Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ต้นแบบความงดงามไพบูลย์ ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย

ต้นแบบความงดงามไพบูลย์ ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย

5 ก.ค. 68
10:36 น.
แชร์

“พระพรหมบัณฑิต” แสดงปาฐกถาธรรมพิเศษ สรุปผลการดำเนินงาน “โครงการสืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” ซึ่งได้ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 2-4 กรกฎาคม 2568 ณ หอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

“โครงการสืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการศึกษาของพระสงฆ์ไทย โครงการนี้ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่พระพุทธศาสนา รวมถึงการแสดงนิทรรศการ และการแสดงปาฐกถาธรรม โดยมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันสงฆ์ร่วมกันดำเนินการ

 “พระพรหมบัณฑิต” เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายบรรพชิต ได้แสดงปาฐกถาธรรมพิเศษ สรุปผลการดำเนินงาน กล่าวว่า “โครงการสืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย" จัดขึ้นเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงริเริ่มโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 และพระราชทานทุนการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของพระสงฆ์ไทย อันเป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้มั่นคงและยั่งยืน

โครงการนี้เป็นการต่อยอดจากทุนเล่าเรียนหลวงที่พระราชทานแก่พระสงฆ์ผู้ศึกษาบาลีชั้นสูงและในระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงพระสงฆ์ที่ปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้การศึกษาพระธรรมวินัยเป็นไปอย่างถ่องแท้

ในด้านพระราชภารกิจในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา การพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงถือเป็นพระราชภารกิจสำคัญของพระมหากษัตริย์ ดังพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่ทรงถือว่าการสอบพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณรเป็นราชการแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในพระราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก จึงทรงให้จัดการศึกษาพระศาสนาแก่พระสงฆ์อย่างต่อเนื่อง

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี จากเดิมที่ศึกษาพระไตรปิฎกโดยตรงเป็นการแบ่งเป็นเปรียญตรี โท เอก มาเป็น 9 ประโยค ดังเช่นปัจจุบัน และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการกำหนดหลักสูตรนักธรรม ควบคู่กับการเรียนบาลี จึงเป็นที่มาของคำว่า "เปรียญธรรม"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้จัดการศึกษาพระบาลีที่ศาลารายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุปเหตุผลที่พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์การศึกษาพระปริยัติธรรมไว้ 3 ประการ คือ 1) เพื่อสร้างศาสนทายาทสืบอายุพระพุทธศาสนา 2) เพื่อให้พระสงฆ์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ประชาชน และ 3) เพื่อส่งเสริมให้พระสงฆ์สนับสนุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน เนื่องจากทรงห่วงใยว่าเยาวชนที่ห่างเหินศาสนาเมื่อมีความรู้มากอาจกระทำผิดได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้สืบสานพระราชกิจทั้ง 3 ประการของบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในราชวงศ์จักรี โดยในปี พ.ศ. 2547 ได้ทรงจัดตั้ง "โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย" และพระราชทานทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี พ.ศ. 2567 รวมเป็นระยะเวลา 21 ปี มีการพระราชทานทุนทั้งสิ้น 12,054 ทุน คิดเป็นเงินรวม 141,739,095 บาท โดยมีองคมนตรีเป็นประธานโครงการฯ ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ทุนการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สนับสนุนทุนการศึกษาแก่พระสงฆ์และสามเณรที่กำลังศึกษาเปรียญธรรม 6-9 ประโยค โดยผ่านกองบาลีสนามหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2567 มีการพระราชทานทุนรวม 1,700 ทุน เพื่อส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลีอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา พระมหาอดิเดช สติวโร ผู้รับทุนตั้งแต่เปรียญธรรม 6 ประโยค จนสำเร็จปริญญาเอกและปฏิบัติงานเพื่อพระศาสนาอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของโครงการนี้

กลุ่มที่ 2 การศึกษาระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา รวม 5,170 ทุน โดยผู้รับทุนต้องกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี โท หรือเอก ในสาขาวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมการศึกษาที่บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อการวิจัยและบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งคณะสงฆ์เรียกว่า "การเผยแผ่"

นอกจากนี้ โครงการยังสนับสนุนทุนในด้านการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเริ่มให้ ทุนวิปัสสนาจารย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จำนวน 4,031 ทุน และเพิ่มเติม ทุนพระคณาจารย์ด้านกรรมฐาน ในปี พ.ศ. 2566 อีก 163 ทุน ซึ่งมุ่งเน้นการปฏิบัติกรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน 4 และการเผยแผ่การปฏิบัติกรรมฐานทั้งในและนอกราชอาณาจักร

ในด้านการพัฒนาและต่อยอดในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชภารกิจ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของทุน 4 ประการ ได้แก่ 1) สนับสนุนพระภิกษุสามเณรให้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะภาษาบาลี 2) สร้างความร่มเย็นในสังคมด้วยหลักพุทธธรรมที่ถูกต้อง 3) จรรโลงพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักทางจิตใจและความคิดของประชาชน โดยเน้นให้พระสงฆ์เผยแผ่ธรรมะ และ 4) กระบวนการศึกษาอบรมต้องสร้างพระสงฆ์ที่มีคุณภาพและจิตสำนึกที่จะทำประโยชน์แก่สังคม ตามหลักที่ว่า "คฤหัสถ์และบรรพชิตต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกัน"

เพื่อส่งเสริมการเผยแผ่ธรรมะโดยตรง ในรัชกาลปัจจุบันได้เพิ่มเงื่อนไขการรับทุน โดยผู้รับทุนต้องเสนอบทความเพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมพระนักเทศน์อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อให้ได้รับวุฒิบัตรรับรองการผ่านการฝึกอบรม

ด้วยเงื่อนไขนี้ จึงเกิด ทุนเล่าเรียนหลวงเพื่อการฝึกอบรมพระนักเทศน์และพระธรรมกถิกาจารย์ เป็นทุนที่ 4 โดยมอบให้วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (มหานิกาย) และวัดพระยายังวรวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) ซึ่งได้เริ่มมอบทุนและจัดการอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2566 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2563 ยังมี ทุนพระธรรมจาริก เพื่อสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ครอบคลุม 20 จังหวัด มีพระสงฆ์และเจ้าหน้าที่รวม 493 รูป/คน โดยทุนเล่าเรียนหลวงได้อุปถัมภ์การอบรมพระธรรมจาริกจำนวน 382 ทุน และได้มีการสร้างศาลาปฏิบัติธรรมพระธรรมจาริกเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ที่พักสงฆ์พระธรรมจาริกบางแก อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนงานพระธรรมจาริก

ในส่วนของการจัดโครงการ "สืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย" ในปีนี้ เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการให้ผู้รับทุนได้แสดงผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ จึงได้ชักชวน 8 องค์กรภาคีเครือข่ายมาร่วมเผยแผ่ธรรมะ

ในปี พ.ศ. 2567 วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารได้ร่วมกับโครงการทุนเล่าเรียนหลวงเพื่อพระสงฆ์ไทย จัดเทศนาธรรม 4 ภาคทั่วไทย ในปี พ.ศ.2567 โดยจัดครั้งแรกที่ จ.ขอนแก่น มีผู้เข้ารับฟังการเทศน์ทำนองภาษาอีสานจำนวน 3,000 รูป/คน ที่ จ.เชียงใหม่ มีผู้เข้ารับฟังการเทศน์ทำนองภาษาเหนือล้านนาจำนวน 6,000 รูป/คน ที่ จ.สงขลา มีผู้เข้ารับฟังการเทศน์ทำนองภาษาใต้จำนวน 3,000 รูป/คน ที่กรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับภาคเอกชนคือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้เข้ารับฟังการเทศน์จำนวน 6,000 รูป/คน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างเกินความคาดหมาย

เพื่อขยายขอบเขตการเผยแผ่ธรรมะให้กว้างขวางขึ้น โครงการจึงได้เชิญชวนหน่วยงานที่ได้รับทุนและภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ที่เป็นผู้จัดงานมืออาชีพมาร่วมจัดงานครั้งนี้ ได้แก่ โครงการ "หมู่บ้านรักษาศีล 5" ซึ่งเป็นงานของมหาเถรสมาคมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โครงการ "วัด ประชา รัฐ สร้างสุข" ที่เน้นการพัฒนาวัด ชาวบ้าน และรัฐด้วยหลัก 5 ส. (สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย) และโครงการ "หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อปต.)" ที่มุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่น 8 ด้าน (ศีลธรรมและวัฒนธรรม สุขภาพอนามัย สัมมาชีพ สันติสุข ศึกษาสงเคราะห์ กตัญญูกตเวทิตาธรรม และสามัคคีธรรม) ที่มีระเบียบมหาเถรสมาคมรับรอง มีหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลจำนวน 6,032 แห่ง

สุดท้าย พระพรหมบัณฑิตได้กล่าวถึงผลลัพธ์ของการจัด "โครงการสืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย" ว่าการจัดโครงการในครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอบทความของผู้ได้รับทุน โดยพระภิกษุสามเณรจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ที่ได้ส่งบทความเข้าร่วมจำนวนมาก และมีการคัดเลือกบทความเพื่อเผยแพร่ รวมถึงการคัดเลือกพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม 9 และ 8 ประโยค เพื่อเข้ารับผ้าไตรพระราชทาน

โครงการนี้เป็นเวทีสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรม เป็นพื้นที่ในการแสดงของหน่วยงานที่ได้รับทุนและภาคีเครือข่ายในรูปแบบนิทรรศการ วีดิทัศน์ เสวนา และการแสดง รวมถึงนวัตกรรมการเทศน์แบบ "สาลิกาป้อนเหยื่อ" ซึ่งเป็นต้นแบบที่พัฒนามา 180 ปี ที่แต่งเป็นกลอนว่า “เทศนาลีลาไม่น่าเบื่อ สาลิกาป้อนเหยื่อทำ 5 อย่าง 1. คือฟังเป็นศูนย์กลาง 2. ยึดแนวทางพุทธศาสนา 3. แทรกนิทานภาษิต 4. แถมวิจิตรลังการด้านภาษา 5.ให้ข้อคิด ธรรมะ อุปมา สาลิกาป้อนเหยื่อเพื่อปวงชน” และการสอนภาษาบาลี-อังกฤษ ด้วยการศึกษาจากพุทธปัญญาประดิษฐ์ (Buddhist AI)

โครงการนี้เป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้เกิดสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทั้งสองรัชกาลในการทำนุบำรุงพระศาสนา และเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ตามหลัก "บวร" (บ้าน วัด โรงเรียน)

โครงการนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนการศึกษาของพระสงฆ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนงานด้านการเผยแผ่และพัฒนาพระพุทธศาสนาให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทยสืบไป

 

Advertisement

แชร์
ต้นแบบความงดงามไพบูลย์ ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย