ธุรกิจการตลาด

ยอดขายแลปทอป-พีซี Q1 ปี 66 ร่วง 30% แบรนด์ไหนครองส่วนแบ่งเท่าไรบ้าง?

4 พ.ค. 66
ยอดขายแลปทอป-พีซี Q1 ปี 66 ร่วง 30% แบรนด์ไหนครองส่วนแบ่งเท่าไรบ้าง?

ตลาดคอมพิวเตอร์ปี 2023 นี้เปิดปีมาได้ไม่ค่อยสวยเท่าใดนัก ปัจจัยบวกจากช่วงเปิดเมืองที่ทุกคนกลับมาทำงานแบบออนไซต์นั้น เหมือนจะซาลงไปมากแล้ว Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก เผยว่า ยอดส่งมอบคอมพิวเตอร์พีซี (ทั้งแบบตั้งโต๊ะ และแลปทอป) ในไตรมาส 1 ปี 2023 นี้ หดตัวลงถึง 30% เทียบกับปีก่อนหน้า

 

พีซี แลปทอป



Gartner เผยสาเหตุดีมานด์พีซีหดตัวทั่วโลก

 

ยอดการส่งมอบพีซีในไตรมาสแรกของปี 2023 นั้น อยู่ที่ 55.2 ล้านเครื่อง ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าราว 30% และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 แล้ว สาเหตุมาจากซัพพลายที่ไหลเข้าสู่ตลาดมากเกินไป, ดีมานด์ที่ยังน้อยจากปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ Mikako Kitagawa ผู้อำนวยการนักเคราะห์ของ Gartner เผยว่า ผู้ขายได้ลดราคาของคอมพิวเตอร์รุ่นที่มีวางจำหน่ายอยู่แล้วในตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ในขณะที่พีซีรุ่นใหม่กลับมีราคาสูงเพราะต้นทุนที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อ

สำหรับตลาดพีซีในภูมิภาคต่างๆ ของโลกนั้น ตลาดสหรัฐมียอดส่งมอบหดตัวลง 25.8% แม้ภาพเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของสหรัฐจะออกมาดีกว่าคาด แต่ก็ไม่ได้ส่งผลมายังตลาดพีซีมากนัก ทางฝั่งยุโรปและแอฟริกานั้น ยอดส่งมอบหดตัวแรงกว่าระดับโลก ที่ 35.9% เทียบกับปีก่อนหน้า จากปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ แรงกดดันจากเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้นและความกังวลเรื่องเศรษฐกิจฝืดเคืองนั้นส่งผลกดดันตลาดพีซีในภูมิภาคนี้ บริษัทผู้ผลิตพีซีชั้นนำต่างเจอกับยอดส่งที่หดตัวลงมากกว่า 1 ใน 3

ฝั่งตลาดคอมพิวเตอร์ในเอเชียนั้นก็หดตัวลงเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น โดยพี่ใหญ่อย่าง จีน กระทบหนักสุดจากปัญหาสต็อกสินค้าคงเหลือมาก แต่ดีมานด์ต่ำ ด้านประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็มีตลาดพีซีที่อ่อนแอจากภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น และปัญหาค่าเงินอ่อน อย่างไรก็ดี อินเดีย และเวียดนาม กลับได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตหนีจีน จึงทำให้ตลาดพีซีคึกคักได้บ้าง ส่วนประเทศญี่ปุ่นนั้นมีอัตราการหดตัวของการส่งมอบที่หดตัวลงน้อยกว่า ที่ 9.8%

 

ยอดขายพีซี แลปทอป



Lenovo - HP - Dell รั้ง Top 3 มาร์เก็ตแชร์สูงสุด

 

สำหรับมาร์เก็ตแชร์ของเจ้าตลาดพีซี ยังคงมีหน้าตาเหมือนกันกับปี 2022 ที่ผ่านมา นำโดย 3 ค่ายใหญ่ Lenovo, HP และ Dell ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์รวมกันมากกว่า 60% จากผู้ผลิตพีซีทั่วโลก โดยมาร์เก็ตแชร์ของตลาดพีซีในปี 2023 มีหน้าตาเป็นดังนี้

 

  1. Lenovo 23.3%
  2. HP Inc. 21.8%
  3. Dell 17.3%
  4. Apple 8.7%
  5. ASUS 7.1%
  6. Acer 6.4%
  7. อื่นๆ 15.4%

 

นอกจากผู้เล่นรายใหญ่ๆ ที่เราพบเห็นได้ทั่วไปตามออฟิศและร้านจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แล้ว หนึ่งแบรนด์ที่เกาะชาร์ตไว้ได้อย่างเหนียวแน่นก็คือ “Apple” อาณาจักรเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเชื่อว่าหากไม่ใช่คนในแวดวงไอที หลายคนก็อาจลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีบริษัทนี้ ก็เคยเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการพีซี มิหนำซ้ำ ยังถือกำเนิดมาจากการเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์อีกด้วย

“Apple Computer” คือชื่อของบริษัทผผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1976 โดย Steve Wozniak, Steve Jobs และ Ronald Wayne โดยผลิตภัณฑ์แรกของบริษัท คือ คอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า “Apple I” ส่วนผลิตภัณฑ์ทีมีชื่อเสียงอย่างมากตัวแรกๆ ของบริษัทก็คือ คอมพิงเตอร์ Macintosh รุ่นแรก ในปี 1984

ก่อนที่บริษัทจะออกอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์และบริการออกมา และค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ มากขึ้นเรื่อยๆ จนมาในปัจจุบันนี้ งบการเงินปี 2022 ของ Apple ระบุว่า ยอดขายคอมพิวเตอร์ของแอปเปิลนั้นคิดเป็นเพียง 6.6% ของยอดขายสินค้าทั้งหมด และน้อยกว่ายอดขายสินค้าพระเอกคนปัจจุบันอย่าง iPhone ถึง 8.5 เท่าเลยทีเดียว

 

 

macbook



ส่อง 5 หุ้นค้าปลีกไอทีในไทย

 

 

แม้ในประเทศไทยของเราจะไม่ได้มีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ระดับโลก แต่เราก็มีบริษัทในกลุ่มร้านค้าปลีกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และได้รับผลกระทบจากสภาวะตลาดพีซีจากผลสำรวจของ Gartner เช่นกัน โดยแต่ละบริษัทมีผลงานในรอบปีที่ผ่านมาดังนี้

  1.  COM7

    อัตราผลตอบแทน YTD - 25.74%
    P/E Ratio 19.82 เท่า
  2. SYNEX

    อัตราผลตอบแทน YTD - 21.34%
    P/E Ratio 13.39 เท่า
  3. SPVI

    อัตราผลตอบแทน YTD - 17.48
    P/E Ratio 14.47 เท่า
  4. CPW

    อัตราผลตอบแทน YTD - 26.26%
    P/E Ratio 19.51 เท่า
  5. IT

    อัตราผลตอบแทน YTD - 28.69%
    P/E Ratio 64.45 เท่า

 

(ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 66)

ที่มา : Gartner, Apple, Apple1Registry, settrade

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT