การเงิน

ให้ยืมเงินแบบไหน ปวดใจน้อยที่สุด

11 มี.ค. 65
ให้ยืมเงินแบบไหน ปวดใจน้อยที่สุด
ไฮไลท์ Highlight
จะมีน้ำใจกับใคร จะช่วยเหลือใคร ก็ต้องไม่ลืมความสามารถของตัวเองว่า เรา “สามารถช่วยเหลือ” ใครได้มากแค่ไหน และอย่าลืมประเมินรวมถึง “จำกัดความเสี่ยง” หรือความเสียหายของตัวเองไว้ด้วยว่า เรารับความเสี่ยงหรือความเสียหายได้มากที่สุดแค่ไหน

 ‘ให้ยืมเงินแบบไหน ปวดใจน้อยที่สุด’

โดย ขวัญชนก วุฒิกุล

 

เพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยด้วยกันเพิ่งเล่าให้ฟังว่า ไลน์ไปหาเพื่อนที่ขอยืมเงินไปนานกว่า 10 ปีว่า พอจะคืนเงินที่ยืมไปได้บ้างมั้ย ฝั่งลูกหนี้ถามกลับมาว่า “เดือดร้อนเรื่องเงินเหรอ ถึงมาทวง” ทำเอา “เจ้าหนี้” รู้สึกผิดว่า เราก็ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินนี่ จะไปทวงเขาทำไม

 

ลูกหนี้ถามต่อให้ปวดใจอีกว่า “ตกลงยืมมาเท่าไหร่นะ เดี๋ยวถ้ามี จะทยอยคืนให้ก็แล้วกัน” นี่ก็ตลก เพราะแทนที่ลูกหนี้จะจำว่า ยืมเงินใครไปเท่าไหร่ กลายเป็นเจ้าหนี้ที่ต้องเป็นคนจำ  สุดท้ายเพื่อนคนนี้บอกว่า “ตัดใจไม่เอาเงินคืนแล้ว ถือว่าจบกันแค่นี้” แล้วก็บ่นตัวเองว่า “จะไปโทษคนอื่นก็ไม่ได้ ต้องโทษตัวเองนี่แหละที่ให้เขายืม เงินของเราแท้ๆ เขาไม่ได้เอามีดมาจี้หรือเอาปืนมาจ่อ เราให้เขายืมโดยสมัครใจ ต้องโทษตัวเอง”

 

ฟังแล้วนึกถึงข่าวใหญ่เมื่อไม่นานมากนัก ที่ “เจ้าหนี้” ซึ่งเป็น “รุ่นพี่” ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง หลังจากให้ “ลูกหนี้” ที่เป็น “รุ่นน้อง” จากสถาบันการศึกษาเดียวกัน ขอยืมเงิน และ “รุ่นพี่” อุตส่าห์บากหน้าไปขอยืมคนอื่นมาให้ สุดท้ายกลายเป็นรุ่นพี่ต้องเป็นหนี้แทน โดนตามทวงทุกวันจนทนไม่ไหว

 

เคยพูดเรื่องนี้หลายครั้งแล้วว่า “ไม่ควรมีใครตาย เพราะให้คนอื่นยืมเงิน” โดยเฉพาะคนที่ใจดีและใจอ่อน ซึ่งความคิดเริ่มต้นของคนกลุ่มนี้ คือ "ถ้าเขาไม่เดือดร้อนจริงๆ  เขาไม่มายืมหรอก" จะคิดแบบนี้ก็คิดได้  โดยเฉพาะกับคนที่เราสนิท คนที่เรารัก คนที่เราไว้ใจ ถ้าเดือดร้อนมา ช่วยเหลือกันได้ก็ต้องช่วยเหลือกัน แต่อยากฝากหลักคิดก่อนให้ใครยืมเงิน เพื่อให้เราเดือดร้อนน้อยที่สุดและปวดใจน้อยที่สุด คือ

 

istock-922826378 

 

ข้อแรก ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนว่า เขาเดือดร้อนจริงหรือไม่

ลองตรวจสอบให้ดี ถ้าเขายังกินหรูอยู่แพงแซงเงินเดือน แบบนี้ไม่เรียกว่า เดือดร้อนจริง หรือถ้าเขาติดการพนัน เป็นหนี้เป็นสิน ก็ไม่เข้าข่ายเดือดร้อน บางคนบอกว่าไม่มีเงินค่าเทอมให้ลูก แต่ในโลกโซเชียลยังเห็นไปเที่ยว ลูกซื้อโทรศัพท์ใหม่ สามีซื้อกล้องใหม่ แต่ภรรยา (คนยืม) อ้างว่า "สามีไม่ช่วย" (ก็เลยต้องให้เราช่วย) แบบนี้เรียกว่า เดือดร้อนจริงหรือไม่

 

ข้อสอง ถ้าเขาเดือดร้อนจริง ก่อนตัดสินใจให้ยืม ให้คิดล่วงหน้าไว้เลยว่า "เงินออกจากมือเราไปแล้ว ไม่มีทางได้คืน"

ถ้าคิดแบบนี้ตั้งแต่แรก มันจะ "จำกัดความเสียหาย" ให้กับเราว่า ถ้าเราไม่ได้เงินคืนจริงๆ เราเสียหายได้เท่าไหร่ เช่น เรามีรายได้แค่นี้ มีรายจ่ายแค่นี้ ต้องเผื่อไว้สำรองฉุกเฉินสำหรับตัวเองด้วย ถ้าเหลือให้ยืมแบบไม่ได้คืนแน่ๆ ได้แค่ 5,000 บาท ต่อให้เขายืม 2-3 หมื่นบาท เราก็มีให้แค่ 5,000 บาทเท่านั้น คนยืมไม่มีสิทธิ์ต่อรอง เพราะคนให้ยืมมีเท่านี้ มีทางเลือกแค่จะเอา 5,000 บาทหรือไม่เอาเลยเท่านั้น

 

ข้อสาม ข้อนี้สำคัญสุดคือ ต่อให้เขาเดือดร้อนจะเป็นจะตายแค่ไหน ถ้าเราไม่มีเงินให้ยืม ก็คือไม่มี  อย่าออกหน้าไปยืมเงินคนอื่นให้เขา

เพราะถ้าเราให้ยืมด้วยเงินเราเอง เรามีฐานะเป็น "เจ้าหนี้" ถึงจะไม่ได้เงินคืน มันก็เป็นเงินของเราที่หาใหม่ได้ แต่ถ้าเราออกหน้าไปยืมคนอื่นเมื่อไหร่ เราจะกลายเป็น "ลูกหนี้" ที่มีภาระใช้หนี้แทนเขาทันที  ไม่ว่าจะกู้ด้วยบัตรเงินสดหรือบัตรเครดิต หรือยิ่งออกหน้าไปกู้นอกระบบแทนคนอื่น ยิ่งเท่ากับพาตัวเองเดินไปสู่นรก เหมือนที่ “รุ่นพี่” ที่ต้องจบชีวิตตัวเอง เพราะไปกู้เงินคนอื่นมาให้ “รุ่นน้อง” ใช้จ่าย

 

จะมีน้ำใจกับใคร จะช่วยเหลือใคร ก็ต้องไม่ลืมความสามารถของตัวเองว่า เรา “สามารถช่วยเหลือ” ใครได้มากแค่ไหน และอย่าลืมประเมินรวมถึง “จำกัดความเสี่ยง” หรือความเสียหายของตัวเองไว้ด้วยว่า เรารับความเสี่ยงหรือความเสียหายได้มากที่สุดแค่ไหน

 

 จะช่วยเหลือใครทั้งที อย่าให้เขามาพูดได้ว่า “ก็อยากโง่ไปช่วยเขาเอง”

 

 istock-1186614211

 

บทความอื่นๆของคุณขวัญชนก

แก้หนี้นอกระบบต้องจบแบบไหน

The Next Normal เรื่องเงินหลังวิกฤติโควิด

ขวัญชนก วุฒิกุล

ขวัญชนก วุฒิกุล

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

advertisement

SPOTLIGHT