อินไซต์เศรษฐกิจ

รู้จัก "IPEF" แผนเศรษฐกิจใหม่ไว้เจาะเอเชียของ ไบเดน

24 พ.ค. 65
รู้จัก "IPEF" แผนเศรษฐกิจใหม่ไว้เจาะเอเชียของ ไบเดน

รู้จักกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจตัวใหม่ในเอเชียของ "สหรัฐ" ที่เอามางัดกับ "จีน" 13 ประเทศรวมทั้งไทยพร้อมใจร่วมวงด้วย


IPEF คือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจตัวใหม่ล่าสุดในเอเชีย ที่ "สหรัฐ" งัดขึ้นมาเพื่อหวังคานอำนาจกับ "จีน" โดยเฉพาะ โดยมีการประกาศความร่วมมือใน 13 ประเทศ ซึ่งรวมถึง "ประเทศไทย" ของเราด้วย แต่อย่าเพิ่งเข้าใจไปไกลว่านี่จะเป็นข้อตกลงการค้าใหม่ที่จะมาช่วยให้ประเทศในเอเชียทั้งหลาย "ลดการพึ่งพาจีน" ลงได้ทันที

ทีมข่าว SPOTLIGHT จะพาไปทำความเข้าใจว่า IPEF คืออะไร ในวันที่เรามีข้อตกลงเศรษฐกิจหลายชื่อเต็มไปหมด



IPEF คืออะไร?

- คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่มีชื่อเต็มๆ ว่า "กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) มีชาติสมาชิก 13 ประเทศ รวมทั้งไทยด้วย



เอเชียมีข้อตกลงเศรษฐกิจยอะอยู่แล้ว ทำไมต้องมีเพิ่มอีก?

- จุดเริ่มต้นของ IPEF อาจไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของภาพรวม "ดุลอำนาจในเอเชีย" ที่สหรัฐเพลี่ยงพล้ำเสียให้กับ "จีน" ซึ่งใช้ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและตลาดขนาดใหญ่ ทั้งในแง่การนำเข้าสินค้าและการส่งออกนักท่องเที่ยว-นักลงทุน แผ่อิทธิพลครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองไปทั่วเอเชีย-แปซิฟิก (จริงๆ คือทั่วโลก)

หากจะแบ่งให้เห็นได้ง่ายขึ้นก็คือ หลายประเทศในเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการส่งออกและท่องเที่ยว มีเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพา-ผูกติดกับจีนไปอย่างแยกไม่ออกแล้ว ส่วนประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กก็ผูกติดไปถึงเชิงการเมืองด้วย เช่น ประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก ที่ไม่ให้การรับรองไต้หวัน, ประเทศที่มีการลงทุนมหาศาลเกินตัวจากจีน เช่น ศรีลังกา และประเทศในกลุ่ม "อาเซียน" ที่ไม่ได้เข้าร่วมกับ IPEF เช่น ลาว และกัมพูชา

- อิทธิพลของสหรัฐในเอเชีย ยิ่งห่างไกลออกไปอีกเมื่ออดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวออกจาก “ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก” หรือ TPP (ชื่อเดิมของ CPTPP) ไปเมื่อปี 2017 ทั้งที่ความร่วมมือตัวนี้เป็นสิ่งที่เอเชียต้องการมาก เพราะจะเป็น "ข้อตกลงเขตการค้าเสรี" หรือ FTA ที่จะช่วยให้เอเชียบุกเข้าไปเจาะตลาดสหรัฐ ที่ถือเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 1 ของโลก

ไบเดน ประชุมกับผู้นำกลุ่มประเทศ Quad
ไบเดน ประชุมทางไกลกับผู้นำกลุ่มประเทศ Quad 


สหรัฐแก้เกมจีนอย่างไร?

