ความยั่งยืน

เปิด 10 อันดับอาหารที่ 'ปล่อยก๊าซเรือนกระจก' มากที่สุด

13 ธ.ค. 65
เปิด 10 อันดับอาหารที่ 'ปล่อยก๊าซเรือนกระจก' มากที่สุด

หัวข้ออาหารกับการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกทวิตเตอร์ เมื่อมีผู้ใช้รายหนึ่งแชร์คำถามจากข้อสอบวัดสมรรถนะทั่วไป (Thai General Aptitude Test) ที่ให้ผู้ทำข้อสอบเลือกว่า “เมนูใดสร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด” โดยในคำถามมี 4 ชอยส์ให้เลือกคือ 

  • ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย
  • ราดหน้าหมู
  • สเต็กปลาแซลมอน
  • สุกี้ทะเลรวมมิตร

ซึ่งเมื่อคำถามนี้ออกมา หน่วยงานที่รับหน้าที่ออกข้อสอบชุดนี้คือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก็เจอปัญหาทันที เพราะมีคนเข้าไปรุมวิจารณ์จำนวนมากว่าเป็นข้อสอบที่คลุมเครือและกำกวม ไม่สามารถวัดความรู้หรือการคิดวิเคราะห์ของเด็กได้ เพราะไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการหาคำตอบ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะขาดข้อมูลสำคัญบางส่วนที่ทางผู้ออกข้อสอบควรใส่มาในข้อสอบเพื่อป้องกันความสับสน หากดูที่ตัววัตถุดิบกันเพียวๆ ผู้ทำข้อสอบก็อาจพอคาดเดาคำตอบได้หากมีความรู้เรื่องปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ที่เกิดจากการผลิตวัตถุดิบแต่ละอย่างอยู่บ้าง ถึงแม้ผู้ทำข้อสอบจะยังต้องการปริมาณของวัตถุดิบในแต่ละจานเพื่อการคำนวณอย่างแม่นยำ

ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนมาดูกันว่าการผลิตวัตถุดิบแต่ละอย่างปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่กันบ้าง และวัตถุดิบตัวไหนเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลกของอาหาร

 

อุตสาหกรรมผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 26% ต่อปี

อุตสาหกรรมอาหารเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์ถึงปีละ 1.37 หมื่นล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2-eq) หรือ 26% ของปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ในแต่ละปี

จากข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ สาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในปริมาณที่สูงคือ การผลิตอาหารเป็นกิจกรรมที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน หรือน้ำสะอาด โดยจากข้อมูลของ Our World in Data ที่ดินที่สามารถใช้อยู่อาศัยได้ถึง 50% และน้ำจืดถึง 70% ของโลกถูกใช้ไปกับการทำเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีการผลิตก๊าซเรือนกระจกระหว่างการทำฟาร์ม การแปรรูปอาหาร รวมไปถึงการขนส่งที่ต้องใช้พลังงานจากฟอสซิลถ่านหินเป็นจำนวนมาก

โดยจากข้อมูลของ Our World in Data วัตถุดิบที่ปล่อยปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก คิดจากปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ถูกปล่อยเข้าชั้นบรรยากาศต่อการผลิตวัตถุดิบ 1 กก. ได้แก่

  1. เนื้อวัว (จากฟาร์มโคเนื้อ) ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 99.48 กก.
  2. ดาร์กช็อกโกแลต ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 46.65 กก.
  3. เนื้อแกะ ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 39.72 กก.
  4. เนื้อวัว (จากฟาร์มโคนม) ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 33.3 กก.
  5. กาแฟ ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 28.53 กก.
  6. กุ้ง (จากฟาร์ม) ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 26.87 กก.
  7. ชีส ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 23.88 กก.
  8. ปลา (จากฟาร์ม) ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 13.63 กก.
  9. เนื้อหมู ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 12.31 กก.
  10. เนื้อไก่ ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 9.87 กก.

เมื่อดูจากรายชื่อในอันดับนี้จะเห็นได้ว่า ‘การผลิตเนื้อ’ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อแดง เนื้อขาว หรืออาหารทะเล และการผลิตอาหารจากสัตว์ เช่น ชีส ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในปริมาณมาก และเนื้อที่ครองอันดับหนึ่งก็คือ เนื้อวัว ที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงกว่าวัตถุดิบอย่างอื่นหลายเท่าตัว ในขณะที่เนื้อที่เป็นมิตรกับโลกที่สุดก็คือ เนื้อไก่ 

istock-1167064349

 

 

สาเหตุที่การผลิตเนื้อแดงสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูง

เนื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว และแกะ เป็นอาหารจานโปรดของหลายๆ คน และเป็นที่ต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้บริโภคทั่วโลก แต่เนื้อชนิดนี้เป็นเนื้อที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงที่สุดในโลกจากหลายๆ สาเหตุด้วยกัน เช่น

