ความยั่งยืน

มากกว่าการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนคือการท่องเที่ยวที่ฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน

24 เม.ย. 67
มากกว่าการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนคือการท่องเที่ยวที่ฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน
ไฮไลท์ Highlight
  1. การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (sustainable travel) กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีโอกาสที่จะเติบโตสูงถึง 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า

  2. มากกว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือการการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (regenerative tourism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่เพียงแต่เน้นการรักษาทรัพยากร แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว พร้อมสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบใหม่ผ่าน 3 กุญแจหลัก: การส่งเสริมชุมชน (community-based), การร่วมกันคิดสร้าง (co-creation) และ การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ (creative platforms)

  3. การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ (creative platforms) เป็นมิติสำคัญที่จะสามารถสร้างความแตกต่างให้การท่องเที่ยวยุคใหม่ และเป็นอนาคตของความยั่งยืนเชิงฟื้นฟู

ความยั่งยืน กับการท่องเที่ยว

ในยุคที่ความยั่งยืนกำลังนิยามทุกด้านของการใช้ชีวิตไปในรูปแบบใหม่ การท่องเที่ยวยุคใหม่ก็ถึงจุดที่จะต้องใส่ใจความยั่งยืนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (eco-tourism) นั้นมีโอกาสเติบโตถึงกว่า 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 10 ปีข้างหน้า (Kantar, 2024) ซึ่งเป็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและต้องการประสบการณ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น คนกลุ่มนี้มองว่าการเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญเพราะต้องการเห็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (69%) และการสนับสนุนวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น (65%) (Expedia Group, 2022) อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่าภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเองก็มีความสนใจเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยพบว่ามีถึง 86% ของชาวอินโดนีเซีย 80% ของชาวเวียดนาม และ 75% ของชาวจีน ที่พร้อมและอยากที่จะเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น (Booking.com, 2023)

การที่ผู้บริโภคเข้าใจและหันมาใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ได้เกิดเป็นแรงกระตุ้นให้ธุรกิจต่าง ๆ ในไทยริเริ่มสร้างทางเลือกใหม่ ๆ มากมายเพื่อรองรับความต้องการนี้ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลเรียกรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น Muvmi หรือ ร้านอาหารหรูมิชลินสตาร์ในภูเก็ตที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นจากชาวประมงอย่าง Pru ไปจนถึงสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเกาะพะงัน ที่กำลังกลายเป็นจุดเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสุขภาพเวลเนสที่นิยมแห่งใหม่ ซึ่งรวบรวมทั้งฟาร์มของชุมชน กลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเทศกาลสนุกสนานต่าง ๆ ที่เชิญชวนให้ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมารวมตัวกันชื่นชมและสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีของเกาะพะงัน (Phanganist, 2022; Thairath, 2023)

เห็นได้ชัดว่าคนนิยมที่จะเดินทางแบบยั่งยืนมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อที่จะเข้าใจผู้บริโภคเหล่านี้มากขึ้นเราจะพาไปเจาะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยเป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้

  • นักท่องเที่ยวผู้หลีกหนีสู่ประสบการณ์เชิงลึก (Immersive Escapists) ที่มีลักษณะเด่น คือ ความต้องการหนีความวุ่นวายของชีวิตประจำวันในเมืองใหญ่ สู่การดื่มด่ำกับธรรมชาติ และพักผ่อนหย่อนใจเพื่อใช้เวลาที่สงบกับตัวเองและกลับมาดูแลสุขภาพ กลุ่มนี้จึงมักจะชอบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ทำให้พวกเขาได้ใกล้ชิดและซึมซับกับธรรมชาติหรือชุมชนอย่างแท้จริง และมักมาจากประเทศ เช่นแคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สเปน และ เยอรมนี

  • นักท่องเที่ยวผู้ชื่นชมศิลปะวัฒนธรรม (Cultural Aesthetes) ที่มีลักษณะเด่น คือ ความชื่นชมในความงามทางวัฒนธรรม ศิลปะ อาหาร และดนตรีเฉพาะของที่ต่าง ๆ และชื่นชอบการเดินทางอย่างยั่งยืนที่ทำให้พวกเขาได้สัมผัสกับสีสันวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบดั้งเดิมและแท้จริงโดยไม่ผ่านการปรุงแต่งประสบการณ์เพียงเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชม ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักมาจากประเทศอย่างฝรั่งเศส สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม 

  • นักท่องเที่ยวแนวผจญภัย (Thrill Seekers): ที่มีลักษณะเด่น คือ ความชื่นชอบความสนุกและตื่นตาตื่นใจกับสิ่งแปลกใหม่ มักชื่นชอบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นกิจกรรมน่าตื่นเต้นและสร้างสรรค์ ที่มาพร้อมกับการสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคมไปในเวลาเดียวกัน และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักมาจากประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา บราซิล อินเดีย และจีน 
    (Kantar, 2023; Ogilvy 9 in-depth interviews with travelers ages 21-50 and survey with 122 global respondents, 2023.)

นิยามใหม่เพื่อการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืนผ่านแนวทาง 3C

หากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) คือการรักษาทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (Regenerative Tourism) นั้นเป็นแนวคิดอีกขั้นที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบ แต่ยังครอบคลุมถึงการช่วยฟื้นฟูปรับปรุงการท่องเที่ยวในทั้งมิติของสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีของชุมชน เพื่อสร้างส่งผลกระทบเชิงบวกต่อแหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย (Mize, 2023; EarthCheck 2023)

ตัวอย่างเช่น การที่ระบบการเดินทางโดยรถไฟของประเทศเยอรมนี (German Rail) ได้นิยามการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 เพื่อกระตุ้นให้คนกลับมาเดินทางภายในประเทศแทนการบินไปเที่ยวประเทศอื่น ๆ ผ่านการพลิกมุมมองใหม่ให้คนมองเห็นว่าสถานที่เที่ยวสวยงามในรูปที่ต่างประเทศมี แท้จริงแล้วในเยอรมนีเองก็มีที่ที่ดีไม่แพ้กันในแคมเปญ “Rediscover Germany” ที่ โอกิลวี่ แฟรงเฟิร์ต ได้ร่วมเสริมสร้างการเดินทางระยะใกล้และโดยการขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืนกว่า (WARC, 2022)

ตอนนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการจะสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงฟื้นสร้าง แต่จะมีแนวทางใดที่สามารถริเริ่มได้บ้าง กุญแจหลักทั้ง 3 นี้จึงเป็นคำตอบ:

  • การส่งเสริมชุมชน (Community-based) 

แน่นอนว่าคนในชุมชนเจ้าบ้านเป็นหัวใจที่สำคัญของทุกแหล่งท่องเที่ยว แต่มากไปกว่านั้นการท่องเที่ยวฟื้นสร้างนั้นเปรียบชุมชนท้องถิ่นเสมือน ‘ศูนย์กลาง’ สำหรับทุกมิติในการฟื้นสร้าง และที่สำคัญไม่ได้หยุดที่การรักษาและอนุรักษ์เท่านั้น เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดชุมชนและแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกัน ความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นได้จริง

หนึ่งในตัวอย่างของการส่งเสริมชุมชนผ่านประสบการณ์ที่ดีคือ Six Senses Laamu รีสอร์ทที่พักยั่งยืนบนเกาะมัลดีฟส์ ที่เชิญชวนให้แขกได้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างวัฒนธรรมและระบบนิเวศท้องถิ่น โดยมีโครงการน่าสนใจภายในรีสอร์ทมากมาย เช่น Sea Hub of Environmental Learning (SHELL) ที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับรางวัล และ Maldives Underwater Initiative (MUI) ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลผ่านการวิจัย การให้ความรู้แก่ผู้ที่มาพัก และ การร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น รวมกันแล้วทั้งสองโครงการประสบความสำเร็จในการช่วยอนุรักษ์เต่าทะเลในละแวกมากกว่า 670 ชีวิต และ รักษาแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่กว่า 10 ล้านตารางเมตร ด้วยการที่ Six Senses เป็นรีสอร์ทห้าดาวที่ทั้งสร้างความสุขสบายให้ผู้เดินทางและความเป็นอยู่ที่ดีแก่สิ่งแวดล้อมและชุมชน จึงเป็นประสบการณ์ที่เป็นที่นิยมและเหมาะกับนักท่องเที่ยวผู้หลีกหนีสู่ประสบการณ์เชิงลึก (Immersive Escapists) มากที่สุด

ท่องเที่ยวยั่งยืน

Sea Hub of Environmental Learning in Laamu, a learning hub for guests of Six Senses Laamu.

