อินไซต์เศรษฐกิจ

รู้จัก Market Maker กับข้อหา "ปั่นวอลุ่ม" บน Bitkub-Satang Pro

1 ก.ค. 65
รู้จัก Market Maker กับข้อหา "ปั่นวอลุ่ม" บน Bitkub-Satang Pro

 

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมาตรการตัดสินลงโทษทางแพ่งกับ Bitkub และ Satang Pro กรณี "การปั่นวอลุ่มเทียม" บนแพลตฟอร์มทั้งสองแห่ง เรื่องนี้ทำให้หลายคนได้รู้ว่า ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเองก็ก็มี "เจ้ามือ" เหมือนกับตลาดลงทุนอื่นๆ เช่น ตลาดหุ้น DW DR และอนุพันธ์อื่นๆ เหมือนกัน

แต่อย่าเพิ่งคิดไปเองก่อนว่า เจ้าที่ว่านี้จะเข้ามาปั่นอย่างเดียว เพราะหน้าที่ของเจ้าจริงๆ หรือ Market Maker คือเป็นคนดูแลสภาพคล่องให้เกิดการซื้อขายได้อย่างไม่ติดขัด ซึ่งทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เปิดเผย มีข้อกฎหมายรองรับชัดเจน

วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจว่า Market Maker คือใคร, ทำหน้าที่อะไร, เกี่ยวข้องกับกรณีของ " Bitkub" และ "Satang Pro" อย่างไร, และในต่างประเทศนั้น มีกรณีที่คล้ายกัน หรือไม่

 

Market Maker คือใคร ทำหน้าที่อะไร?


- Market Maker คือ ผู้ดูแลสภาพคล่อง ทำหน้าที่ส่งทั้งคำสั่งซื้อ-คำสั่งขายหลักทรัพย์นั้นๆ เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่ามีปริมาณหลักทรัพย์ให้ซื้อขายมากพอ โดยเฉพาะตลาดที่ยังมีคนเล่นไม่มาก สภาพคล่องต่ำ คนซื้อ-คนขายยังน้อย หากเกิดกรณีเช่น หุ้นแม่ในต่างประเทศเกิดปัญหา จนกระทบหลักทรัพย์ที่เราถืออยู่ ถ้าไม่มี Market Maker เข้ามาช่วยดูแลให้มีการซื้อ-การขายที่เพียงพอ นักลงทุนก็ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมดเอง เข้าได้แต่ออกไม่ได้ เพราะไม่มีคนรับซื้อ สุดท้ายแล้วก็จะไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่น


พูดง่ายๆ ว่า Market Maker เป็นคนที่ทำให้ตลาดมีการเคลื่อนไหว เกิดการซื้อขายกัน หน้าที่ของ Market Maker จึงเป็นการ “ดูแลสภาพคล่อง” ทำให้นักลงทุนอุ่นใจว่ามีปริมาณหุ้นให้ซื้อขายมากเพียงพอ และเป็นระดับราคาที่เหมาะสมไม่เอารัดเอาเปรียบ


ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่ายก็คือ "คริปโทเคอร์เรนซี" นั้น ถือเป็นตลาดการลงทุนที่ใหม่มาก โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ 3-4 ปีก่อน ซึ่งไม่มีนักลงทุนรายย่อยเป็นหลักล้านเหมือนในปัจจุบัน ลำพังแค่คนจะเข้าใจยังหาได้ยาก ดังนั้น จึงต้องมีการเปิดรับ Market Maker เข้ามาช่วยดูแลสภาพคล่อง เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจว่า ตลาดจะไม่ร้างเป็นป่าช้า และจะมีเหรียญให้ซื้อ-ขายได้เพียงพอ


ปัจจุบัน Market Maker ถือเป็นส่วนหนึ่งของงการลงทุนในสินทรัพย์หลายตลาด ตั้งแต่ตลาดอนุพันธ์อย่าง tfex, DW ตราสาร DR, ตลาดหุ้น จนถึงตลาดคริปโทเคอร์เรนซี

 

กรณีของ Bitkub-Satang Pro ผิดอย่างไร ทำไมถึงมีแพลตฟอร์มถูกลงโทษแค่ 2 ราย?