  1. การเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น วัว ควาย และแกะ ต้องใช้ที่ดินจำนวนมาก ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า หรือปรับสภาพที่ดินให้กลายเป็นทุ่งหญ้าที่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ โดยเนื้อวัวสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้ที่ดินมากถึง 23 กก. มากกว่าที่เนื้อไก่สร้างทั้งหมดกว่า 2 เท่า
  2. วัว และแกะ เป็นสัตว์ที่ปล่อยก๊าซ ‘มีเทน’ (Methane) ออกมาทางการตด และการเรอ ซึ่งก๊าซมีเทนนี้เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ ‘มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า’ 
  3. ของเสียจากตัวสัตว์ และปุ๋ยเคมีที่ใช้ในการปลูกพืชเพื่อนำมาทำอาหารเลี้ยงสัตว์ผลิต ‘ก๊าซไนตรัสออกไซด์’ (Nitrous Oxide) ที่ ‘มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 256 เท่า’

ในขณะที่การผลิตอาหารทะเลอย่างกุ้ง สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงเพราะฟาร์มกุ้งมักจะตั้งอยู่บริเวณริมชายฝั่ง ทำให้มีการทำลายป่าชายเลนที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ 

 

อาหารที่ดีต่อโลกคือพืช แต่ก็ไม่เสมอไป

จากข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ อาหารที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุดก็คืออาหารจำพวกพืช ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ธัญพืช หรือพืชจำพวกถั่วต่างๆ เพราะการผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ใช้พื้นที่ พลังงาน น้ำ และทรัพยากรน้อยกว่าเนื้อสัตว์

โดยจากข้อมูลของ Our World in Data อาหารที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุด 5 อันดับ ก็คือ

  1. ผลไม้ตระกูลส้ม ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.39 กก.
  2. พืชใต้ดิน หรือพืชหัว ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.43 กก.
  3. แอปเปิ้ล ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.43 กก.
  4. ถั่วเปลือกแข็ง ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.43 กก.
  5. มันฝรั่ง ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.46 กก.

โดยจากลิสต์นี้มีพืช 2 ชนิดด้วยกันคือ ผลไม้ตระกูลส้ม และถั่วเปลือกแข็ง ที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้ที่ดินเป็น ‘ลบ’ โดยเฉพาะต้นถั่วเปลือกแข็งที่สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มาไว้ภายในต้นได้ในปริมาณที่สูงมาก จนมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้ที่ดิน -3.26%

istock-1160300540

อย่างไรก็ตาม จากลิสต์ด้านบน จะเห็นได้ว่า การปลูกพืชอาจไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป เพราะการปลูก ‘ต้นโกโก้’ และผลิตเมล็ดโกโก้ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ ‘ดาร์กช็อกโกแลต’ ใช้ที่ดินมากกว่าพืชอย่างอื่นเพราะเป็นพืชที่ได้รับความนิยมสูง อีกทั้งยังเป็นพืชที่เติบโตได้ดีบริเวณไหล่เขาซึ่งส่วนมากเป็นป่า และเป็นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง 

istock-1366627418

นี่จึงทำให้ในหลายๆ ประเทศที่ปลูกโกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น เปรู กาน่า และอินโดนีเซีย มีพื้นที่ป่าลดลงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังอาจเจอปัญหาคุณภาพดินในระยะยาว เพราะหลังจากเกษตรกรใช้พื้นที่นั้นปลูกต้นโกโก้ไป 5-10 ปี สารอาหารดินบริเวณนั้นจะลดลงจนไม่เหมาะที่จะเป็นพื้นที่เพาะปลูก

 

และจากข้อมูลเหล่านี้ เมนูที่น่าจะผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุดก็คือ?

แม้ว่าสุดท้ายแล้วยังไงเราจะยังต้องรอคำตอบอย่างเป็นทางการจาก ทปอ. ซึ่งเป็นผู้ออกข้อสอบ จากข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ ชอยส์เมนูที่น่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดก็น่าจะเป็นชอยส์แรก นั่นก็คือ ‘ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย’ 

เพราะนอกจากเนื้อไก่จะเป็นเนื้อที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุดถ้าเทียบกับเนื้อหมู และอาหารทะเลซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในเมนูอื่นแล้ว วัตถุดิบทั้งหมดยังเป็นวัตถุดิบสดที่ไม่ผ่านการแปรรูป และเป็นวัตถุดิบพื้นถิ่นของไทยทำให้ไม่ต้องมีการนำเข้า

อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นการคาดเดาจากข้อมูลที่มีเท่านั้น เพราะในขณะนี้คงยังไม่มีใครรู้ได้ว่า ทปอ. นำปัจจัยอะไรมาพิจารณาในการหาคำตอบบ้าง หรือคิดว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้นั้นผลิตจากแหล่งไหน มีคาร์บอนฟุตพริ้นจากการขนส่งเท่าไหร่

และถึงแม้คำถามของทปอ. อาจจะยังมีจุดต้องปรับปรุง การตั้งคำถามนี้ขึ้นมาในข้อสอบระดับประเทศก็มีผลดีเพราะมันทำให้ผู้คนและเด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจผลกระทบของการผลิตอาหารที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในยุคที่ทุกคนต้องตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อนแบบนี้ การลดรับประทานอาหารที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมก็เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้เลยทันที

 

ที่มา: Our World in Data (1), Our World in Data (2), Earthbound, UN

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT