Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
TTRS หายไป แกร็บคนหูหนวกรวมตัวหน้ากสทช. สะท้อนขาดรายได้ ได้ดาวลดลง
โดย : ณัฏฐณิชา ภู่คล้าย

TTRS หายไป แกร็บคนหูหนวกรวมตัวหน้ากสทช. สะท้อนขาดรายได้ ได้ดาวลดลง

4 ก.ค. 68
17:35 น.
แชร์

เคยไหมใช้บริการแกร็บฟู้ดแล้วพบว่าไรเดอร์ หรือคนขับที่ให้บริการเราช่างติดต่ออยากเหลือเกิน โทรไปก็ไม่รับ หรือรับแล้วสื่อสารกันไม่เข้าใจ ลองส่งข้อความดู ก็พบว่าลักษณะการพิมพ์แปลกไป ไม่ใช่แบบที่เราคุ้นกัน 

หากเคย คุณอาจกำลังใช้บริการแกร็บผู้พิการทางการได้ยิน หรือแกร็บหูหนวก ที่ขาดบริการล่ามภาษามือจาก TTRS หรือศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่ปิดบริการไปตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน เนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุนจากกสทช.


แกร็บคนหูหนวกกับบริการ TTRS


ในกลุ่มงานที่ผู้พิการทางการได้ยิน งานขับรถรับจ้างกับแอพพลิเคชันอย่าง แกร็บ ไลน์แมน หรือแอพพลิเคชันอื่น คือหนึ่งในอาชีพยอดนิยม เนื่องจากมีความอิสระ ได้เงินรายวันทันที เป็นช่องทางการทำงานที่คนหูหนวกที่ว่างงานสามารถมาทำได้ โดยความแตกต่างด้านการสื่อสาร ระหว่างคนหูหนวกและคนหูดีไม่เป็นอุปสรรคมากนัก

แต่ที่ว่าไม่เป็นอุปสรรค นั่นก็เพราะหลายปีที่ผ่นมา ไรเดอร์หูหนวกสามารถใช้บริการล่ามภาษามือของ TTRS ได้ เป็นบริการล่ามภาษามือที่ใช้งานด้วยช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น TTRS Message หรือตู้โทรศัพท์ของ TTRS ก็มีเช่นกัน และยังไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้งานได้ตลอดวัน ข้อมูลจาก TTRS ชี้ว่า ในปี 2565-2566 มีสมาชิกของ TTRS รับจ้างขับรถเดลิเวอร์รีอยู่ราว 300-400 คน

คนหูหนวกที่ขับรถเดลิเวอร์รีจะโทรหาเจ้าหน้าที่ล่ามภาษามือของ TTRS คุยกับล่ามเป็นภาษามือไทย จากนั้นล่ามจะโทรหาลูกค้าหรือปลายสายที่คนหูหนวกต้องการติดต่อด้วยเพื่อส่งต่อสารเป็นภาษาไทยที่เราใช้กัน

ขาด TTRS เกือบครบเดือน แกร็บคนหูหนวกอยู่อย่างไร

คุณสายัณห์ อินทโต หรือคุณเล็ก เป็นแกนนำกลุ่มคนหูหนวก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไรเดอร์บริษัทแกร็บ ราว 50 คน เดินทางเข้ามายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เพื่อขอให้คนกสทช. เร่งแก้ไขสถานการณ์การขาดงบประมาณของ TTRS และกล่าวถึงความยากลำบากในการขับแกร็บ เมื่อไม่สามารถใช้บริการ TTRS ได้เช่นปกติ

*การสัมภาษณ์กับผู้พิการทางการได้ยิน สื่อสารผ่านล่ามภาษามือจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

“ผมเข้าใจว่าเขา [TTRS] ลำบาก ผมก็ลำบากเหมือนกัน คนหูหนวกที่ขับแกร็บมีปัญหาเพราะสื่อสารกับลูกค้าไม่ได้ ผมก็ไม่รู้ต้องทำยังไง จะขอให้ใครช่วยเหลือก็ไม่ได้ บางทีอยากคุยกับลูก หรือคนอื่นที่เป็นคนทั่วไปก็ติดต่อไม่ได้ ชีวิตลำบากมาก [...] 

“คนที่จะช่วยได้ก็คือกสทช. ที่จะช่วยอนุมัติงบประมาณ ให้ค่าน้ำ ค่าไฟ ให้กับ TTRS ให้ TTRS กลับมาเปิดได้อีกครั้ง ไม่ได้ให้มาช่วยเหลือผม ผมช่วยเหลือตัวเองได้ แต่อยากให้มีการบริการตรงนี้ ให้ช่วยแปลให้เท่านั้น อย่างการติดต่อโรงพยาบาล ติดต่อเหตุด่วนเหตุร้าย โจรขึ้นบ้าน หรือมิจฉาชีพ ผลอยากติดตัวด้วยตัวเอง โดยใช้บริการผ่านล่าม” 

“แล้วทำไมไม่ส่งข้อความล่ะ?” อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย หากไม่สามารถสื่อสารด้วยเสียง การส่งข้อวามก็น่าจะทดแทนบางกรณีได้ไม่ใช่หรือ 

นั่นก็มีความจริงอยู่ คนหูหนวกหลายคนหันมาใช้ SMS แทนการโทร ในข้อหนึ่งคือการจ่ายค่าบริการ SMS ที่เพิ่มขึ้น ส่วนอีกข้อคือ ความแตกต่างด้านการใช้ภาษาของคนหูหนวกแตกต่างจากคนหูดี และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะในงานบริการอย่างการขับแกร็บด้วยแล้ว

“เมื่อก่อนตอนที่ยังมี TTRS ผมรับส่งผู้โดยสารได้ 5 ดาวตลอดเลย ตอนนี้พอปิดไป ผมไปส่งช้าลง ถูกหักดาวลง เหลือ 4 ดาวก็มี [...] กว่าจะส่งของได้เคสหนึ่งผมใช้เวลานานมาก ดาวผมก็ลดลง” ผู้ร่วมชุมนุมท่านหนึ่งเล่า และกล่าวว่าเพราะความเข้าใจผิด-ล่าช้า เขาเคยถูกระงับบัญชีไปครั้งหนึ่งแล้ว อีกทั้งรายได้จากเคยได้รับราววันละ 800 บาท ขณะนี้ลดลงเกือบเท่าตัว เหลือวันละ 500 บาทเท่านั้น

คนหูหนวกแต่ละคนมีความคล่องในการสื่อสารภาษาไทยแตกต่างกัน เนื่องจากความต่างด้านการได้ยิน การเรียนรู้และพัฒนาการด้านภาษาจึงแตกต่างจากคนหูดี คนหูหนวกและคนหูตึง เมื่อต้องเขียนหนังสือหรือพูด ภาษาของเขาคือภาพสะท้อนของไวยกรณ์ภาษามือ คืออาจมีลักษณะเป็นคำ ๆ แยกจากกัน ไม่เป็นประโยคต่อเนื่อง บ่อยครั้งไม่ได้ใช้คำสร้อยหรือคำลงท้ายที่คนหูดีมองว่าเป็นลักษณะการสื่อสารที่สุภาพ อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าไรเดอร์ท่านนี้หยาบคาย หรือแปลกประหลาดไปได้

บางท่านสามารถอ่านภาษาไทยได้จำกัด ทำให้ไม่สามารถอ่านข้อความจากลุกค้าหรือแกร็บได้ ทางที่ไรเดอร์หลายคนพอจะทำได้คือ การสื่อสารด้วยการส่งรูปภาพเท่านั้น

ไม่ใช่แค่ขับแกร็บ TTRS ลดอุปสรรครอบด้าน

การให้บริการของ TTRS มีความสะดวกกว่าการจองล่ามภาษามือผ่านช่องทางอื่น เพราะใช้เวลารอไม่นาน เนื่องจากศูนย์มีล่ามประจำกว่า 38 คน และให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน (ช่วงกลางคืนอาจมีล่ามเข้าเวรน้อยกว่า) และบริการดิจิทัลผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ยังก้าวข้ามอุปสรรคด้านพื้นที่อีกด้วย

คุณโอภาส นันทนานิมิตกุล ตัวแทนคนหูหนวกชุมชนกล่าวถึงการใช้งาน TTRS ในสถานการณ์อื่น ๆ ที่มีจุดแข็งคือให้บริการได้ทันที และเป็นรูปแบบออนไลน์

“ก่อนมี TTRS ผมจะใช้บริการล่ามภาษามือ ต้องจองล่วงหน้าถึง 3 วัน แต่เหตุด่วนเหตุร้ายหรือเรื่องกระชั้นชิด ผมไม่สามารถจองล่ามล่วงหน้า 3 วันได้ อย่างตอนผมป่วย หรือต้องการติดต่อตำรวจแจ้งความ ผมระบุเวลาไม่ได้” คุณโอภาสกล่าว

“หากผมรถชน ผมอยากติดต่อประกันจะทำยังไง เป็นคนหูหนวกเลยต้องนั่งรอให้คนที่เหลือช่วยคุยเหรอ?” คุณโอภาสกล่าว 

กลุ่มคนหูหนวกที่มารวมตัวกันหน้าสำนักงานกสทช. ทั้งไรเดอร์แกร็บและไม่ใช่ ต่างกระตือรือร้นสื่อสารด้วยภาษามือรีบเร่งเล่าความกังวล บ้างเป็นทำงานค้าขาย และมีอุปสรรคในการคุยกับลูกค้า บ้างเป็นพนักงานเอกชนที่ต้องเข้าประชุม แต่ขณะนี้ไม่เข้าใจเนื้อหาการประชุมอีกแล้ว บางคนกล่าวถึงโรงเรียนโสตศึกษา โรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียนผู้พิการทางการได้ยิน ที่มีตู้โทรษัพท์ TTRS ตั้งอยู่ให้เด็ก ๆ ได้มาสื่อสารกับผู้ปกครองที่บ้านได้ 

TTRS คือหนึ่งในบริการที่ทำให้คนหูหนวก “ช่วยเหลือตนเองได้” เพราะคนหูหนวกก็มีสิทธิจะสื่อสาร ทำงาน ส่งของเท่า ๆ กับคนหูดี บริการอย่าง TTRS จึงเข้ามาปิดช่องว่างระหว่างคนหูหนวดและคนหูดี และเปิดโอกาสให้หน้าที่การงานที่เป็นไปได้สำหรับผู้พิการทางการได้ยินกว้างมากขึ้น แต่บริการดังกล่าวหยุดมาเกือบ 1 เดือนแล้ว


ทำไม TTRS ขาดงบประมาณ

TTRS ใช้งบประมาณหลักจากกองทุน USO ของ กสทช. หรือ “กองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลหรือขาดแคลนได้รับบริการอย่างเท่าเทียม

คุณวันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ TTRS กล่าวกับ Spotlight ว่า วิธีการจัดสรรงบประมาณของโครงการนี้คือการเปิดประชาพิจารณ์ และจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายในไทย ในอัตรา 2.5–2.75% ของรายได้รวม เพื่อนำเข้ากองทุน USO คิดเป็นเงินราว 4,000–5,000 ล้านบาทตาม “แผนฉบับที่ 2”

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแผน TTRS ต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุมัติใหม่อีกครั้ง เมื่อแผนฉบับที่ 2 สิ้นสุดในปี 2565 TTRS ต้องเข้าสู่กระบวนการ “รออนุมัติ” อีกครั้ง การรอการอนุมัติของแผนฉบับที่ 3 มาจนถึงปัจจุบันก็ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี แต่กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น ในขณะที่งบสำรองจ่ายของ TTRS กลับหมดลงแล้ว ทำให้การให้บริการล่ามภาษามือต้องหยุดชะงักตามไปด้วย

“มันเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแผน …มูลนิธิสำรองจ่ายไปแล้ว 2 ปี ประมาณ 134 ล้านบาท มูลนิธิไม่มีแล้ว เงินหมดแล้ว […] อะไรที่จ่ายได้ก็จ่าย อะไรที่ประหยัดได้ก็ประหยัด ลดงบอบรม ลดประชาสัมพันธ์ลง แต่ตอนนี้เรามีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ทั้งหมดในออฟฟิศที่ใช้มาแล้วกว่า 8 ปี [...] เราก็คุยกับมูลนิธินะคะว่าอาจต้องปิด TTRS”

กสทช. ทำตามกระบวนการ แต่กระบวนการเยอะ

นายกีรติ อาภาพันธุ์ รักษาการเลขาธิการ กสทช.และนายชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม (USO) คือตัวแทนผู้มารับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มคนหูหนวกที่กสทช. เช้าวันที่ 4 กรกฎาคมนี้

คุณชาญวุฒิกล่าวถึงความคืบหน้าของกระบวนอนุมัติงบประมาณโครงการ TTRS ว่า หน้าที่ของกสทช. คือการจัดทำแผน และคุยกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีขั้นตอนหลายขั้น ตั้งแต่การจัดทำแผน การประกาศราชกิจจานุเบกษา และดำเนินงานตามแผน รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานราชการ มูลนิธิที่ยื่นคำขอเข้ามา

“บางครั้งมีการขอเข้ามามากกว่างบประมาณที่มี จึงต้องมีการพิจารณาภายในว่างบประมาณส่วนใดมีความเหมาะสม บางครั้งอาจกระทบต่อการดำเนินงานของมูลนิธิ จึงทำให้กระบวนการใช้เวลานาน”

คุณชาญวุฒิเสริมว่า การเก็บค่าธรรมเนียมของ USO ไม่ได้เกิดขึ้นในครั้งเดียว แต่เป็นลักษณะการทยอยเก็บ ทำให้มีความเหลื่อมของกระบวนการเข้ามาด้วย 

“เมื่อวานเราแถลงต่อสภาแล้วว่า เราจะทำยังไงจึงจะลดความเหลื่อมของแผนอย่างนี้ได้ หรือการบูรณาการแผนของ TTRS ทำอย่างไรจึงจะดีกว่านี้ ดังนั้นจึงอาจมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อบูรณาการเชิงเทคนิค การเบิกจ่ายเงิน และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน เพราะเราต้องการเห็นความยั่งยืน ไม่สะดุด ในระยะยาวเราจะดำเนินการให้ดีกว่านี้”

คุณชาญวุฒิกล่าวว่า คณะการทำงานยังไม่แน่ชัดว่าเป็นคนจากหน่วยงานใด แต่จะมีคนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามามีส่วนร่วมแน่นอน รวมถึงคนจากกสทช. และหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม

“เราจะนำเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการครั้งที่ 3 สัปดาห์หน้า การนำเสนอโครงการทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว ทุกอย่างดำเนินการเป็นไปตามประบวนการอยู่แล้ว ไม่ได้นิ่งนอนใจ [...] ผมอาจยังระบุเวลาแน่นอนไม่ได้ [ว่า TTRS จะเปิดบริการอีกเมื่อไหร่] แต่อาทิตย์หน้าเมื่อเข้าอนุกรรมการ หากไม่มีปัญหาเกิดขึ้น น่าจะบรรจุได้ราวปลายเดือน และปลายเดือนหน้าก็น่าจะเข้ากสทช. ได้”


แชร์
TTRS หายไป แกร็บคนหูหนวกรวมตัวหน้ากสทช. สะท้อนขาดรายได้ ได้ดาวลดลง