- สหรัฐมีกลุ่มประเทศพันธมิตรรายใหญ่ในเอเชียอยู่แล้ว ที่เป็นทางการก็คือ กลุ่มภาคี 4 ประเทศที่ชื่อว่า "ควอด" หรือ The Quad ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือ การทำให้ทะเลจีนใต้มีเสรีภาพสูงสุดสำหรับการเดินเรือ ท่ามกลางการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในแถบนี้ กลุ่ม Quad พยายามสลัดภาพเอเชีย-แปซิฟิก ที่เต็มไปด้วยเงาของจีน ให้กลายเป็นภูมิภาค "อินโด-แปซิฟิก" แทน (ขยายจากแปซิฟิกให้ครอบคลุมถึงมหาสมุทรอินเดีย)

กลุ่ม Quad เริ่มมีการประชุมอย่างเป็นทางการในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2019 และมีการประชุมซัมมิท หรือการประชุมระดับผู้นำประเทศ ครั้งแรกในปี 2021 ก่อนหน้านี้ ฝ่ายสหรัฐเคยเสนอไอเดียให้ยกระดับ Quad ขึ้นเป็นเหมือน "Nato แห่งเอเชีย" แต่ก็ถูกสมาชิกชาติอื่นๆ ปัดตกอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะญี่ปุ่นและอินเดีย ที่ยังต้องทำมาค้าขายและอยู่ร่วมกับจีนในฐานะเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่มีใครอยากเปิดหน้าชนกับจีน

การจะขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาคให้ชาติอื่นเข้ามาร่วมด้วยและเห็นผลอย่างมีนัยยะ จึงต้องเน้นไปที่ความร่วมมือในเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก และนำไปสู่การประกาศ "กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" หรือ IPEF (อ่านว่า ไอเพฟ) ในการประชุมซัมมิทครั้งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในสัปดาห์นี้ โดยมี 13 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ 4 ประเทศ Quad, 7 ประเทศอาเซียน (ไม่รวมลาว กัมพูชา และเมียนมา) และอีก 2 ประเทศคือ เกาหลีใต้ กับ นิวซีแลนด์ ซึ่งสมาชิกทั้ง 13 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 40% ของจีดีพีโลก


IPEF ไม่ใช่เขตการค้าเสรี FTA

- อย่างไรก็ดี ประเด็นหลักที่หลายฝ่ายตั้งคำถามอยู่ในขณะนี้ก็คือ IPEF คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ "แบบไหนกันแน่"

ในภาษาของแถลงการณ์นั้น สหรัฐระบุว่า IPEF เป็น "กรอบความร่วมมือซึ่งให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ครอบคลุม ยั่งยืน และส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งยังมุ่งที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพิ่มการสร้างงานในสาขาที่เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงานสะอาด รวมถึงผลักดันการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรม มีมาตรฐาน และขจัดคอร์รัปชันที่เป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ"

แต่บรรดานักวิเคราะห์หลายฝ่าย เช่น คาลวิน เฉิง จากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ ISIS ในมาเลเซีย ได้ให้มุมมองกับสำนักข่าว Al-Jazeera ว่า ความตกลงนี้ไม่ใช่ทั้ง ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และไม่ใช่ความตกลงการค้าเพื่อเปิดตลาดสหรัฐให้เอเชีย แต่ยังเป็นเพียงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบหลวมๆ อยู่ โดยยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนัก

"คุณจะรู้สึกได้เลยว่าพวกกลุ่มประเทศพัฒนาและต้องพึ่งพาการค้าเป็นหลักเขาไม่ค่อยโอเคด้วย ตลอดมามีแต่พูดเรื่องการต้องเกี่ยวดองกับเอเชีย แต่ก็มีแค่ไอเดียเท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม จะผลักดันมาตรฐานให้เท่าเทียมกับประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยน่ะหรือ ไหนล่ะแรงจูงใจให้ทำ" เฉิง กล่าว

แมทธิว กู๊ดแมน รองประธานอาวุโสด้านเศรษฐกิจประจำศูนย์การศึกษาระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ (CSIS) ในสหรัฐ ให้ความเห็นกับสำนักข่าว AP ว่า อาจจะมีชาติสมาชิกบางส่วนผิดหวังที่ความตกลงนี้ ไม่มีมาตรการที่จะทำให้สามารถเข้าถึงตลาดภายในสหรัฐได้มากขึ้น ขณะที่นักวิจารณ์คนอื่นๆ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ความตกลงนี้ยังขาดแรงจูงใจสำหรับประเทศที่เข้าร่วม เช่น ไม่มีมาตรการลดกำแพงภาษี


ถ้าอย่างนั้น IPEF คืออะไรกันแน่?

เราอาจกล่าวได้ว่า IPEF คือ กรอบความร่วมมือกว้างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อพยายามขยายบทบาท "ความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ" ของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิก (เอเชีย) โดย IPEF เน้นการส่งเสริมมาตรฐานการวางระเบียบกฎเกณฑ์ใน 4 ด้านสำคัญคือ

1) Connected Economy - เน้นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล
2) Resilient Economy - เน้นเรื่องซัพพลายเชน
3) Clean Economy - เน้นเรื่องการลดคาร์บอน
4) Fair Economy - เน้นเรื่องการค้าที่เป็นธรรม กฎระเบียบแรงงาน

แน่นอนว่า สหรัฐคือหัวเรือหลักที่ดูแลความตกลงนี้ โดยเป็นการแบ่งงานกันระหว่าง “ผู้แทนการค้าของสหรัฐ” (U.S. Trade Representative) ซึ่งดูแลเรื่องการค้าที่เป็นธรรม และ “กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ” (U.S. Department of Commerce) ซึ่งรับผิดชอบส่วนที่เหลืออีก 3 ด้าน

“เรากำลังร่างกฎใหม่สำหรับเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 พวกเขาจะช่วยเศรษฐกิจของทุกประเทศให้เติบโตเร็วขึ้นและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เราจะทำสิ่งนี้ด้วยการจัดการกับความท้าทายใหญ่ที่สุดที่ทำให้การเติบโตช้าลง” ไบเดน ระบุในการประกาศเปิดตัว IPEF


ใช้เวลาเจรจานานเท่าใด?

4 ผู้นำประเทศกลุ่ม Quad 
4 ผู้นำประเทศกลุ่ม Quad 

- หลังจากการเจรจาเริ่มต้นขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาในการวางกรอบความร่วมมือภายใน 12-18 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่จะมีขึ้น ในการเจรจาทางการค้าในระดับนานาชาติ


คาดหวังผลลัพธ์ได้จริงไหม?

หากจะปัดตกว่าความตกลงนี้ไม่สำคัญหรือเป็นรูปธรรมได้ยาก ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ "รีบสรุปเร็วเกินไป" เพราะแม้จะไม่ใช่ข้อตกลงการค้า แต่ IPEF ก็มีการเน้นย้ำประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจหลายเรื่อง เช่น "ห่วงโซ่อุปทาน" หรือซัพพลายเชน ซึ่งเป็นปัญหาที่มีการตระหนักกันมาพักใหญ่แล้ว แต่มาเจอจังๆ ก็ตอนวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้จีนซึ่งเป็นเสมือนโรงงานผลิตของโลกต้องล็อกดาวน์ จนเกิดปัญหาซัพพลายเชนกระทบไปทั่วทั้งโลก

ดังนั้น การที่ข้อตกลงนี้เน้นย้ำเรื่องความพยายามแก้ปัญหาซัพพลายเชน ในแง่หนึ่งจึงเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณ "โยกย้ายฐานการลงทุน" จากจีนไปยังประเทศอื่นๆ ในอินโด-แปซิฟิก แทนให้มากขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบัน "เวียดนาม" และ "อินเดีย" กำลังเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญของการกระจายการลงทุนออกจากจีน

ยูกิ ทัตสึมิ นักวิเคราะห์จาก Stimson Center มองว่า สหรัฐกำลังพยายามชักชวนพันธมิตรต่างๆ แบบ "ฮาร์ดเซลล์" และไม่ว่าสหรัฐจะเริ่มนโยบายใหม่ยังไง การแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างกับสหรัฐฯ จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึง IPEF ที่จะไปเป็นชนวนเร่งแนวโน้มดังกล่าวด้วย

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT