Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สำรวจราคาข้าวโลกพุ่งแรง ข้าวแพงหรือไม่ เทียบค่าแรงขั้นต่ำ 10 ประเทศ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

สำรวจราคาข้าวโลกพุ่งแรง ข้าวแพงหรือไม่ เทียบค่าแรงขั้นต่ำ 10 ประเทศ

22 พ.ค. 68
18:27 น.
แชร์

ญี่ปุ่นกำลังโดนพิษราคาข้าวพุ่งแรงเกิน 2 เท่าตั้งแต่ปี 2024 จนถึงปัจจุบัน วิกฤตราคาข้าวยังแพงขึ้นต่อเนื่อง ไปพร้อม ๆ กับสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นทั้งหลาย ด้วยภาวะเงินเฟ้อที่เร่งอัตราสูงสุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมกับปัญหาเกษตรกรท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ทำนาข้าวเล็ก ๆ สามารถผลิตข้าวได้น้อยลง สวนทางกับความต้องการบริโภคข้าวของคนญี่ปุ่น ที่มองว่าข้าวในประเทศมีคุณภาพกว่าข้าวนำเข้า 

ยังไม่นับรวมปัญหาภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเศรษฐกิจการค้าโลกที่ผันผวน จึงทำให้ปัจจุบัน ราคาข้าวพันธุ์มาตรฐานของญี่ปุ่น มีราคาอยู่ที่ 4,268 เยน หรือประมาณ 970 บาท เพิ่มขึ้น 12 บาทภายในสัปดาห์เดียว และขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น ที่กำลงเจอวิกฤตข้าวแพง ในประเทศที่บริโภคข้าวปริมาณมาก ๆ อย่าง จีน อินเดีย รวมถึงไทยและหลายประเทศในอาเซียน ก็ได้รับแรงกระแทกเช่นกัน

Spotlight ชวนสำรวจราคาข้าวของ 10 ประเทศที่บริโภคข้าวปริมาณมากที่สุดในโลก โดยหยิบราคาข้าวพันธุ์พื้นฐานโดยเฉลี่ย นำมาเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ ของประเทศเหล่านั้น พวกเขาจะต้องทำงานกี่ชั่วโมง หรือ กี่นาที จึงจะสามารถซื้อข้าวราคามาตรฐานได้

สำรวจประเทศ ‘กินข้าว’

ทำงานแลกค่าแรงขั้นต่ำเท่าไร ได้ข้าว 1 กิโลกรัม

ทั้งนี้ จากตารางดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่า หากเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ ราคาข้าวในญี่ปุ่นยังนับว่าไม่แรงมาก เทียบเท่ากับเมียนมาที่แรงงานต้องทำงานนานถึง 4 ชั่วโมง 32 นาที จึงจะสามารถซื้อข้าวสาร 1 กิโลกรัมได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเมียนมาเพิ่งเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวมัณฑเลย์ครั้งใหญ่ ไม่นับรวมกับสงครามภายในประเทศ ที่รัฐบาลทหารพยายามปราบปรามชนกลุ่มน้อยมาต่อเนื่องหลายปี ภาวะข้าวยากหมากแพงในเมียนมาจึงทำให้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ขยับขึ้น ส่วนราคาสินค้าก็พุ่งสูงขึ้นสวนทางกัน

ขณะที่บังกลาเทศเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และข้าวเป็นอาหารหลักของประชากร แต่ประเทศนี้มักเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติสูง เช่น น้ำท่วมและพายุไซโคลน ซึ่งมักสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อผลผลิตข้าว ในปีที่แล้ว เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายไปถึง 1.1 ล้านตัน ทำให้ต้องเร่งนำเข้าข้าวเพื่อชดเชย และราคาข้าวก็สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนอินโดนีเซียประสบปัญหาภัยแล้งและเอลนีโญ จึงต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ในปีที่แล้ว เอลนีโญ ทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวจะล่าช้าออกไปจากเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ทำให้ข้าวไม่เพียงพอต่อผู้บริโภคในประเทศ แม้ว่าอินโดนีเซียจะพยายามรักษาสต็อกข้าวของรัฐบาล (CBP) ให้เพียงพอ แต่ปัญหาการผลิตที่ลดลงทำให้สต็อกลดลงเช่นกัน ทำให้ต้องเร่งนำเข้าเพื่อเติมเต็มอีก

เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ก็เจอปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตข้าว เพราะทำให้เกิดความแห้งแล้งและฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ส่งผลให้การเพาะปลูกล่าช้าและปริมาณผลผลิตข้าวภายในประเทศลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ อินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ประกาศจำกัดการส่งออกข้าวบางประเภทเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดข้าวโลก ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น และกระทบโดยตรงต่อฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่

สำหรับประเทศไทย เผชิญวิกฤตในเรื่องการแข่งขันการส่งออกข้าวมากกว่าปัญหาควบคุมราคาข้าวในประเทศ ในปีที่แล้ว ประเทศไทยมีปริมาณน้ำเพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวในประเทศสูงขึ้นแต่ในขณะเดียวกัน ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ โดยเฉพาะเวียดนามเร่งขยายตลาดส่งออก ทำให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น  ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และส่งผลกดดันราคาข้าวไทยให้ลดต่ำลง




แชร์
สำรวจราคาข้าวโลกพุ่งแรง ข้าวแพงหรือไม่ เทียบค่าแรงขั้นต่ำ 10 ประเทศ