- Market Maker เป็นกลไกดูแลสภาพคล่องตามปกติที่ใช้กันในหลายแพลตฟอร์ม แต่กรณีที่มีการลงโทษศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงแค่ 2 รายนั้น เนื่องจากกรณีนี้ย้อนไปตั้งแต่สมัยปี 2562 หรือเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้นมีผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายฯ เพียง 3 ราย คือ Bitkub, Satang Pro และ Bitx ซึ่งรายหลังนี้ถอนตัวออกจากประเทศไทยไปแล้ว ทำให้เหลือเพียง 2 ราย


- ส่วนความผิดที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษและลงโทษทางแพ่งไปนั้น คือ การทำหน้าที่ Market Maker ของทั้งบิทคับขายเทียม และสตางค์โปรนั้น "ไม่ได้เป็นเพียงแค่การดูแลสภาพคล่องตามปกติ แต่ถือเป็นการสร้างปริมาณการซื้อขายเทียม" หรือเรียกได้ว่าเป็นการปั่นวอลุ่มเทียมขึ้นมามากผิดปกติ


-ในกรณีของ Bitkub ก.ล.ต. พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีการส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี จำนวน 4 เหรียญ ได้แก่ Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum และ Ripple "โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเอง ในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของตนเองในศูนย์ซื้อขาย Bitkub" ซึ่งการจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ 84-99% ของวอลุ่มซื้อขายของ Market Maker และมากถึง 57–99% ของวอลุ่มซื้อขายบน Bitkub


- ส่วนในกรณีของ Satang Pro พบว่า มีการส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทฯ 3 เหรียญ ได้แก่ Bitcoin Ethereum และ Ripple "โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเอง ในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของ Market Maker ในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro" ซึ่งการจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ 96–99% ของวอลุ่มซื้อขายของ Market Maker และมากถึง 81–97% ของวอลุ่มซื้อขายบน Satang Pro


จุดนี้เองจึงถือว่า ไม่ใช่การดูแลสภาพคล่องตามปกติ แต่เป็นการปั่นวอลุ่มเทียม อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล


(อ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ ที่นี่)
https://www.amarintv.com/spotlight/digital-assets/detail/28562

 

ในต่างประเทศ มีกรณี ก.ล.ต.ลงโทษที่คล้ายกับไทยไหม?


- ในสหรัฐนั้น พบว่ามีการปั่นวอลุ่มขึ้นมาเหมือนกัน แต่ไม่มีการกล่าวโทษเอาผิดเกิดขึ้น โดยคริปโทฯ ไม่ถือว่าเป็นหลักทรัพย์ (Securities) เหมือนในไทย


- จากการเปิดเผยของ Bitwise Asset Management เมื่อปี 2019 พบว่า 95% ของปริมาณการซื้อขายคริปโทฯ บนแพลตฟอร์ม 81 แห่ง ตามที่รายงานตัวเลขบนเว็บ CoinMarketcap นั้น เป็นตัวเลขที่ปั้นขึ้นมาเพื่อทำให้ตลาดคริปโทฯ ดูใหญ่โตเกินจริง จากวอลุ่มการซื้อขายที่อ้างว่าสูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์/วัน Bitwise ประเมินว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 273 ล้านดอลลาร์/วัน เท่านั้น


- แม้แต่ก่อนหน้านั้นในปี 2018 เทรดเทอร์และนักลงทุนอย่าง ซิลเวน โรบส์ ได้เปิดเผยว่า บนแพลตฟอร์ม OKEx จากจีนนั้น 93% ของปริมาณการเทรดเป็นการปั้นขึ้นมาจาก Slippage หรือความคลาดเคลื่อนของราคาในจุดที่ส่งคำสั่งซื้อขาย กับราคาที่เราซื้อขายได้จริงๆ และในภายหลังยังได้ประเมินด้วยว่า วอลุ่มการซื้อขายถึง 81.2% บน Huobi อีกหนึ่งแพลตฟอร์มจากจีน ก็เป็นการปั้นตัวเลขด้วย หรือแม้แต่เบอร์ 1 อย่าง Binance ก็มีเคส Slippage ด้วยเมือนกัน

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT