หลังจากที่กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด งัดกฎอัยการศึกประกาศใช้ในบางเขตพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี เฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอท่าใหม่ อำเภอมะขาม อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอแก่งหางแมว อำเภอนายายอาม และอำเภอเขาคิชฌกูฏ และจังหวัดตราด เฉพาะพื้นที่อำเภอเขาสมิง
หลังกัมพูชาใช้กำลังและอาวุธรุกรานเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตลอดแนวชายแดน จึงมีความจำเป็นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่ต้องใช้กำลังทหาร ตำรวจ พลเรือน ตลอดจนประชาชนชาวไทยทุกคน เพื่อป้องกันประเทศให้พ้นจากภัยคุกคามอันมีที่มาจากภายนอกราชอาณาจักร เพื่อรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทย
สำหรับ "กฎอัยการศึก" เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน สำหรับกฎอัยการศึกของไทยในปัจจุบันถูกตราเป็นกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.บ.กฎอัยการศึกษา พ.ศ. 2457 มีการแก้ไขมาแล้ว 5 ครั้ง ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2502
10 ข้อที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับกฎอัยการศึก
1. การประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาทหาร (เฉพาะภายใต้เงื่อนไขเมื่อมีสงคราม หรือจลาจลเกิดขึ้น) และต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด
2. กรณีที่การประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ได้ประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร การประกาศใช้กฎอัยการศึกจะต้องประกาศแสดงให้ปรากฎว่าจะใช้กฎอัยการศึกใน ตำบลใด หรือเขตใด และการที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใด หมายถึง การยกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ หรือทั่วราชอาณาจักร จะต้องมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการสั่งเสมอ
3. อำนาจทหาร ในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจะมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนทุกตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องมีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายหทารในการระงับปราบปรามหรือรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงมีอำนาจเต็มที่ในการตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะเข้าอาศัย ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่และที่จะขับไล่
4. ประชาชนที่ได้กระทำความผิดในคดีอาญาในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก ต้องพิจารณาพิพากษาในศาลทหาร ส่วนศาลพลเรือนจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ตกค้างอยู่ก่อนประกาศใช้กฎอัยการศึก
5. การเกณฑ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการเพื่อป้องกันราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหาร รวมถึงการเกณฑ์ยวดยาน สัตว์พาหนะ เสียงอาหาร เครื่องศาตราวุธ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้น
6. การห้าม เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้ เช่น ห้ามมิให้มั่วสุมชุมนุมกัน ห้ามออกหนังสือข่าว ห้ามมิให้พลเมืองสัญจรไปมา ห้ามมิให้พลเมืองใช้ศาตราวุธบางอย่าง ซึ่งราชการทหารเห็นว่าขัดกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตนั้นๆ
7. การยึด กรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็นที่จะยึดชั่วคราว เพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหารก็มีอำนาจยึดได้
8. การเข้าอาศัย เป็นอำนาจในการเข้าพักอาศัยในที่ใดๆ ได้ทุกแห่งซึ่งราชการทหารเห็นจำเป็นจะใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหาร
9. การทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ ให้มีอำนาจกระทำได้ เช่น อำนาจที่จะเผาบ้าน และสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ศัตรู หรือทำลายสิ่งที่อยู่ในการสู้รบสามารถทำลายได้ทั้งสิ้น รวมถึงการมีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้าน เพื่อสำหรับการต่อสู้กับศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง
10. การขับไล่ เมื่อมีเหตุอันความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือจำเป็นแล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจขับไล่ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราวให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้
ขอบคุณข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า
Advertisement