื่องจากใช้เส้นทางผ่านลาวและเวียดนามเป็นหลัก มิได้พึ่งพาช่องทางผ่านกัมพูชาแต่อย่างใด