Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดระบบเศรษฐกิจ 'นครวาติกัน' รัฐที่เล็กที่สุดในโลกสร้างรายได้อย่างไร?
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เปิดระบบเศรษฐกิจ 'นครวาติกัน' รัฐที่เล็กที่สุดในโลกสร้างรายได้อย่างไร?

22 เม.ย. 68
18:00 น.
แชร์

แม้จะเป็นรัฐอธิปไตยที่เล็กที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่เพียง 110 เอเคอร์และประชากรไม่ถึง 1,000 คน แต่ ‘นครรัฐวาติกัน’ กลับมีอิทธิพลอย่างล้นหลาม ทั้งในมิติศาสนา วัฒนธรรม และเศรษฐกิจระดับโลก วาติกันเปรียบเสมือนหัวใจของคริสตจักรคาทอลิก ซึ่งมีผู้นับถือมากกว่า 1.3 พันล้านคนทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของระบบการเงินที่ทั้งซับซ้อนและลึกลับ ซึ่งสืบทอดมาอย่างยาวนานนับศตวรรษ

แม้คนทั่วไปจะจดจำวาติกันในฐานะศูนย์รวมแห่งศรัทธาและจิตวิญญาณ แต่ในอีกด้านหนึ่ง วาติกันคือผู้มีบทบาทสำคัญในระบบการเงินโลก ด้วยเครือข่ายการลงทุนที่แผ่ขยายไปในธุรกิจธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และกิจการเอกชนระดับนานาชาติ ทว่ากลไกเบื้องหลังทางการเงินของวาติกันกลับถูกเก็บเป็นความลับมาโดยตลอด ส่งผลให้เศรษฐกิจของที่นี่กลายเป็นหนึ่งในระบบที่ไม่โปร่งใสและยากจะเข้าถึงที่สุดในโลก และยังเป็นที่จับตามองของนักวิเคราะห์การเงิน หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ศรัทธาเอง

โครงสร้างการบริหารทางเศรษฐกิจของวาติกัน

ในการทำความเข้าใจระบบเศรษฐกิจของวาติกัน ผู้อ่านจำเป็นต้องแยกแยะ "นครรัฐวาติกัน" (Vatican City State) ซึ่งเป็นรัฐอิสระที่มีพื้นที่และประชากรจำกัด กับ "สันตะสำนัก" (Holy See) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอำนาจทางศาสนา การเมือง และการเงินของศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลก ออกจากกัน

ปัจจุบัน สันตะสำนักมีบทบาทเป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการด้านการเงินทั้งหมดของศาสนจักร ไม่เพียงแต่ภายในวาติกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทรัพย์สินและการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีสถานะทางกฎหมายแยกต่างหากจากนครรัฐวาติกันอย่างชัดเจน การลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศหรือสัญญาทางเศรษฐกิจใดๆ จึงมักกระทำในนามของสันตะสำนัก ไม่ใช่ตัวนครรัฐ

นักวิเคราะห์การเงินคาดการณ์ว่า วาติกันมีความมั่งคั่งอยู่ระหว่าง 10,000 ล้านถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนั้น มาจากมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อิตาลีเพียงอย่างเดียวถึง 1,600 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 15% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดอิตาลี

ปัจจุบัน วาติกันมีการลงทุนขนาดใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ธนาคาร ประกันภัย เคมีภัณฑ์ เหล็กกล้า ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ และรายได้จากเงินปันผลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายของวาติกัน รวมถึงกิจกรรมการกุศล

นอกจากนี้ แม้ว่าจะไม่มีการประกาศตัวเลข GDP อย่างเป็นทางการ แต่นักวิจัยได้ประเมินว่า GDP ต่อหัวของวาติกันอยู่ที่ราว 21,198 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งนับว่าสูงติดอันดับที่ 18 ของโลก ตัวเลขนี้สะท้อนผลของโครงสร้างประชากรที่มีเพียงไม่กี่ร้อยคน และเกือบทั้งหมดได้รับการว่าจ้างโดยสันตะสำนัก ส่งผลให้แทบไม่พบปัญหาความยากจนในประเทศนี้เลย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งนี้ก็กลับกลายเป็นจุดอ่อนได้ หากแหล่งรายได้หลักของวาติกันถูกกระทบ

เศรษฐกิจของวาติกันพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว การถือครองโลหะมีค่า เช่น ทองคำ รวมถึงการลงทุนในศิลปวัตถุและอสังหาริมทรัพย์ทางศาสนาเป็นหลัก ความพึ่งพาเชิงเดี่ยวเหล่านี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจของวาติกันมีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต เช่น วิกฤตโควิด-19 ที่การท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ลดลงถึง 75% ภายในปีเดียว คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สันตะสำนักต้องปรับลดเงินเดือนของพระคาร์ดินัล บาทหลวง และแม่ชีลง 10% เพื่อลดภาระงบประมาณ

แหล่งรายได้ของสันตะสำนักและนครวาติกัน

เนื่องจากระบบการเงินของนครรัฐวาติกันมีลักษณะเป็นความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างชัดเจน ตัวเลขรายรับและรายจ่ายของสันตะสำนัก ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของวาติกันและคริสตจักรคาทอลิก จึงมักอ้างอิงจากการวิเคราะห์ย้อนหลัง แบบจำลองทางเศรษฐกิจ และข้อมูลที่เผยแพร่จากหน่วยงานเฉพาะทางเท่านั้น

รายงานโดย America: The Jesuit Review ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในแวดวงศาสนาและเศรษฐกิจโลก ได้เปิดเผยว่า รายได้ของสันตะสำนักแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่

1. รายได้จากการลงทุนเชิงพาณิชย์และบริการภายในองค์กร

แหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของสันตะสำนักคือรายได้จากการลงทุนและการบริหารองค์กรภายในคริสตจักร ซึ่งในปี 2022 คิดเป็นประมาณ 65% ของรายได้รวมทั้งสิ้น 887 ล้านดอลลาร์ รายได้กลุ่มนี้เกิดจากการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ เช่น หุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงรายได้จากหน่วยงานที่คริสตจักรคาทอลิกดำเนินงานเอง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หรือสถาบันศาสนาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รายได้เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภารกิจด้านศาสนา การศึกษา และงานสังคมสงเคราะห์ของวาติกันอย่างต่อเนื่อง

นอกจากจะเป็นแหล่งรายได้หลักแล้ว การลงทุนของสันตะสำนักยังสะท้อนอิทธิพลของวาติกันในฐานะ “นักลงทุนระดับโลก” ที่มีบทบาทในหลากหลายภาคส่วน โดยยึดหลักการลงทุนแบบ “ศรัทธานำทาง” (faith-based investing) ซึ่งหลีกเลี่ยงการลงทุนในกิจการที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนของคริสตจักร เช่น อุตสาหกรรมอาวุธ การพนัน การทำแท้ง ยาคุมกำเนิด หรือธุรกิจที่เอื้อการแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่ขัดต่อหลักศีลธรรม อีกทั้งยังมีแนวปฏิบัติไม่ถือหุ้นเกิน 6% ต่อบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงการมีอำนาจควบคุมในกิจการใดโดยตรง

ในอดีต การลงทุนของวาติกันส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในอิตาลีและบริษัทท้องถิ่น แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีการกระจายพอร์ตการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก ตลาดหุ้นนิวยอร์ก และอสังหาริมทรัพย์ในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินของสันตะสำนักให้มากขึ้นในระยะยาว

2. เงินบริจาคแบบระบุวัตถุประสงค์ (Itemized Donations)

เงินบริจาคแบบระบุวัตถุประสงค์คิดเป็น 24% ของรายได้ทั้งหมดของสันตะสำนักในปี 2022 เงินบริจาคกลุ่มนี้จะถูกส่งไปยังโครงการหรือหน่วยงานเฉพาะ เช่น งานด้านสาธารณสุข การศึกษา การช่วยเหลือผู้อพยพ และภารกิจเผยแผ่ศาสนาในพื้นที่ด้อยโอกาสทั่วโลก จุดเด่นของเงินบริจาคลักษณะนี้คือผู้บริจาคสามารถเลือกสนับสนุนกิจกรรมที่ตนสนใจโดยตรง

3. Peter’s Pence สัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีต่อพระสันตะปาปา

Peter’s Pence หรือ “เงินของนักบุญเปโตร” เป็นการบริจาคพิเศษที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 โดยคริสตชนทั่วโลกส่งมอบให้กับพระสันตะปาปาโดยตรง ผ่านกลไกเฉพาะของวาติกัน แม้จะคิดเป็นเพียง 6% ของรายได้ทั้งหมด แต่ Peter’s Pence ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความผูกพันและการสนับสนุนจากผู้ศรัทธาทั่วโลกต่อสันตะสำนัก

4. รายได้จากการท่องเที่ยวและธนาคารวาติกัน

อีกหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญของนครวาติกันคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้จำนวนมากจากค่าธรรมเนียมเข้าชมสถานที่สำคัญ เช่น พิพิธภัณฑ์วาติกัน โบสถ์ซิสทีน และมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายเหรียญสะสม แสตมป์ และสิ่งพิมพ์ทางศาสนา รายได้ทั้งหมดในหมวดนี้ เมื่อนำมารวมกับผลประกอบการของธนาคารวาติกัน หรือ IOR (Institute for the Works of Religion) คิดเป็นประมาณ 5% ของรายได้รวมของประเทศ

สินค้าชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสูงคือ “เหรียญวาติกัน” ซึ่งแม้จะผลิตในปริมาณจำกัด แต่กลับเป็นที่ต้องการในหมู่นักสะสมทั่วโลก เหรียญเหล่านี้มีสถานะเทียบเท่ายูโรในด้านมูลค่า แต่ราคาจำหน่ายจริงมักสูงกว่ามาก โดยเฉพาะเหรียญที่มีภาพพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันหรืออดีตซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยและความศรัทธา

เบื้องหลังของเหรียญวาติกันยังสะท้อนบริบททางการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากวาติกันไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป จึงไม่มีสิทธิ์ใช้เงินยูโรอย่างเป็นทางการ เหตุผลหลักที่ถูกปฏิเสธคือรูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีพระสันตะปาปาเป็นประมุข ซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปไตยที่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของการเป็นสมาชิกสหภาพฯ 

อย่างไรก็ตาม จากการทำข้อตกลงพิเศษกับอิตาลี วาติกันจึงสามารถผลิตเหรียญที่มีมูลค่าเทียบเท่ายูโรได้ โดยถือเป็นหนึ่งในกรณียกเว้นทางการเงินที่สะท้อนความพิเศษของประเทศนี้อย่างชัดเจน

โครงสร้างรายได้ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าวาติกันมิได้ดำรงอยู่เพียงในมิติศรัทธาเท่านั้น หากแต่เป็นผู้ดำเนินบทบาททางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในระดับโลก ทั้งผ่านการลงทุน การบริหารจัดการองค์กร และเครือข่ายศรัทธาที่ครอบคลุมทั่วทุกมุมโลก

หน่วยงานหลักในการบริหารและควบคุมการเงินของนครรัฐวาติกัน

แม้พระสันตะปาปาจะทรงมีอำนาจสูงสุดในด้านการเงินและการบริหารของนครรัฐวาติกัน แต่ในทางปฏิบัติ การจัดการด้านการเงินทั้งหมดได้ถูกมอบหมายให้กับหน่วยงานหลักหลายแห่งที่มีบทบาทเฉพาะด้าน และดำเนินการภายใต้กรอบการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกเพื่อสร้างความโปร่งใสและลดข้อครหาด้านการใช้จ่ายงบประมาณ โดยหน่วยงานสำคัญประกอบด้วย

1. ฝ่ายบริหารทรัพย์สินของสันตะสำนัก (Administration of the Patrimony of the Apostolic See: APSA)

ฝ่ายบริหารทรัพย์สินของสันตะสำนัก เป็นหน่วยงานด้านการเงินหลักของสันตะสำนัก มีหน้าที่ดูแลจัดการทรัพย์สินและเงินทุนของสันตะสำนัก เพื่อสนับสนุนภารกิจทางศาสนาและการดำเนินงานขององค์กรคาทอลิกทั่วโลก APSA ทำหน้าที่เปรียบเสมือน “คลัง” และ “ธนาคารกลาง” ของนครรัฐวาติกันและสันตะสำนัก

รายได้ที่เกิดจากการบริหารสินทรัพย์ของ APSA มีส่วนสนับสนุนการดำเนินการของโรมันคูเรีย ซึ่งเป็นกลไกการบริหารของสันตะสำนัก และยังใช้เป็นทุนสนับสนุนภารกิจด้านศาสนา สังคม และการทูตของสันตะปาปา

2. สำนักเลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ และ สภาเศรษฐกิจ (Secretariat for the Economy (SFE) and Council for the Economy (CFE))

สำนักเลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ และสภาเศรษฐกิจ มีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการด้านการเงินของสันตะสำนัก เปรียบเสมือนหน่วยงานกำกับดูแลการเงินของวาติกัน

โดย SFE เป็นหน่วยงานฝ่ายบริหารที่ดูแลการดำเนินงานด้านการเงินในชีวิตประจำวันของสันตะสำนัก ขณะที่ CFE มีหน้าที่ให้คำแนะนำด้านนโยบายและตรวจสอบการทำงานของ SFE 

3. สำนักงานเลขาธิการแห่งรัฐวาติกัน (Secretariat of State)

สำนักงานเลขาธิการแห่งรัฐวาติกัน เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เก่าแก่และมีอำนาจกว้างขวางที่สุดในวาติกัน ทำหน้าที่ด้านการเมืองและการทูตของสันตะสำนัก และนครรัฐวาติกัน โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการบริหารจัดการของศาสนจักรคาทอลิกในระดับโลก

หนึ่งในหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเงินของประเทศ คือการดูแลจัดการและกระจายเงินบริจาค Peter’s Pence ซึ่งถือเป็นเงินที่ผู้ศรัทธาทั่วโลกบริจาคให้แก่พระสันตะปาปาโดยตรง เพื่อใช้ในภารกิจด้านการกุศลและการทูตของวาติกัน

4. ธนาคารวาติกัน (Institute for the Works of Religion: IOR)

Institute for the Works of Religion (IOR) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "ธนาคารวาติกัน" ก่อตั้งในปี 1942 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินขององค์กรศาสนาและลูกค้ารายบุคคลภายในเครือคริสตจักรทั่วโลก โดยในปี 2017 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารมากกว่า 5.6 พันล้านดอลลาร์ และมีลูกค้ากว่า 15,000 ราย

แต่แม้ธนาคารวาติกันจะมีลักษณะคล้ายธนาคารทั่วไป คือมีการดูแลบัญชีของลูกค้า การบริหารการลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ ธนาคารวาติกันก็มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ เช่น การไม่ให้กู้ยืมเงิน และไม่จ่ายดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝาก

ปัจจุบัน ธนาคารวาติกันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหาร (Board of Superintendence) ซึ่งรายงานตรงต่อคณะคาร์ดินัลและสมเด็จพระสันตะปาปา

ปัญหาการเงิน กรณีอื้อฉาวทางการเงิน และแรงผลักดันสู่การปฏิรูป

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา วาติกันเผชิญกับปัญหาด้านการบริหารการเงินที่สะสมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะจากการขาดความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในหมู่ผู้นำศาสนา ซึ่งแม้จะมีเจตนาดีในการบริหารทรัพย์สินของคริสตจักร แต่กลับนำไปสู่ความเสี่ยง ความสูญเสีย และการใช้ทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพ 

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว วาติกันจึงเริ่มหันไปพึ่งพาผู้จัดการกองทุนมืออาชีพจากภายนอกในการบริหารเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องหรือเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวหลายกรณี โดยหนึ่งในคดีที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ “ดีลอพาร์ตเมนต์หรูในลอนดอน”

ในปี 2014 เจ้าหน้าที่วาติกันกลุ่มหนึ่งได้มอบเงินจำนวนมหาศาลถึง 350 ล้านยูโร ให้กับนายหน้าชาวอิตาเลียนนามว่า ราฟาเอล มินชิโอเน (Raffaele Mincione) เพื่อลงทุนในโครงการซื้ออพาร์ตเมนต์หรูบนถนนสโลนใจกลางกรุงลอนดอน จุดมุ่งหมายในตอนแรกคือเพื่อสร้างผลตอบแทนทางการเงินระยะยาวให้กับสันตะสำนัก อย่างไรก็ตาม ภายหลังการลงทุนเริ่มมีสัญญาณไม่โปร่งใส โดยในปี 2018 เจ้าหน้าที่วาติกันเริ่มสงสัยว่าถูกมินชิโอเนใช้แผนซับซ้อนในการปั่นราคาและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินจริง

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ วาติกันจึงหันไปพึ่งนายหน้าคนใหม่คือ เจียนลุยจิ ทอร์ซี (Gianluigi Torzi) ให้เข้ามาช่วยดำเนินการเข้าถือครองทรัพย์สินโดยสมบูรณ์ แต่กลับกลายเป็นว่าทอร์ซีใช้กลอุบายให้เจ้าหน้าที่ลงนามโอนสิทธิออกเสียงในทรัพย์สินให้ตนเอง ส่งผลให้วาติกันต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 15 ล้านยูโรเพื่อแลกกับการถอนตัวของทอร์ซีจากดีลดังกล่าวในภายหลัง สุดท้าย วาติกันจำเป็นต้องขายอพาร์ตเมนต์ให้กับ Bain Capital ในปี 2022 ที่ราคาขาดทุนรวมกว่า 170 ล้านดอลลาร์

แม้ฝ่ายบริหารทรัพย์สินของสันตะสำนัก (ASPA) จะออกมายืนยันว่าเงินที่ใช้ในดีลอสังหาริมทรัพย์ลอนดอนดังกล่าวไม่ได้มาจากเงินบริจาค Peter’s Pence โดยตรง แต่ผู้สังเกตการณ์หลายฝ่ายยังคงตั้งข้อสงสัยว่าเงินจำนวนดังกล่าวอาจรวมถึงเงินบริจาคจากปีก่อนหน้าที่ถูกโอนเข้ากองทุนรวม และนำมาใช้โดยไม่ได้ชี้แจงต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส ความไม่ชัดเจนนี้เองที่กลายเป็นชนวนให้เกิดแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกคริสตจักร ให้วาติกันปรับปรุงนโยบายด้านการเงิน เปิดเผยข้อมูลให้ตรวจสอบได้มากขึ้น และยกระดับมาตรฐานการบริหารทรัพย์สินให้อยู่ในระดับสากล

กรณีอื้อฉาวนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของวาติกันเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่นำไปสู่การปฏิรูปด้านการเงินครั้งใหญ่ภายใต้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงวาติกันจากองค์กรที่คลุมเครือ ให้กลายเป็นแบบอย่างของความรับผิดชอบ ความโปร่งใส และจริยธรรมในโลกศาสนาและการเงินร่วมสมัย โดยการปฏิรูปที่สำคัญมีดังนี้

1. ถอนอำนาจการควบคุมเงินลงทุนจากสำนักเลขาธิการแห่งรัฐ (Secretariat of State) และจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมการลงทุน

ในอดีต สำนักเลขาธิการแห่งรัฐมีอำนาจสูงในการบริหารและควบคุมเงินลงทุนขนาดใหญ่ของวาติกัน ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการใช้อำนาจเกินขอบเขตและปัญหาการจัดการที่ไม่โปร่งใส สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจึงมีคำสั่งให้โอนอำนาจในการบริหารกองทุนเหล่านี้ไปยังหน่วยงานอื่นที่มีความชัดเจนด้านการกำกับดูแลและตรวจสอบมากกว่า พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการลงทุนขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประเมินความเหมาะสมของพอร์ตการลงทุนทุกประเภท ทั้งในเชิงผลตอบแทน ความเสี่ยง และคุณค่าทางจริยธรรม

2. ออกนโยบายห้ามลงทุนในธุรกิจที่ขัดต่อหลักคำสอนของคริสตจักร

ภายใต้นโยบายใหม่ วาติกันจะไม่ลงทุนในกิจการที่ขัดกับหลักจริยธรรมของศาสนาคริสต์อย่างเด็ดขาด เช่น อุตสาหกรรมการพนัน อาวุธ หรือกิจการที่แสวงหาผลกำไรจากความรุนแรงและการเอารัดเอาเปรียบมนุษย์ นโยบายนี้ถือเป็นการประกาศจุดยืนด้านศีลธรรมที่ชัดเจนของสันตะสำนักในโลกการเงินสมัยใหม่

3. เพิ่มความโปร่งใสของข้อมูลการเงิน และเปิดรับการตรวจสอบจากภายนอก

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินประจำปีในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พร้อมเปิดรับการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก เช่น บริษัทบัญชีชั้นนำ (เช่น PwC) และหน่วยงานกำกับการฟอกเงินของยุโรป เช่น Moneyval โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน การจัดหาเงินให้กลุ่มผิดกฎหมาย และการทุจริตเชิงระบบ

การปฏิรูปเหล่านี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของวาติกันในด้านการเงินให้มีความทันสมัยและโปร่งใสมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความตั้งใจของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในการผนวกหลักศรัทธาเข้ากับหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง และวางรากฐานใหม่สำหรับการบริหารจัดการทางการเงินที่ยั่งยืนในอนาคต

อ้างอิง: Time, Investopedia, The Economics Review, Michigan Journal of Economics

แชร์
เปิดระบบเศรษฐกิจ 'นครวาติกัน' รัฐที่เล็กที่สุดในโลกสร้างรายได้อย่างไร?