Image: Courtesey of Maldives Underwater Initiative by Six Senses Laamu

  • การร่วมกันคิดสร้าง (Co-creation)

จากที่กล่าวไปว่าการท่องเที่ยวฟื้นสร้างนั้นเน้นการจัดการแบบองค์รวม ฉะนั้นแนวคิดนี้จึงอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องทำให้ทุกคนสามารถมาร่วมกันสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายได้จริง

หนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ BaneGaarden หมู่บ้านรักษ์โลกที่เป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมและความยั่งยืนในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งจากเดิมทีพื้นที่เป็นเพียงลานเก็บรถไฟร้าง จนได้รับการฟื้นสร้างใหม่ผ่านการร่วมสร้างระหว่างบริษัทรถไฟ DSB สมาคมสถาปัตยกรรม Realdania รวมถึงธุรกิจและคนในท้องที่ จนปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งที่เที่ยวที่ยั่งยืนและโด่งดัง เป็นพื้นที่ให้ทุกคนสามารถมาร่วมกันทำสวน ปลูกผัก ทานอาหาร และเรียนรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนไปด้วยกันอย่างสนุกสนาน และนอกจากนี้ BaneGaarden ยังมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น ตลาดนัดวินเทจ โชว์ตลก และดนตรีที่ทำให้ที่นี้มีชีวิตชีวาไม่ซ้ำ จึงทำให้เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวผู้ชื่นชมศิลปะวัฒนธรรม (Cultural Aesthetes) ทุกคนต้องอยากมาสัมผัสด้วยตัวเอง

ท่องเที่ยวยั่งยืน

BaneGaarden, the culture and sustainability hub in Copenhagen, Denmark 

Image: Courtesy of BaneGaarden

  • การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative platform)

ความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวฟื้นสร้างให้น่าสนใจไม่จำเจและเป็นสิ่งที่จะทำให้สามารถสร้างความแปลกใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้ตื่นเต้นอยู่เสมอ พร้อมช่วยในการสร้างโอกาสภายใต้วิกฤต ซึ่งจะทำให้เกิดการฟื้นสร้างที่ส่งผลดีอย่างยืนยาวและไร้ขอบเขตมากกว่า

ในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ Yggdrasil ค่ายเกมชื่อดังแห่งยุค และ บริษัท โอกิลวี่ ประเทศไทย ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ ‘Home Sweet Home 2’ เกมสยองขวัญรูปแบบใหม่ผ่านการท่องเที่ยวเสมือนจริง (virtual tourism) ที่เป็นประตูสู่การนำเสนอวัฒนธรรมเชิงลึก (Deep Culture) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติอันถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นวัด พิธีกรรมโบราณ ความเชื่อ และเครื่องรางของขลัง มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจท้องถิ่นหลังวิกฤตโควิด-19 และยังเป็นการนำเสนอวัฒนธรรมเชิงลึกของไทยในขณะเดียวกัน โดยวัฒนธรรมดังกล่าวดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายล้านคนทุกปี สร้างรายได้ประจำปีเกินกว่า 54 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยเกมสยองขวัญสุดตื่นเต้นนี้ช่วยให้ผู้เล่นได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวแนวผจญภัย (Thrill Seekers) (WARC, 2023)

ท่องเที่ยวยั่งยืน

The Tourism Authority of Thailand’s “Culture to Commerce” campaign by Ogilvy Thailand

Image: Courtesy of Ogilvy Thailand

ดังนั้น หากร่วมมือกันเราสามารถนิยามใหม่ให้กับความหมายของ ‘การท่องเที่ยว’ ได้ ซึ่งเป็นไปได้มากกว่าแค่การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวและค้นหาประสบการณ์ใหม่ แต่เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวก และการมีส่วนร่วมฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยว ส่งเสริมชุมชน ปกป้องธรรมชาติ และเติมเต็มประสบการณ์อันล้ำค่าให้ดีขึ้นไปอีก เพื่อให้ทุกการท่องเที่ยวในวันนี้และวันหน้าของทุกคน ยังคงความสวยงาม สร้างคุณค่าทางใจและโอกาสใหม่ ให้กับโลกใบเดียวของพวกเรา

SOURCES AND REFERENCES

Introduction

Personas

  • Global Consumer Trends 2023: Experiences. Kantar. (2023).
  • 9 in-depth interviews with travelers ages 21-50 and survey with 122 global respondents. Ogilvy Thailand. (2023).

Regenerative Tourism

3C’s of Regenerative Tourism

Ogilvy

Ogilvy

Sustainability & Social Impact

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT