การเงิน

จะเกิดอะไรขึ้นหาก "กสิกรไทย" ขายธุรกิจ บลจ. มูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้าน

5 เม.ย. 65
จะเกิดอะไรขึ้นหาก "กสิกรไทย" ขายธุรกิจ บลจ. มูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้าน

เกิดกระแสข่าวดังในธุรกิจการเงิน หลังสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า KBANK กำลังพิจารณาขายธุรกิจ บลจ. ออกมูลรวมเกือบ 70,000 ล้านบาท ซึ่งมีธุรกิจกองทุนรวมที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในไทย เพื่อหาหุ้นส่วนพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มบริหารสินทรัพย์ของธนาคาร

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้รายงานข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กำลังพิจารณาทางเลือกเกี่ยวกับธุรกิจจัดการการลงทุน (บลจ.) โดยรวมถึงการขายธุรกิจดังกล่าวซึ่งมีผู้เล่นในกลุ่มธุรกิจจัดการการลงทุนกำลังให้ความสนใจซื้อ

ทั้งนี้แหล่งข่าวเปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า KBANK กำลังทำงานร่วมกับที่ปรึกษาด้านการเงินรายหนึ่ง เพื่อทบทวนกลยุทธ์เกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (KASSET) โดย KBANK กำลังประเมินมูลค่าธุรกรรมที่อาจเป็นเงินสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์หากตัดสินใจขายธุรกิจนี้จริง

 

สำหรับทางเลือกต่าง ๆ ได้แก่ การขายหุ้นใหญ่หรือขายหุ้นส่วนน้อยของธุรกิจจัดการการลงทุน และกำลังมองหาหุ้นส่วนพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มบริหารสินทรัพย์ของธนาคาร และทำให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น โดยการพิจารณาขายกิจการดังกล่าวยังคงอยู่ในขั้นตอนเบื้องต้นและยังไม่มีการตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายจนถึงขณะนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของ KBANK ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับรายงานข่าวของบลูมเบิร์ก

 

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับทีมข่าว "SPOTLIGHT" อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินราว 4.0 ล้านล้านบาท

 

โดยมี 5 อันดับ บลจ.ขนาดใหญ่ที่สุดดังนี้


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ส่วนแบ่งตลาด


1. บลจ.กสิกรไทย 23%

2. บลจ.ไทยพาณิชย์ 17%

3. บลจ.บัวหลวง 14%

4. บลจ.กรุงศรี 11%

5. บลจ.กรุงไทย 9%

 

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2022, (ข้อมูลเฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infra)

 


2 นักวิเคราะห์ฟันธงดีลนี้ "กสิกรไทย" มีแต่ได้กับได้, ลูกลงทุนลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้น-ค่าธรรมเนียมถูกลง

 

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับ ทีมข่าว "SPOTLIGHT" ว่า ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ของบล.หยวนต้า ได้ติดต่อขอข้อมูลไปยังฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของ KBANK ถึงกระแสข่าวที่เกิดขึ้น แต่ถูกปฎิเสธที่จะให้ความเห็นหรือข้อมูลในเรื่อง จึงมีมุมมองว่ามีความเป็นได้ที่จะเกิดดีลการซื้อขายหุ้นของริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (KASSET) ออกมา

 

อย่างไรก็ดีเบื้องต้นประเมินว่า KBANK จะแบ่งขายหุ้น KASSET ออกมาบางส่วนเท่านั้น เพราะธุรกิจจัดการการลงทุนของ KASSET ในประเทศไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งในประเทศไทยมีส่วนแบ่งการทางการตลาดเป็นอันดับที่ 1 และทำกำไรได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องการขยายต่อยอดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวกับบริการทางการเงินให้กับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง(Wealth Management)กับกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ที่ปัจจุบันยังมีฐานที่ยังเล็ก ดังนั้นจึงคาดว่า KBANK ต้องการมีพาร์ทเนอร์ต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญมาต่อยอดในทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจนี้

 

รวมถึงต่อยอดธุรกิจกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์(ETF) ที่ไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าสามารถเข้าถึงลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับโลกได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มความสนใจของลูกค้าต้องการลงทุนในกองทุนประเภทนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นคาดว่าผู้ที่จะเข้ามาซื้อหุ้น KASSET จึงน่าจะเป็นกลุ่มบริษัทต่างประเทศระดับโลกที่ต้องขยายธุรกิจจัดการการลงทุนในประเทศไทยด้วย

 

โดยคล้ายกับก่อนหน้านี้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ได้ประกาศความร่วมมือกับกลุ่มจูเลียส แบร์ เป็นบริษัทบริหารจัดการความมั่งคั่งและการลงทุนชั้นนำจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เน้นการให้บริการและให้คำปรึกษาด้านการลงทุนกับกลุ่มลูกค้า Private Banking ที่มีความต้องการด้านการลงทุนที่ซับซ้อน โดยจัดเตั้งบริษัทร่วมทุนคือ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด เพื่อให้บริการลูกค้าในไทย

 

"มองว่าโอกาสของบริษัทที่จะมาซื้อหุ้น KASSET จาก KBANK เป็นบริษัทการเงินขนาดใหญ่ต่างประเทศ เพราะจุดเริ่มต้นของข่าวมาจากสำนักข่าวต่างประเทศที่รายงานออกมา ซึ่งดีลนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงเพราะทาง KBANK ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกับนักวิเคราะห์ที่สอบถามข้อมูลในเรื่องนี้ โดยเรามีมุมมองว่า

 

หากดีลนี้เกิดขึ้นจะเป็นผลบวกสร้างประโยชน์ในระยะยาวกับธุรกิจของ KASSET ที่แข็งแกร่งอยู่แล้วให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกันกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศที่เข้ามาเติมเต็มให้ KBANK เพราะ KASSET สามารถทำกำไรได้ถึง 3,000 ล้านบาทต่อปีถือว่าสูงเมื่อเปรียบเทียบกับกำไรรวมของ KBANK ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 38,000 ล้านบาท" นายณัฐพล กล่าว


ด้านนายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคระห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ กล่าวว่า ปัจจุบันยังประเมินได้ไม่ชัดเจนว่า KBANK จะขายกิจการของ KASSET ทั้งหมดหรือแบ่งขายหุ้นบางส่วนออกไป เนื่องจาก KBANK ยังไม่ได้ออกมาให้ข้อมูลชี้แจงในเรื่องนี้ แต่ประเมินว่าในกรณีที่ KBANK ขายหุ้น KASSET ทั้งหมดกลุ่มบริษัทที่มีศักยภาพที่จะเข้ามาซื้อกิจการ KASSET ได้นั้นจะต้องเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินและการลงทุนต่างประเทศขนาดใหญ่

 

เนื่องจากดีลนี้มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 67,000 ล้านบาท ซึ่ง KBANK จะมีกำไรสุทธิจากการขายครั้งนี้หลังหักภาษีอยู่ที่ราว 52,000 ล้านบาท จากต้นทุนในเริ่มทำธุรกิจอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

 

อย่างไรก็ดีประเมินว่าพาร์ทเนอร์ต่างประเทศที่จะเข้ามาทั้งในกรณีที่มาซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วน KASSET จาก KBANK โดยเบื้องต้นเชื่อว่าจะว่าจะต้องมีเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งธุรกิจต่อทั้งลูกค้า และธุรกิจของ KBANK อาทิ ในอนาคตลูกค้าของ KBANK สามารถซื้อกองทุนที่ลงทุนสินทรัพย์ในต่างประเทศมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำลงเพราะสามารถลงทุนตในกองทุนต่างประเทศได้

โดยตรงผ่านเครือข่ายของพาร์ทเนอร์เปลี่ยแปลงจากเดิมที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในรูปแบบการลงทุนแบบกองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ (Fund of Funds)



advertisement

SPOTLIGHT