ท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปัจจัยอื่น ๆ กำลังทำให้ธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายอย่างรวดเร็วเกินควบคุม ส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้น และอาจบีบให้หลายชีวิต ทั้งมนุษย์และสัตว์ต้องอพยพ
บนเฮลิคอปเตอร์ที่ลอยอยู่ไม่สูงจากพื้นมากนัก นักวิทยาศาสตร์กำลังยิงลูกดอกยาสลบใส่หมีขั้วโลก นักล่าแห่งอาร์กติก ไม่นานนัก มันก็ทรุดตัวลงบนหิมะ ร่างใหญ่แน่นิ่งอยู่ใต้อากาศหนาวจัดของขั้วโลกเหนือ
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันขั้วโลกแห่งนอร์เวย์กำลังทำ คือการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไขมันจากหมีขั้วโลก เพื่อนำมาศึกษาผลกระทบของมลพิษต่อสุขภาพของมัน
ภารกิจนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ภูมิภาคอาร์กติกเผชิญภาวะโลกร้อนเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 4 เท่า ส่งผลให้ถิ่นที่อยู่บนแผ่นน้ำแข็งทะเลของหมีขั้วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว
มารี แอนน์ แบลงเช็ต นักวิจัยแห่งสถาบันขั้วโลกนอร์เวย์ กล่าวว่า “เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในแถบอาร์กติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสฟาลบาร์ด การลดลงของน้ำแข็งรุนแรงมาก และหมีขั้วโลกก็เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของอาร์กติกที่ใช้น้ำแข็งทะเลเพื่อเคลื่อนที่ ล่าแมวน้ำ หาอาหาร และสืบพันธุ์ ดังนั้น การหายไปของน้ำแข็งทะเลจึงน่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อนิเวศวิทยาด้านพื้นที่ เช่น รูปแบบการเคลื่อนไหวของหมี และวิธีที่มันรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว”
นักวิทยาศาสตร์นำผลจากเนื้อเยื่อไขมันของหมีขั้วโลกไปวิเคราะห์ พบว่ามลพิษหลักคือสาร PFAS ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค และสามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายสิบปี
อย่างไรก็ตาม แม้จะสัมผัสกับมลพิษเหล่านี้มานาน แต่หมีขั้วโลกในสฟาลบาร์ดกลับไม่แสดงอาการซูบผอมหรือเจ็บป่วยตามรายงานของทีมวิจัย ประชากรหมีในพื้นที่ยังคงมีเสถียรภาพ หรืออาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตรงกันข้ามกับบางพื้นที่ของแคนาดา เช่น กลุ่ม Western Hudson Bay ซึ่งลดลงถึง 27% ระหว่างปี 2016 ถึง 2021 จาก 842 ตัว เหลือเพียง 618 ตัว
ประชากรหมีในเขตอาร์กติกอื่น ๆ ของแคนาดา เช่น เขต Southern Beaufort Sea ก็แสดงแนวโน้มลดลงในระยะยาวเช่นกัน โดยเชื่อมโยงกับการล่าเหยื่อที่ทำได้ยากขึ้น และฤดูน้ำแข็งที่สั้นลง
จอน อาร์ส หัวหน้าทีมวิจัยหมีขั้วโลกแห่งสถาบันขั้วโลกนอร์เวย์ กล่าวว่า “สิ่งที่เราพบจากตัวอย่างเลือด ไขมัน หรือแม้แต่ขน คืออาหารที่พวกมันกินเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ซึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะพวกมันใช้เวลาอยู่บนบกมากขึ้น เราจะเห็นว่าพวกมันกินอาหารจากแหล่งบนบกมากขึ้น แทนที่จะเป็นแมวน้ำหรือสัตว์ทะเลเหมือนเดิม พวกมันยังคงล่าแมวน้ำอยู่ แต่เริ่มกินไข่เรนเดียร์ กินหญ้า หรือสิ่งอื่นที่หาได้บนพื้นดิน แม้ว่าหญ้าจะไม่มีพลังงานสำหรับพวกมันเลยก็ตาม”
ในดินแดนที่มีสภาพอากาศโหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อาร์กติก หรือขั้วโลกเหนือ คือบ้านของหมีขั้วโลก นักล่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งธารน้ำแข็ง พวกมันเดินทางไกลไปตามแผ่นน้ำแข็งลอยเพื่อหาช่องแตกในน้ำแข็งและเฝ้าดูแมวน้ำ เหยื่อตัวโปรดที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำ
เกือบทั้งหมดของอาหารหมีขั้วโลกมาจากทะเล ไม่ว่าจะเป็นแมวน้ำ ปลา หรือแม้แต่วาฬเบลูกา น้ำแข็งทะเลคือ “เวทีล่า” ที่สมบูรณ์แบบ แต่เวทีนั้นกำลังเล็กลงทุกปี
ร่างกายของหมีขั้วโลกถูกออกแบบมาให้ว่ายน้ำได้ดี ลำตัวเพรียว ฝ่าเท้ามีพังผืดบาง ๆ ระหว่างนิ้ว และมีชั้นไขมันหนาที่ช่วยกักเก็บความร้อน แต่มันไม่ได้อาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลาเหมือนปลา มันยังต้องขึ้นมาอยู่บนบกและบนน้ำแข็ง — แต่วันหนึ่งน้ำแข็งเริ่มหายไป
ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์พบหมีขั้วโลกที่ จมน้ำตาย ไม่ใช่เพราะว่ายน้ำไม่เก่ง แต่เพราะพวกมันต้องว่ายไกลเกินไป — มากกว่า 60 ไมล์ หรือเกือบ 100 กิโลเมตร เพื่อเดินทางจากแผ่นน้ำแข็งหนึ่งไปยังอีกแผ่นหนึ่ง ท่ามกลางทะเลเปิดโล่ง ไร้น้ำแข็งให้พัก หมีหลายตัวหมดแรงกลางทาง และจมหายไปกับกระแสน้ำเย็นจัด
นับตั้งแต่ปี 1990 น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้นสี่เท่าจากอัตราเดิม ปัจจุบันธารน้ำแข็งละลายราว 370 ล้านตันต่อปี และการละลายนี้เองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในแต่ละปีมากกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนถึงเท่าตัว
นักวิทยาศาสตร์ NASA พบว่า น้ำแข็งขั้วโลกเหนืออย่างกรีนแลนด์ และขั้วโลกใต้แอนตาร์กติกา ละลายเร็วขึ้น โดยน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายไวขึ้นถึง 6-7 เท่า เมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน
น้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลายส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และภายในปี 2100 ประชากรโลกกว่า 187 ล้านคน อาจต้องย้ายถิ่นฐาน เพราะบ้านเรือนจะถูกน้ำทะเลท่วม
ตั้งแต่ปี 1880 จนถึงปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นแล้วราว 21-24 เซนติเมตร และยังคงเพิ่มต่อเนื่องเรื่อย ๆ จนถึงปี 2024 ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ จากเดิมเฉลี่ยเพิ่มราว 3-4 มิลลิเมตร ต่อปี กลายเป็น 5.9 มิลลิเมตร ในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขยายตัวเพราะความร้อน (thermal expansion)
การศึกษาหลายชิ้นคาดการณ์ว่า ภายในปี 2100 ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มขึ้นกว่า 2.3-4 เมตร ซึ่งจะทำให้หมู่เกาะที่ราบต่ำหลายแห่งไม่สามารถอยู่อาศัยได้ และบางแห่งอาจกลายเป็นเนินทรายใต้น้ำภายในปี 2050 หมู่เกาะอย่าง ตูวาลู, คิริบาส, มาร์แชลล์ และมัลดีฟส์ คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงจมน้ำมากที่สุดในโลก
ในการประชุม COP29 หรือการประชุมว่าด้วยสภาพอากาศของสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่อาเซอร์ไบจานเมื่อพฤศจิกายน 2024 ได้เกิดเหตุไม่คาดคิด เมื่อคณะเจรจาจากประเทศเกาะเล็กและประเทศกำลังพัฒนาพร้อมใจกันเดินออกจากวงหารือกับประธานการประชุม พวกเขาให้เหตุผลว่า ข้อเรียกร้องเรื่องเงินทุนเพื่อรับมือกับวิกฤตภูมิอากาศถูกเพิกเฉย
ประเทศเหล่านี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด แต่กลับยืนอยู่แนวหน้าของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น
จีโวห์ อับดุลลาย รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม เซียร์ราลีโอน กล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือ เราคือประเทศที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประเทศของเราไม่ได้มีส่วนทำร้ายโลกมากนัก แต่เรากลับได้รับผลกระทบมากที่สุด เรามาที่นี่เพื่อเจรจาในนามประเทศของเรา เราบอกสิ่งที่ต้องการไปแล้วและต้องการทราบผล แต่เรากลับถูกเพิกเฉย และนั่นคือเหตุผลที่เราเดินออกจากห้องประชุม”
AOSIS คือกลุ่มพันธมิตรของประเทศหมู่เกาะเล็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งการกัดเซาะชายฝั่ง น้ำท่วม และความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มัลดีฟส์
หมู่เกาะมัลดีฟส์ สวรรค์บนดินในมหาสมุทรอินเดีย ถูกจัดให้อยู่ในลิสต์ “เกาะที่กำลังจะจม” หากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 10-100 เซนติเมตร ประเทศนี้ทั้งประเทศอาจจมหาย กลายเป็นชาติใต้ทะเล
มัลดีฟส์ถือเป็นเกาะที่ราบต่ำที่สุดในโลก กว่า 80% ของพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตร และแม้แต่จุดที่สูงที่สุดก็สูงเพียง 2.4 เมตร หากน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 เมตรก่อนปี 2100 มัลดีฟส์จะเหลือพื้นที่โผล่พ้นน้ำเพียง 20% เท่านั้น คนกว่า 500,000 คน อาจต้องหาที่อยู่ใหม่ รวมถึงกรุงมาเล่ เมืองหลวงที่อาจหายไปเป็นแห่งแรก ๆ
ทุกวันนี้ พื้นที่กว่า 90% ของหมู่เกาะมัลดีฟส์กำลังเผชิญกับการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง และ 97% ของประเทศไม่มีน้ำจืดระดับพื้นดินให้ใช้อีกต่อไป
รัฐบาลมัลดีฟส์ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 กว่า 50% ของงบประมาณประเทศทุ่มให้กับโครงการเอาตัวรอดจากวิกฤตภูมิอากาศ
ในปี 2024 ประธานาธิบดี โมฮัดเม็ด มูอิซซู กล่าวว่ามัลดีฟส์จะไม่อพยพคนออกจากเกาะ แต่จะจัดการน้ำท่วมด้วยการถมเกาะให้สูงขึ้นแทน
“เรามีที่ดินมากพอ และถ้าต้องเพิ่มที่ดิน เราก็มีทะเลสาบมากพอ เรายังมีพื้นที่อยู่ในเขตประเทศของเรา” — โมฮัดเม็ด มูอิซซูกล่าวเช่นนั้น
เขายังกล่าวว่า การถมเกาะจะทำคู่กับการพัฒนาศูนย์กลางเมืองระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แม้จะรู้ว่าการถมทะเลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม โครงการถมทะเลอาจสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม ปะการังที่ถูกฟอกขาวจากภาวะโลกร้อนอยู่แล้ว ต้องเผชิญกับเศษตะกอนดินอุดตันซ้ำ
เอชาธ อามิรา นักขับเรือดำน้ำ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “เรามีตะกอนอยู่เยอะแยะเลย ตะกอนนี้สะสมตามแนวปะการัง ทำให้ปะการังหายใจไม่ออกและตาย เราต้องจ่ายราคาที่มหาศาลกับโครงการนี้”
ชาอูฟาน นักดำน้ำอีกคน บอกว่า“ปะการังถูกทำลายลงไปทุกวัน และปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นบ่อยมาก เราควรตระหนักถึงการปกป้องแนวปะการังและมหาสมุทรของเรา”
เพียงอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1–2 องศาเซลเซียส ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ ก็สามารถทำให้ปะการังฟอกขาวได้ และโอกาสรอดกลับมามีไม่มาก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วทั้งที่ ฟลอริดา, แคริบเบียน, อเมริกาใต้, เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ออสเตรเลีย, แปซิฟิกใต้, ทะเลแดง, อ่าวเปอร์เซีย, แอฟริกาตะวันออก และ อินโดนีเซีย