การเงิน

'คลัง'แจงเก็บภาษีขายหุ้นครั้งแรกในรอบ 30 ปี แจงทุกรายละเอียด ที่นี่!

3 ธ.ค. 65
'คลัง'แจงเก็บภาษีขายหุ้นครั้งแรกในรอบ 30 ปี แจงทุกรายละเอียด ที่นี่!

คลังชี้แจงภาษีขายหุ้น ปีหน้าผ่อนผันให้เก็บ 0.055% แต่จะเริ่มเก็บอัตราจริง 0.1% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 ยืนยันไม่มียกเว้นให้รายใหญ่ และไม่กระทบความสามารถในการแข่งขัน

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้มีมติอนุมัติให้จัดเก็บ "ภาษีขายหุ้น" หลังจากที่ประเทศไทยมีการยกเว้นภาษีตัวนี้มานานถึงกว่า 30 ปีนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ได้เปิดแถลงข่าวเพื่อชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่เริ่มมีผลบังคับใช้ อัตราภาษีที่จัดเก็บ ผู้ที่ได้รับการยกเว้น ไปจนถึงเหตุผลที่ต้องทำ โดยสามารถสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

 

ภาษีขายหุ้นคืออะไร ยกเว้นไปนานแล้ว ทำไมถึงกลับมาจัดเก็บอีก?

ภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ต้องจ่ายในอัตรา 0.1% แต่ประเทศไทยมีการยกเว้นภาษีตัวนี้มาตั้งแต่ปี 2535 เนื่องจากเป็นช่วงของการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่อยากให้มาตรการภาษีเป็นภาระต้นทุน และต้องการให้ตลาดเติบโตอย่างเข้มแข็ง

ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์เติบโตแข็งแกร่งขึ้นมาก หากเทียบกับในปี 2534 จะเห็นว่า มูลค่าตลาด (Market Cap) จากประมาณ 9 แสนล้านบาท ได้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านล้านบาท ในปี 2565 ทางกระทรวงการคลังจึงมีมั่นใจว่า การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในช่วงนี้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับหลักสากล 

ทั้งนี้ บางประเทศใช้วิธีการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax) อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และก็มีบางประเทศใช้วิธีการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 รูปแบบผสมกัน อย่างเช่น อังกฤษ แต่ส่วนใหญ่ใช้วิธีการจัดเก็บภาษีจากฝั่งการขายหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) เหมือนกับประเทศไทย

กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร ให้เหตุผลว่า ได้ตระหนักถึงความสำคัญของ "ความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี" และต้องการ "ลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้" โดยได้ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

 


เริ่มเก็บภาษีขายหุ้น เมื่อไร?

มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือให้ระยะเวลาการผ่อนผัน (Grace Period) ประมาณ 90 วัน 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุ "วันที่แน่ชัดได้" เนื่องจาก ครม.เห็นชอบในหลักการ ซึ่งยังต้องรอขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน 

“วันที่ 91 จะเป็นวันแรกที่เริ่มการจัดเก็บ เพื่อให้มีการปรับตัว และให้บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) เตรียมการ รวมถึงหารือกับกรมสรรพากรเกี่ยวกับการจัดส่งรายได้เข้ารัฐ ซึ่งวิธีการไม่ได้ยากอยู่แล้ว เพราะการเก็บภาษีครั้งนี้ถือเป็นมาตรการทั่วไป คือเก็บทุก Transaction ที่มีการขายออกไป” นายอาคม กล่าว

 

จัดเก็บในอัตราอย่างไร? 

การจัดเก็บภาษีขายหุ้นจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ในอัตรา ดังนี้   

  • ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น จะเป็น 0.055%) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
  • ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.1% (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น จะเป็น 0.11%) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

นายลวรณ กล่าวว่า การยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าว อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย

ทั้งนี้ ในปีแรก (2566) ของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055% ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ 0.195% ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว.

 

ใครบ้างที่ได้รับการยกเว้นภาษีขายหุ้น?

ทั้งนี้ ยังคงมีการ "ยกเว้น" ภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่ 

  1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
  2. สำนักงานประกันสังคม
  3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
  6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
  7. กองทุนการออมแห่งชาติ
  8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3–7 เท่านั้น

     

Market Maker คือโบรกเกอร์ใช่หรือไม่ ทำไมได้รับยกเว้น?

กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขาย มีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า จากที่มีรายงานข่าวว่าจะมีการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ความจริงคือมีการยกเว้นภาษีให้แก่ ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ

โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Market Maker ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่มีข่าวนำเสนอ

 

advertisement

SPOTLIGHT