Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ฉลามเสือดาวในไทย ถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ เปิดโครงการอนุรักษ์ก่อนคืนทะเล
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ฉลามเสือดาวในไทย ถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ เปิดโครงการอนุรักษ์ก่อนคืนทะเล

19 พ.ค. 68
15:02 น.
แชร์

ลูกฉลามเสือดาวทั้ง 9 ตัว อายุเพียงประมาณ 14 เดือน ถูกปล่อยลงไปในคอกทะเลที่สร้างขึ้นใหม่ ใกล้โรงแรมเกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต คอกแห่งนี้จะเป็นบ้านพักชั่วคราวให้ฉลามน้อยขนาดประมาณ 80 - 110 เซนติเมตร เพื่อให้พวกมันปรับตัวกับแหล่งน้ำก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เจ้าหน้าที่จะดูแลนักล่าน้อยทั้ง 9 ตัวเป็นอย่างดี พร้อทกับฝึกฝนให้พวกมันเอาตัวรอดให้ได้ในอนาคต เช่น การซ่อนอาหารไว้ในมุมลับ ๆ ของคอก เพื่อให้พวกมันรู้จักหาอาหารด้วยตัวเอง

ลูกฉลามเหล่านี้เติบโตมาจากการเพาะเลี้ยงโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ ‘อควาเรีย ภูเก็ต’ จากศูนย์ชีววิทยาทางทะเลประจำจังหวัด เจ้าหน้าได้เฝ้าฟูมฟักอย่างดี จนพวกมันเติบโตพร้อมออกไปเผชิญทะเลกว้างใหญ่ในเร็ว ๆ นี้ โดยคุณดารีล ฟุง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร อควาเรีย ภูเก็ต กล่าวว่า อควาเรีย ภูเก็ต ภูมิใจที่เราเป็นสถานที่แรกในประเทศไทยที่สามารถเพาะพันธุ์ฉลามเสือดาวได้สำเร็จ ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถของบุคลากรและความมุ่งมั่นของเราในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเรา

การปล่อยลูกฉลามกลับคืนสู่ธรรมชาติ ยังนับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว หรือ StAR ประเทศไทย (Stegostoma tigrinum Augmentation and Recovery) องค์ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรปลาฉลามเสือดาวอินโด-แปซิฟิก (Stegostoma tigrinum) สัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ของไทย และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงและปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในถิ่นอาศัยดั้งเดิมของพวกมัน

โครงการ StAR ในประเทศไทยเริ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว โดยการสานต่อโครงการ “Spot the Leopard Shark – Thailand” ซึ่งเป็นโครงการวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เชิญชวนให้นักดำน้ำร่วมส่งภาพถ่ายและวิดีโอการพบเห็นฉลามเสือดาวที่ถ่ายได้ในน่านน้ำไทย เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินจำนวน พฤติกรรมและแหล่งที่อยู่อาศัย 

โครงการนี้ริเริ่มครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2556 ที่หมู่เกาะพีพี โดยความร่วมมือระหว่างดร.คริสติน ดัดเจียน จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย และ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ จากศูนย์ชีววิทยาทางทะเล ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จนถึงปัจจุบัน โครงการได้รวบรวมภาพถ่ายมากกว่า 1,332 ภาพ และสามารถระบุฉลามเสือดาวได้ 278 ตัว ระหว่างพ.ศ. 2547 – 2568 ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มประชากรและแหล่งอาศัยของพวกมัน

ชะตาฉลามเสือดาวถูกคุกคาม

ฉลามเสือดาวอินโด-แปซิฟิกเคยเจริญเติบโตได้ดีในน่านน้ำของไทย แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดลงอย่างมากจากการบอกเล่าของชุมชุนนักดำน้ำในไทยพบว่า ทะเลไทยเป็นแหล่งที่อยู่สำคัญของฉลามเสือดาว โดยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นักดำน้ำจะเจอฉลามชนิดนี้เป็นประจำในฝั่งทะเลอันดามัน แต่ปัจจุบันพบเห็นได้น้อยลง 

จากการสำรวจพบว่า ภัยคุกคามหลักของฉลามเสือดาวได้แก่ การถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) หรือถูกจับติดอวนไปด้วยระหว่างการทำประมง และการเสื่อมโทรมของแนวปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของฉลามเสือดาว จนทำให้ปัจจุบัน ฉลามเสือดาวมีสถานะ "ใกล้สูญพันธุ์" ทั้งในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และการประเมินสถานะของชนิดพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคามภายในประเทศ หรือ Thailand Red Data โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ทั้งนี้ โครงการ StAR ให้ความสำคัญกับขั้นตอนก่อนการปล่อยลูกฉลามคืนสู่ธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetics) การใช้ไข่ที่มาจากพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมจากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำพันธมิตรทั่วโลก และทำการศึกษาอย่างเข้มข้น รวมถึงการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์จาก อควาเรีย ภูเก็ต เพื่อยืนยันว่าลูกฉลามเหล่านี้เป็นกลุ่มพันธุกรรมเดียวกันกับที่พบในน่านน้ำไทย  

เมธาวี จึงเจริญดี ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว StAR Project Thailand องค์กร WildAid กล่าวว่า เนื่องจากประชากรของฉลามและกระเบนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง การฟื้นฟูเป็นเรื่องที่ท้าทายเนื่องจากพวกมันมีการเจริญเติบโตช้า โตเต็มวัยช้า และมีอัตราการสืบพันธุ์ต่ำ การเพาะเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติจึงเป็นความหวังสำคัญในการรักษาประชากรไว้และช่วยส่งเสริมอัตราการฟื้นตัวของประชากร นอกจากนั้น เรายังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดภัยคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อฉลามและกระเบน ตั้งแต่เรื่องการทำประมงเกินขนาดไปจนถึงการทำลายถิ่นอาศัย

โครงการ StAR ประเทศไทย จะดำเนินเข้าสู่ระยะที่สองในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยจะมีการติดอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งให้กับลูกฉลามก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ขั้นตอนนี้จะช่วยให้โครงการสามารถติดตามการเคลื่อนย้ายของฉลามเสือดาว และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองและติดตามอัตราการรอดหลังการปล่อยที่มีประสิทธิภาพ 


แชร์
ฉลามเสือดาวในไทย ถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ เปิดโครงการอนุรักษ์ก่อนคืนทะเล