อินไซต์เศรษฐกิจ

เปิดเหตุผล ทำไม 2 แบงค์ใหญ่ กรุงเทพ-กสิกร ต้องขยายอาณาจักรต่างประเทศ

1 มิ.ย. 65
เปิดเหตุผล ทำไม 2 แบงค์ใหญ่ กรุงเทพ-กสิกร ต้องขยายอาณาจักรต่างประเทศ

ขึ้นชื่อว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์แน่นอนว่ารายได้หลักต้องมาจากการเก็บดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อซึ่งปัจจุบันกำลังถูก Disrupt จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาตัดตัวกลางอย่างแบงก์ในการปล่อยสินเชื่อออกไป จึงมีผลกระทบต่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่เมื่อดูข้อมูลสัดส่วนของการปล่อยสินเชื่อรวมของไทยเปรียบเทียบกับจีดีพีในปี 2561 ที่ขยับขึ้นไปถึง 93% ด้วยสถานการณ์ที่มีปัจจัยแวดล้อมที่กดดันต่อธุรกิจข้างต้นจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย หากต้องการให้กำไรและรายได้ของแบงก์ไทยสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดดังเช่นที่เกิดในอดีตหากยังคงพึ่งพิงในตลาดเดิมต่อไป

 

แบงก์กรุงเทพทุ่ม 9 หมื่นล้านบาท ฮุบ 'Bank Permata'  

ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่

 

ดังนั้นจึงเริ่มเห็นแบงก์ขนาดใหญ่อันดับ 1 ของไทย คือ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ที่มีสินทรัพย์รวมมากถึง 4.34 ล้านล้านบาท ในปี 2562 ที่ประกาศยอมทุ่มเงินจำนวนมหาศาลประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท เพื่อซื้อกิจการธนาคาร PT Bank Permata ซึ่งเป็นธนาคารในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่ง BBL ถือแบงก์ของไทยที่ออกไปช้อปปิ้งแบงก์และเป็นเจ้าของแบงก์ในต่างประเทศ ถือว่าเป็นการบุกเข้าไปเปิดตลาดใหม่ที่เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจปล่อยสินเชื่อมีโอกาสปรับมาเติบโตอีกครั้ง

 

PT Bank Permata

 

 

สำหรับ Permata Bank มีฐานลูกค้า 3.75 ล้านราย มีสาขาทั่วประเทศ 330 แห่ง ตู้เอทีเอ็มกว่า 1,000 ตู้ มีฐานลูกค้าองค์กรและเอสเอ็มอี โดยเป็นหนึ่งในธนาคารที่ริเริ่มการให้บริการธนาคารทางโทรศัพท์ มือถือ (Mobile Banking) และเทคโนโลยีการชำระเงินออนไลน์รวมถึง PermataMobile X ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มีกว่า 200 ฟังก์ชัน ดังนั้นการช้อปปิ้งครั้งนี้ของ BBL จึงสามารถเข้าไปทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในอินโดเซียทันที ได้ทั้งตลาดฐานลูกค้าระบบแบงก์ที่วางไว้พร้อมโดยไม่ต้องไม่เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

 

 

KBANK ซื้อแบงก์ 'แมสเปี้ยน' เกือบ 8 พันล้าน ถูกกว่าตั้ง ธพ.ใหม่ในอินโดฯ

ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่

 

ขณะที่ 3 ปีถัดมาหรือไม่กี่วันที่ผ่านมาแบงก์อันดับ 2 คือ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ที่มีสินทรัพย์รวมมากถึง 4.34 ล้านล้านบาท เป็นอีกเจ้าที่ประกาศตามเข้าไปบุกธุรกิจแดนอิเหนา โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด(KVF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารกสิกรไทย เซ็นสัญญาซื้อหุ้น 67.50% ธนาคารแมสเปี้ยน อินโดนีเซียมูลค่าไม่เกิน 220 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 7,556 ล้านบาท ซึ่งน่าจะปิดสำเร็จภายในสิ้นปี 2565

 

สำหรับลงทุนของ KBANK ในครั้งนี้ไม่ใช่การตัดสินแบบกระทันหัน เพราะหากดูข้อมูลย้อนหลังไปในตั้งแต่ปี 2560 ที่ KBANK ทดลองไปซื้อถือหุ้นของธนาคารแมสเปี้ยน มาแล้วสัดส่วน 10% เป็นระยะเวลา 5 ปีก่อนที่จะประกาศซื้อหุ้นเพิ่มเติมตามที่ออกเป็นข่าว แน่นอนว่าการตัดสินใจซื้อหุ้นธนาคารแมสเปี้ยนเพิ่มได้ผ่านการศึกษาคัดกรองข้อมูลมาแล้วในตลอดช่วงเวลาของการถือหุ้น

