ไลฟ์สไตล์

IMF ชี้ AI จ่อกระทบงานเกือบ 40% เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ใครใช้ AI เป็นได้เปรียบ

22 ม.ค. 67
IMF ชี้ AI จ่อกระทบงานเกือบ 40% เพิ่มความเหลื่อมล้ำ  ใครใช้ AI เป็นได้เปรียบ

IMF เผย AI จะกระทบงานเกือบ 40% ทั่วโลก ประเทศพัฒนาแล้วกระทบมากสุดที่ 60% แต่แรงงานที่มีความพร้อม และสามารถปรับตัวนำ AI มาประยุกต์ใช้ได้รวดเร็วกว่าจะได้เปรียบ การเข้ามาของ AI จึงเสี่ยงเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมี แรงงาน ระบบการศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เอื้อให้คนเรียนรู้และใช้ประโยชน์จาก AI ได้มากกว่า

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ กลายเป็นหัวข้อสำคัญในงานประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ประจำปี 2024 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลัง AI โดยเฉพาะ Generative AI เช่น ChatGPT, Midjourney และ DALL-E ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีผู้คาดการณ์ว่าในอนาคต AI เหล่านี้จะเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์

ในระหว่างการประชุม WEF ที่เมืองดาวอสเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จึงได้เผยผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ที่จะมีต่อตลาดแรงงานโลก เพื่อประเมินว่า AI จะส่งผลกระทบกับวิธีการทำงานของมนุษย์ในแต่ละพื้นที่อย่างไร และโลกควรทำอย่างไรบ้างเพื่อทำให้การนำ AI มาใช้เป็นประโยชน์กับมนุษย์มากที่สุด

 

AI กระทบงานทั่วโลกเกือบ 40% ประเทศพัฒนาแล้วกระทบมากสุด

จากการศึกษาของ IMF โดยรวมแล้ว AI จะส่งผลกระทบต่องานถึงประมาณ 40% ทั่วโลก โดยกระทบงานในประเทศพัฒนาแล้วมากที่สุดที่ 60% กระทบงานในประเทศกำลังพัฒนาที่ 40% และประเทศรายได้ต่ำที่ 26% ตามลำดับ

โดยสาเหตุที่ทำให้ AI กระทบงานในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าเป็นเพราะว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้กระทบเพียงงานทักษะต่ำ แต่ยังกระทบกับงานทักษะสูงหลายงานด้วย ดังนั้น ประเทศพัฒนาแล้วที่มีงานทักษะสูงมากกว่าที่ในพื้นที่อื่นจึงได้รับผลกระทบมากตามไปด้วย

ทั้งนี้ ผลกระทบในความหมายของ IMF หมายถึงทั้งผลกระทบในแง่บวกและแง่ลบ ทำให้แม้งานในประเทศพัฒนาแล้วบางส่วนอาจจะถูก AI แย่งไป จนแรงงานบางส่วนจะขาดโอกาสและรายได้จากงานดังกล่าว งานอีกส่วนหรือประมาณ 50% ที่จะได้รับผลกระทบจาก AI ในประเทศพัฒนาแล้ว กลับจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาของ AI เพราะ AI จะเข้ามาช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพและผลิตผลในการทำงาน

ดังนั้น แรงงานกลุ่มที่มีความพร้อมที่จะปรับตัวและเรียนรู้ในการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานของตัวเองมากกว่าจะกลายเป็นผู้ชนะในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ในขณะที่ผู้ไม่มีความพร้อม ทั้งด้านการเงิน และการศึกษา จะเสียเปรียบ ทำให้ความแตกต่างในด้านความเป็นอยู่และรายได้ของแรงงานรายได้สูง และแรงงานรายได้ต่ำจะเพิ่มขึ้นไปอีก

เสี่ยงเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เพราะคนรวยมีศักยภาพในการใช้ AI มากกว่า

นอกจากนี้ ในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ประเทศพัฒนาแล้วยังมีข้อได้เปรียบในการนำ AI มาใช้มากกว่า เพราะนอกจากจะมีประชากรมีการศึกษาที่พร้อมเรียนรู้ AI มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ยังมีกำลังทรัพย์ และความสามารถในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่สูงกว่าประเทศที่ยากจน ทำให้ในอนาคตความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศอื่นๆ จะกว้างมากขึ้น

โดยจากการศึกษาของ IMF พบว่า 3 ประเทศที่มีความพร้อมที่สุดในการนำ AI ไปใช้พัฒนาการทำงานและพัฒนาเศรษฐกิจ คือ สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเดนมาร์ก เพราะประเทศเหล่านี้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรง มีแรงงานทักษะสูงจำนวนมาก และมีนโยบายในการทำงานที่เหมาะสมกับการนำใช้ AI ไปใช้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปรเป็นประเทศที่ร่ำรวยทั้งสิ้น 

ดังนั้น เพื่อทำให้การเข้ามาของ AI เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในโลกอย่างเท่าเทียมกัน IMF แนะนำว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วควรให้การช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ในการนำ AI ไปใช้ ประเทศที่กำลังพัฒนาก็ควรเร่งพัฒนา ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคนให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งทำได้โดยการลงทุนในระบบดิจิทัลของประเทศ รวมไปถึงพัฒนาการศึกษาให้ผลิตแรงงานออกมาได้ตรงความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลต่างๆ ควรเร่งให้การสนับสนุนพัฒนาศักยภาพของแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สามารถใช้ AI ในการทำงานได้ เตรียมระบบประกันสังคมมารองรับแรงงานที่จะได้รับผลกระทบด้านลบหรือต้องเสียงานจากการเข้ามาของ AI รวมไปถึงออกเกณฑ์การกำกับดูแลการใช้ AI ให้เหมาะสม ให้ AI เข้ามาเป็นตัวช่วยของแรงงาน โดยไม่ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในประเทศลดลง

 

ที่มา: IMF

advertisement

SPOTLIGHT