23 พฤษภาคม 2568 รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ออกคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์การรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้ฮาร์วาร์ดรับนักศึกษาต่างชาติใหม่ และกำหนดให้นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบันต้องย้ายสถานศึกษา มิเช่นนั้นจะถูกยกเลิกสถานะวีซ่าทันที
แถลงดังกล่าวประกาศโดยคริสตี โนม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS) ระบุว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกใบรับรอง Student and Exchange Visitor Program (SEVP) โดยอ้างว่า ฮาร์วาร์ดสนับสนุนความรุนแรง หนุนลัทธิต่อต้านชาวยิว และมีการร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน
รอยร้าวระหว่างฮาร์วาร์ดและรัฐบาลสหรัฐฯ บาดลึกขึ้นหลังจากทรัมป์ก้าวขึ้นตำแหน่งได้ไม่นาน ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะปราบปรามการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ และต่อสู้กับขบวนต่อต้านชาวยิว รวมทั้งโครงการด้านความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม (DEI) รวมถึงแนวคิดตื่นรู้ (woke ideology) โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเริ่มการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ในสหรัฐฯ คือหนึ่งในเป้าหมายครั้งนี้
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (DOJ) ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษขึ้นเพื่อตรวจสอบและ “ขจัดการคุกคามต่อต้านชาวยิวในโรงเรียนและวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย”
ต่อมา หน่วยปฏิบัติการดังกล่าวประกาศว่าจะลงพื้นที่ตรวจสอบมหาวิทยาลัย 10 แห่ง โดยระบุว่า “รับทราบข้อกล่าวหาว่าสถาบันเหล่านี้อาจล้มเหลวในการปกป้องนักศึกษาและคณาจารย์ชาวยิวจากการเลือกปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายของรัฐบาลกลาง” ฮาร์วาร์ดคือหนึ่งใน 10 มหาวิทยาลัยที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งอย่างแน่นอน
10 มหาวิทยาลัยประกอบไปด้วย: มหาวิทยาลัยที่อยู่ในข่ายประกอบด้วย ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา และมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย
ต้นเดือนมีนาคม ทรัมป์ตัดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลางจำนวน 400 ล้านดอลลาร์ให้กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พร้อมกล่าวหาว่าสถาบันแห่งนี้ “เพิกเฉยต่อการคุกคามนักศึกษาชาวยิวอย่างต่อเนื่อง” และเตือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมทั้งฮาร์วาร์ดว่าอาจพบกับชะตากรรมเดียวกัน
มหาวิทยาลัยโคลัมเบียยอมโอนอ่อนและทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลทรัมป์ แต่ฮาร์วาร์ดไม่ทำเช่นนั้น หลังได้รับจดหมายจากรัฐบาลชี้ว่าฮาร์วาร์ด “ล้มเหลวในการปฏิบัติตามทั้งเงื่อนไขทางปัญญาและสิทธิมนุษยชนที่เป็นเหตุผลในการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง” รวมทั้งข้อเรียกร้องหลายประการ อาทิ การปรับโครงสร้างบริหาร ปฏิรูปกระบวนการรับนักศึกษา ปฏิเสธนักเรียนที่สหรัฐฯ มองว่า “เป็นภัยต่อคุณค่าและสถาบันของอเมริกา” ยกเลิกโครงการด้านความหลากหลาย และตรวจสอบโปรแกรมและศูนย์วิชาการหลายแห่ง
ประธานมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ลอว์เรนซ์ บาคาว ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยเขียนว่า “มหาวิทยาลัยจะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจภายนอกหรือสละสิทธิตามรัฐธรรมนูญของตน”
การแข็งข้อต่อรัฐบาลฯ ทำให้ฮาร์วาร์ดถูกตัดงบประมาณสนับสนุนทันที ทั้งเงินทุนแบบหลายปีจำนวน 2,200 ล้านดอลลาร์ และสัญญาว่าจ้างแบบหลายปีอีก 60 ล้านดอลลาร์ และถูกขู่เพิกถอนสถานะยกเว้นภาษี และถูกจัดเก็บภาษีในฐานะองค์กรทางการเมือง
ต่อมา DHS วันที่ 16 เมษายน เรียกร้องให้ฮาร์วาร์ดส่งมอบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ “กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและรุนแรง” ของนักศึกษาต่างชาติ พร้อมขู่จะเพิกถอนการรับรองภายใต้โครงการนักศึกษาและผู้แลกเปลี่ยน (SEVP) ซึ่งเป็นใบรับรองที่จำเป็นสำหรับการรับนักศึกษาต่างชาติ Noem กำหนดเส้นตายไว้ที่วันที่ 30 เมษาย
ต่อมา 5 วัน (21 เมษายน 2025) ฮาร์วาร์ดยื่นฟ้องรัฐบาลทรัมป์ โดยกล่าวหาว่ามีการละเมิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่หนึ่ง (First Amendment) ด้วยการตัดงบอย่าง “ไร้เหตุผลและตามอำเภอใจ” เมื่อถึงเดดไลน์วันที่ 30 เมษายน ฮาร์วาร์ดชี้แจงว่าส่งมอบข้อมูลนักศึกษาต่างชาติแล้ว แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียด
เดือนพฤษภาคม ทรัมป์ขู่จะตัดสถานะยกเว้นภาษีของฮาร์วาร์ดอีกครั้ง และจะตัดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลางทั้งหมด
ความบาดหมางในช่วงเดือนหลังนำมาสู่การเดินหมากสุดท้ายของรัฐบาลสหรัฐฯ นั่นคือเพิกถอนสิทธิ์รับนักศึกษาต่างชาติ ผ่านใบรับรอง Student and Exchange Visitor Program (SEVP) และการเพิกถอนครั้งนี้ส่งผลอย่างไร
ฮาร์วาร์ดมีนักศึกษาต่างชาติราว 6,800 คน หรือราว 27% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด การยกเลิกสิทธิ์การรับนักเรียนของฮาร์วาร์ดครั้งนี้จะกระทบต่อแผนการเรียนของพวกเขา การขอวีซ่า รวมถึงอนาคตระยะยาวในสหรัฐฯ นอกจากนี้ผู้ถือวีซ่า OPT (Optional Practical Training) และ STEM OPT ที่จบจากฮาร์วาร์ด ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
ข้อมูลจากศูนย์นิสกาเนน (Niskanen Center) ณ ปี 2024 ฮาร์วาร์ดเป็นผู้สนับสนุนวีซ่าให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ OPT จำนวน 1,856 ราย และ STEM OPT อีก 576 ราย ตามแถลงล่าสุด วีซ่าทั้งสองประเภทมีกำหนดสิ้นสุดสถานะตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2025 เป็นต้นไป
รายงานจาก BBC ชี้ว่า
เกิดความหวาดกลัวและความไม่พอใจในหมู่นักศึกษาต่างชาติจำนวนมาก
“เราเห็นความสับสนมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้” ซาราห์ เดวิส นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาชาวออสเตรเลีย กล่าวกับ BBC
ด้านเดวิส ประธานกลุ่ม Australia and New Zealand Caucus ที่ Harvard Kennedy School กล่าวว่า “ข่าวนี้ประกาศออกมาเพียงวันก่อนที่พวกเราหลายคนจะสำเร็จการศึกษา มีการตีความอย่างไม่แน่นอนไปมากมายว่าเราจะได้อยู่ในสหรัฐฯ ต่อจากนี้ และได้ทำงานต่อที่นี่หรือไม่ [...] เราจะรอดูว่ามหาวิทยาลัยจะสื่อสารกับเราอย่างไร ว่าต่อไปควรทำอย่างไร”
ลีโอ เกอร์เดน นักศึกษาปริญญาตรีวัย 22 ปีจากสวีเดนเล่าว่า วันที่เขาได้จดหมายตอบรับจากฮาร์วาร์ดคือวันที่เขาดีใจที่สุดในชีวิต และไม่คิดเลยว่าช่วงเวลาก่อนจบมหาวิทยาลัยของเขาจะเป็นเช่นนี้
“นักศึกษาต่างชาติกำลังถูกใช้เป็นหมากในศึกระหว่างทำเนียบขาวกับฮาร์วาร์ด ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราอย่างมาก” เกอร์เดนกล่าวกับ BBC
ภาคแรงงานสหรัฐฯ เป็นอีกภาคส่วนที่ได้รับลูกหลงจากศึกระหว่างฮาร์วาร์ดและรัฐบาล มีธุรกิจและนายจ้างจำนวนมาก พึ่งพาบัณฑิตต่างชาติในสาขาที่มีความต้องการสูง เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM)
ยิ่งถ้ามาตรการแบบเดียวกันถูกนำไปปรับใช้กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วประเทศ สหรัฐฯ อาจเผชิญกับความไม่ต่อเนื่องในสายการผลิตแรงงานระดับโลกอย่างมาก บริษัทอาจสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงบุคลากรที่มีทักษะสูงจากหลากหลายภูมิหลังที่จำเป็นต่อการแข่งขัน
ผลกระทบเกิดกว้างกว่าภาคการศึกษา ตามข้อมูลล่าสุดจาก NAFSA (สมาคมเพื่อการศึกษานานาชาติ) สหรัฐฯ มีนักเรียนต่างชาติ 1.1 ล้านคนในปีการศึกษา 2023–2024 สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 43.8 พันล้านดอลลาร์ และสนับสนุนการจ้างงานชาวอเมริกันกว่า 378,000 ตำแหน่ง
รายได้เหล่านั้นมาจากค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าการเดินทาง และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอื่นๆ ที่นักศึกษาต่างชาตินำมาสู่สหรัฐฯ แต่หากสหรัฐฯ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของนักเรียนต่างชาติอีกต่อไป มูลค่าทางเศรษฐกิจเหล่านั้น รวมถึงสถานะผู้นำด้านการศึกษาและการวิจัย อาจเปลี่ยนทิศไปหาประเทศอื่นที่มีเงื่อนไขเหมาะสมกว่า
หลัง DHS ประกาศการเพิกถอนสิทธิ์การรับนักศึกษาต่างชาติได้ไม่นาน ฮาร์วาร์ดตอบกลับว่า
“เรามุ่งมั่นรักษาความสามารถของฮาร์วาร์ดในการต้อนรับนักศึกษาและนักวิชาการต่างชาติ จากมากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก และช่วยเติมเต็มคุณค่าให้กับมหาวิทยาลัย – และกับประเทศนี้ – อย่างหาที่เปรียบไม่ได้”