 

โดยผู้บริหาร 'ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ' รองกรรมการผู้จัดการ ของ KBANK และในฐานะประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล อธิบายว่า การเข้าซื้อธนาคารแมสเปี้ยนจะทำให้สามารถทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในอินโดนีเซียได้ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนที่ต่ำกว่าการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ เพราะต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณมากกว่า 20,000 ล้านบาท ทำให้มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ยังเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการขยายธุรกิจของธนาคาร

 

เล็งต่อยอดแอป K Plus เปิดบริการลูกค้าอิเหนา

 

KBANK เซ็นสัญญาซื้อแมสเปี้ยน

 

 

เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลในอินโดนีเซียช่วยสนับสนุนให้แนวโน้มบริการทางการเงินสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มมีแนวโน้มเติบโจที่ไปพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 และสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตที่สำคัญในการมุ่งสู่ความเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค เชื่อมโยงธุรกิจของธยาคารกสิกรไทยใน AEC จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (AEC+3) ที่จะมีเติบโตสูงในอนาคต

อีกทั้งธนาคารแมสเปี้ยนซึ่งเป็นธนาคารท้องถิ่นที่มีศักยภาพและจุดแข็งในการเข้าถึงกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดย่อมซึ่งตรงกับความเชี่ยวชาญของธนาคารกสิกรไทยในการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมเพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศอินโดนีเซีย

 

นอกจากนี้ จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านโมบายแบงก์กิ้งผ่านแอปพลิเคชั่น K-PLUS ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุมให้แก่ลูกค้าในอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตของเทคโนโลยีทางการเงินที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน และจะทำให้ K-PLUS กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคที่แท้จริง (True Regional Platform)

 

 

เปิดแผนเจาะลูกค้าทุกกลุ่มในอินโดฯ

ท่าเรืออินโดนีเซีย

 

กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่

ตั้งเป้าเร่งการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มองค์กรหรือธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่ลงทุนโดยตรงในอินโดนีเซีย (TDI) ธุรกิจต่างชาติที่ลงทุนในอินโดนีเซีย ตลอดจนกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น ให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและการผนึกกันเป็นหนึ่งเดียวของตลาดภายในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังที่จะให้บริการธนาคารที่ครอบคลุมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าองค์กร ทั้งบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตและบริการบัญชีเงินเดือนสำหรับพนักงานองค์กร

 

กลุ่มธุรกิจ SMEs

มุ่งสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัว ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อหรือไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางการเงิน รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนี้ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมและการขยายตัวของความเป็นเมืองในอินโดนีเซีย ธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจ (Supply Chain Financing) แก่ธุรกิจ SMEs ท้องถิ่น เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าวสามารถเติบโตไปพร้อมกับห่วงโซ่มูลค่าของประเทศและของโลกได้ ทั้งนี้ จะนำใช้ความสามารถทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งในการปรับปรุงการชำระเงินและบริการธุรกรรมทางธนาคารเพื่อให้สามารถเข้าถึงธุรกิจ SMEs ในระดับท้องถิ่นอีกจำนวนมากในอินโดนีเซียที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ

 

กลุ่มลูกค้ารายย่อย


ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินเชื่อดิจิทัล และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจ MSME จำนวนมากในอินโดนีเซีย สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกและง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะใช้ K-PLUS ในการให้บริการโมบายแบงก์กิ้งเพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในทุกด้านของบริการทางการเงิน

ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถผลักดันธนาคารแมสเปี้ยนให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะ 5 ปีนับจากนี้ โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคชวาตะวันออก (East Java) ภายในปี 2570

 

 

นักวิเคราะห์ ชี้ 'เคแบงก์' ซื้อแบงก์แมสเปี้ยนดีต่อธุรกิจในระยะยาว

ธนาคารแมสเปี้ยน


ในมุมมมองของนักวิเคราะห์ อย่าง 'ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ' ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า catalyst หรือ ตัวเร่งให้แบงก์ขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และอันดับที่ 2 ของไทยต้องบุกอินโดนีเซีย มองว่ามาจากปัจจัยหลักด้านเศรษฐกิจมหภาคเพราะเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลประมาณการจีดีพีระหว่างปี 2565-2568 ที่ทำโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ไทยเติบโตเฉลี่ย 3.7% ต่อปี, อินโดนีเซียเติบโตเฉลี่ย 5.5% ต่อปี , เวียดนามเติบโตเฉลี่ย 5-6% ต่อปี จะเห็นว่าไทยเติบโตได้น้อยกว่าเพื่อนบ้านอีก 2 ประเทศ

 

นอกจากนี้ด้วยฐานจำนวนประชากรของอินโดนีเซียที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 275.12 ล้านคน มากกว่าของไทยเกือบ 4 เท่า และสังคมของอินโดนีเซียกำลังเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เปรียบกับกับของไทยที่เข้าสู่สังคมคนชรา อีกข้อมูลสำคัญเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสัดส่วนของการปล่อยสินเชื่อรวมกับจีดีพีในปี 2561 ของไทยที่ขยับขึ้นไปถึง 93% ทำให้โอกาสในการเติบโตของสินเชื่อในไทยอาจอิ่มตัวหรือจำกัดลงเปรียบเทียบกับของอินโดนีเซียมีสัดส่วนยังต่ำเพียง 36% เท่านั้น

 

ด้วยเหตุผลนี้เมื่อนำไปรวมกับการที่สังคมกำลังอยู่สู่วัยหนุ่มสาวและมีกลุ่มคนชนกลางในอัตราที่สูงยิ่งจะเป็นโอกาสที่มีความน่านสนใจอย่างมาก เพราะจะมีความต้องใช้สินเชื่อของรายย่อยมีโอกาสเติบโตได้มากโดยไม่จำเป็นต้องปูพรมเปิดสาขามากๆ แต่จะอาศัยการปล่อยสินเชื่อโดยใช้เทคโนโลยีที่ KBANK

 

มีความชำนาญอยู่แล้วอย่างการนำแอปพลิเคชั่น K Plus ไปพัฒนาต่อยอดใช้งานได้ และในอีกด้านก็จะเป็นโอกาสที่ KBANK จะมีฐานธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในอินโดนีเซียได้สามารถสนับสนุนกลุ่มลูกค้าธุรกิจของไทยที่ต้องการเข้าไปขยายการลงทุนในอินโดนีเซียได้อย่างเต็มรูปแบบ

 

สำหรับข้อดีที่ KBANK ตัดสินใจซื้่อหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน อินโดนีเซียสัดส่วน 67.50% โดยใช้เงิน 7,556 ล้านบาท ถือว่ามีความคุ้มค่ามากกว่าการที่จะเข้าไปขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ใหม่ในอินโดนีเซียเพราะต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะที่การเข้าไปถือหุ้นธนาคารแมสเปี้ยนในระดับที่ประกาศไว้จะทำให้ KBANK มีโควต้าในเก้าอี้บอร์ดรวมถึงกรรมการบริหารของแมสเปี้ยน สามารถกำหนดนโยบายในการธุรกิจให้เป็นไปแบบที่ต้องการด้วย

 

ดังนั้นจึงมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนของ KBANK ในแมสเปี้ยนในระยะยาว แต่การจะประเมินผลกำไรที่จะได้รับกลับมายังต้องใช้ระยะเวลาเพราะปัจจุบันสินทรัพย์ของแมสเปี้ยนอยู่ที่เพียงประมาณ 33,000 ล้านบาท ยังมีขนาดที่เล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับของ KBANK ที่มีมากกว่า 4 ล้านล้านบาท


จากนี้ไปยังคงต้องติดตามต่อไปว่าจะเห็นแบงก์ใหญ่ของไทยเจ้าที่เหลือขยับกันอย่างไร หลังแบงก์อันดับ 1 กับ 2 ขยับไปซื้อแบงก์นอกแล้วและเป็นประเทศเดียวกันคือ อินโดนีซีย ถือเป็นการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อรวมถึงให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ แต่ในมุมกลับกันไม่ใช่แบงก์ไทยที่เห็นโอกาสการเติบโตจากการซื้อแบงก์ในต่างประเทศเท่านั้น เพราะเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมากลุ่ม 'มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ' สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ยอมทุ่มเงินเกือบ 3 แสนล้านบาท เพื่อซื้อธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ต่อจากผู้ถือหุ้นเดิมคือ จีอี แคปปิตอล

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

1.กสิกรฯซื้อแบงค์แมสเปี้ยน ในอินโด ทุ่ม 7,556 ล้าน ถือหุ้นขั้นต่ำ 67.5%

 

2.เจ มาร์ท จับมือ เคแบงก์ ร่วมทุนตั้งบริษัททวงหนี้

 

3.จะเกิดอะไรขึ้นหาก "กสิกรไทย" ขายธุรกิจ บลจ. มูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้าน

 

4.เคแบงก์ ช่วยฟาร์มหมู พักหนี้นาน 6 เดือน ให้กู้ดอกเบี้ย 2%

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT