เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา หุ้นของ IFBH บริษัทน้ำมะพร้าวสัญชาติไทย เปิดซื้อขายวันแรกในตลาดหุ้นฮ่องกงด้วยกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ราคาหุ้นพุ่งขึ้น 42% จากราคา IPO ที่ 27.80 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดวันแรกที่ 39.50 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น โดยนักลงทุนแห่จองซื้อจนหุ้นถูกจองเกินกว่า 2,600 เท่า
ล่าสุด (3 กรกฎาคม 2568) ราคาหุ้นยังแรงไม่หยุด ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 48.80 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น ดันมูลค่าตลาดของบริษัทขึ้นไปแตะ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 53,600 ล้านบาท สะท้อนความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่ปัจจุบันขึ้นแท่นน้ำมะพร้าวขายดีอันดับหนึ่งในจีนและฮ่องกง ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรทะลุ 1,000 ล้านบาท
ด้วยตัวเลขที่เติบโตแรงขนาดนี้ หลายคนอาจคิดว่า IFBH ต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีโรงงานและคลังสินค้าขนาดมหึมา แต่ความจริงน่าทึ่งกว่านั้น เพราะจากข้อมูลหนังสือชี้ชวนที่บริษัทยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ปัจจุบัน IFBH มีพนักงานเพียง 46 คนเท่านั้น แถมยังไม่มีโรงงาน และไม่มีโกดังเป็นของตัวเอง
IFBH ทำธุรกิจแบบไหน? โมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร? ทำไมบริษัทเล็กที่ไม่มีโรงงานถึงเติบโตเร็วขึ้นมาเป็นบริษัทมูลค่าหลายหมื่นล้านได้? SPOTLIGHT จะพาไปหาคำตอบ
บริษัท IFBH จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารพร้อมบริโภคที่มีรากฐานในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 โดยมีเป้าหมายในการสร้างแบรนด์เครื่องดื่มที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก ภายใต้แบรนด์ "if" (อีฟ) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดน้ำมะพร้าวธรรมชาติพร้อมดื่ม (RTD) ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่
IFBH เริ่มต้นจากการเป็นสายธุรกิจระหว่างประเทศของบริษัท General Beverage ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปัจจุบัน โดย General Beverage รับผิดชอบผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ if และ Innococo ไปยังต่างประเทศ (ยกเว้นประเทศไทย)
ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2565 General Beverage ได้ปรับโครงสร้างครั้งสำคัญ โดยแยกสายธุรกิจระหว่างประเทศออกมาก่อตั้งเป็น IFBH เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจระดับสากล หลังการปรับโครงสร้าง General Beverage ยังคงดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและผู้รวบรวมวัตถุดิบรายสำคัญของ IFBH
เดิมที General Beverage ใช้โมเดลธุรกิจแบบ Asset-Heavy คือเป็นผู้ผลิตและกระจายสินค้าเอง แต่หลังจากการแยกธุรกิจ IFBH ได้เปลี่ยนมาใช้โมเดล Asset-Light อย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่มีการถือครองโรงงานผลิต คลังสินค้า หรือระบบขนส่งเป็นของตนเอง แต่เน้นการสร้างแบรนด์ การขยายตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริหารพันธมิตรในเครือข่ายซัพพลายเชนทั่วโลก แทนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นสูง
ปัจจุบัน IFBH มีตลาดหลักในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญ และยังได้รับความนิยมในฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน พร้อมเร่งขยายสู่ตลาดใหม่ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2567 IFBH มีสินค้าทั้งหมด 32 รายการ ภายใต้แบรนด์ If และ Innococo รวมถึงสินค้าพิเศษตามฤดูกาลและลิมิเต็ดเอดิชัน
ด้านส่วนแบ่งตลาด น้ำมะพร้าวของ IFBH ครองยอดขายอันดับ 1 ในตลาดเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวในจีนต่อเนื่อง 5 ปีตั้งแต่ปี 2563 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 34% ในปี 2567 นอกจากนี้ ยังครองอันดับ 1 ในตลาดฮ่องกงติดต่อกัน 9 ปีตั้งแต่ปี 2559 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 60% ในปี 2567 และยังเป็นบริษัทอันดับ 2 ของโลกในตลาดเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องกับน้ำมะพร้าวในปีเดียวกัน
ด้านผลประกอบการ ปี 2567 IFBH มีรายได้ 157.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5,097 ล้านบาท) และมีกำไร 33.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,077 ล้านบาท) สะท้อนศักยภาพของโมเดลธุรกิจ Asset-Light ที่สามารถสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและทำกำไรได้ในระดับสูง
โมเดล Asset-Light ของ IFBH ช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นสูง ขยายกำลังการผลิตได้รวดเร็ว และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว IFBH ไม่ถือครองโรง งานผลิต คลังสินค้า หรือระบบขนส่งเป็นของตนเอง แต่ใช้พันธมิตรบุคคลที่สามในทุกกระบวนการหลัก ได้แก่
IFBH ทำงานร่วมกับผู้ผลิตที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานคุณภาพของบริษัท ผู้ผลิตเหล่านี้รับผิดชอบในการจัดหาน้ำมะพร้าวจากเกษตรกรและผู้รวบรวมที่ IFBH อนุมัติ รวมถึงจัดซื้อวัตถุดิบอื่น ๆ และบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวด PET กระป๋องอลูมิเนียม และกล่อง Tetra Pak ที่ IFBH เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน โดยปัจจุบัน IFBH ทำงานร่วมกับเกษตรกรและผู้รวบรวมน้ำมะพร้าวในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ทำให้ IFBH มีความมั่นคงด้านซัพพลายวัตถุดิบและได้เปรียบในตลาดน้ำมะพร้าวไทยในระดับโลก
นอกจากนี้ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง แต่ IFBH ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสูตรสินค้า ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ควบคุมคุณภาพการผลิต และตรวจสอบคุณภาพขั้นสุดท้ายในทุกขั้นตอน เพื่อรักษามาตรฐานที่สม่ำเสมอและความน่าเชื่อถือของแบรนด์
ด้านการขนส่ง IFBH ใช้บริการผู้ให้บริการโลจิสติกส์บุคคลที่สาม (Third-party logistics providers) เพื่อขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วโลก โดยใช้ รูปแบบ FOB (Free on Board) ซึ่งกรรมสิทธิ์สินค้าจะเปลี่ยนมือทันทีที่ถึงท่าเรือที่กำหนดในสัญญา
ปัจจุบัน สินค้าของ IFBH ถูกจัดส่งไปยังท่าเรือที่ลูกค้ากำหนด ผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือผ่านเครือข่ายโลจิสติกส์ของผู้ผลิต และผ่านผู้ให้บริการขนส่งบุคคลที่สามที่ IFBH จัดหา
หากผู้ผลิตเป็นผู้จัดส่งสินค้าเอง ค่าขนส่งจะรวมอยู่ในราคาสินค้า และความเสี่ยงในกระบวนการขนส่งจะอยู่ที่ผู้ให้บริการขนส่ง IFBH ได้จัดทำประกันคุ้มครองสินค้าตลอดกระบวนการจัดส่งเรียบร้อยแล้ว
IFBH พึ่งพา ตัวแทนจัดจำหน่ายบุคคลที่สาม (Third-party distributors) ที่ได้รับการคัดเลือกจาก IFBH โดยพิจารณาจากคุณสมบัติบริษัท ขนาดองค์กร ความแข็งแกร่งของเครือข่ายการจัดจำหน่าย ประสบการณ์ในตลาดท้องถิ่น ความครอบคลุมของจุดจำหน่าย และศักยภาพในการให้บริการลูกค้า
พันธมิตรตัวแทนจำหน่ายของ IFBH มีบทบาทสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่กระจายสินค้า แต่ยังเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบกลยุทธ์การตลาดในแต่ละประเทศ และการสร้างแบรนด์ในระดับท้องถิ่น IFBH สร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบ พันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partnership) ที่เติบโตไปพร้อมกันในระยะยาว
ด้วยโมเดล Asset-Light ที่เน้นการทำงานผ่านพันธมิตรภายนอก IFBH จึงสามารถบริหารธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ในระดับสากลด้วยทีมงานขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิผล โดยในปี 2567 บริษัทมีพนักงานเพียงประมาณ 46 คน แบ่งเป็นพนักงานในสำนักงานไทย 43 คน พนักงานในสำนักงานสิงคโปร์ 3 คน ในจำนวนนี้เป็นทีม Fulfillment 6 คน รับผิดชอบด้านการจัดซื้อ จัดหาวัตถุดิบ และควบคุมคุณภาพ ส่วนทีมขายและการตลาดมีเพียง 20 คน ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของโมเดลธุรกิจที่ช่วยลดต้นทุนคงที่และเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ แม้ IFBH จะดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดล Asset-Light แต่ General Beverage ยังคงเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่มีบทบาทสำคัญในซัพพลายเชนของบริษัท และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ IFBH ในปัจจุบัน โดย General Beverage เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นและควบคุมโดย นายพงศกร พงศ์ศักดิ์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 มีธุรกิจหลักในการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มภายในประเทศไทย และเป็นเจ้าของแบรนด์น้ำวิตามิน Vitaday
ปัจจุบัน General Beverage ทำหน้าที่เป็น "ผู้รวบรวมหลัก" สำหรับน้ำมะพร้าววัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าของ IFBH ทั้งในกรณีที่ General Beverage เป็นผู้ผลิตโดยตรง และในกรณีที่จัดส่งวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตบุคคลที่สาม (Co-packers) ที่ IFBH เลือกใช้
ในเชิงปริมาณ ยอดซื้อสินค้าที่ IFBH สั่งซื้อจาก General Beverage มีสัดส่วนที่สำคัญ โดยในปี 2566 คิดเป็น 21.6% ของยอดซื้อรวม และในปี 2567 คิดเป็น 18.0% ของยอดซื้อรวม ของบริษัท
IFBH มีสัญญาผลิตสินค้าร่วมกับ General Beverage ในระยะยาว ซึ่งทั้งสองฝ่ายดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดย IFBH มีแผนที่จะต่ออายุสัญญาดังกล่าวออกไปอีก 5 ปี หลังจากสัญญาปัจจุบันสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2570
นอกจากนี้ IFBH ยังได้ให้สิทธิ์ General Beverage เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ “if” ในประเทศไทย ภายใต้ สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าแบบไม่ผูกขาด โดย General Beverage ชำระค่าลิขสิทธิ์ให้ IFBH ในอัตรา 2.5% ของยอดขายรวมในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ความสัมพันธ์กับ General Beverage จะยังแข็งแกร่ง ในระยะต่อไป IFBH ยังมีการวางโครงสร้างการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านผลประโยชน์ทับซ้อน และได้วางแผนกระจายแหล่งจัดหาน้ำมะพร้าววัตถุดิบอย่างเป็นระบบ
เพื่อเสริมความมั่นคงของซัพพลายเชนและลดการพึ่งพา General Beverage ในระยะยาว IFBH ได้วางแผนกระจายแหล่งจัดหาน้ำมะพร้าววัตถุดิบอย่างจริงจัง
ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2568 IFBH ได้เริ่มทำงานกับผู้รวบรวมหลักอิสระรายแรก ซึ่งได้รับอนุมัติจาก IFBH และสามารถจัดหาน้ำมะพร้าวแปรรูปพร้อมบรรจุไปยังผู้ผลิต (Co-packers) ได้โดยตรงภายใต้สัญญาความร่วมมือที่มีข้อกำหนดด้านการรักษาความลับอย่างเข้มงวด โดย IFBH คาดว่าผู้รวบรวมอิสระรายแรกนี้จะจัดหาน้ำมะพร้าววัตถุดิบประมาณ 15% ของความต้องการทั้งหมดในปี 2568
นอกจากนี้ IFBH ยังวางแผนที่จะเพิ่มผู้รวบรวมอิสระอีกอย่างน้อย 2 ราย ภายในสิ้นปี 2568 และคาดว่าผู้รวบรวมอิสระทั้ง 3 รายนี้จะสามารถจัดหาน้ำมะพร้าวรวมกันประมาณ 35% ของความต้องการวัตถุดิบในปี 2568
เป้าหมายของ IFBH คือ ลดสัดส่วนการพึ่งพา General Beverage ให้เหลือไม่เกิน 70% ของความต้องการวัตถุดิบภายในปี 2568 และลดลงเหลือไม่เกิน 50% ภายในปี 2570
การกระจายแหล่งจัดหานี้จะช่วยให้ IFBH มีความยืดหยุ่นสูงขึ้น ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาซัพพลายเออร์รายใดรายหนึ่ง และสร้างเสถียรภาพในการเติบโตระยะยาว