เวียดนามกลายเป็นประเทศล่าสุดที่บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯได้ทันก่อนเส้นตาย 9 กรกฎาคม ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่า สหรัฐฯจะขยายเวลาออกไปหรือไม่? แต่ข้อตกลงครั้งนี้ไม่ได้แลกมาด้วยความสบายใจนัก เพราะแม้เวียดนามจะยอม “ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเลย” แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเวียดนามในอัตรา 20% และหากสินค้านั้นถูกมองว่า “เป็นของจีนที่แค่ส่งผ่านเวียดนาม” (transshipping) ก็จะโดนภาษีสูงถึง 40%
สหรัฐฯ และเวียดนาม เจรจายาวนานหลายสัปดาห์ในที่สุดก็ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าโดยเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม นายโต้ ล่าม (To Lam) เป็นผู้นำการเจรจาซึ่งเวียดนามตกลงยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐทั้งหมด พูดง่ายคือ Zero Tariff พร้อมทั้งสัญญาว่าจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากอเมริกา รวมถึงสินค้าเกษตรมูลค่ากว่า 3,000 ล้านดอลลาร์
แต่ถึงจะยอมเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เต็มที่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังประกาศเก็บภาษี 20% กับสินค้าจากเวียดนาม และจะเพิ่มเป็น 40% หากพบว่าเป็นการ “แค่ประกอบขั้นสุดท้าย” แล้วส่งต่อจากจีนมายังสหรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่ที่ปรึกษาระดับสูงอย่าง ปีเตอร์ นาวาร์โร เคยแสดงความกังวล พร้อมระบุว่า “เวียดนามแทบจะเป็นอาณานิคมของจีนคอมมิวนิสต์”
รายละเอียดของข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนามยังไม่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการจากทำเนียบขาว แต่ก็ถือว่าข้อตกลงสหรัฐฯกับเวียดนามนี้เป็นข้อตกลงฉบับที่สามที่มีการประกาศออกมา ต่อจากสหราชอาณาจักรและจีน ท่ามกลางกระแสที่บรรดาประเทศคู่ค้าต่างเร่งทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ก่อนถึงเส้นตายในวันที่ 9 กรกฎาคม
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามในอัตรา 46% ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน ภายใต้นโยบายภาษี “ตอบโต้แบบต่างตอบแทน” (reciprocal tariffs) ที่ครอบคลุมหลายสิบประเทศ แต่ต่อมาได้มีการปรับลดเหลือ 10% เพื่อเปิดทางให้มีการเจรจาเกิดขึ้น
เวียดนามถือเป็นผู้ส่งออกอันดับ 6 ไปยังสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าสูงถึง 137,000 ล้านดอลลาร์ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเม็กซิโก ส่วนการส่งออกของเวียดนามในเดือนพฤษภาคมปีนี้ก็พุ่งขึ้นถึง 35% เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ เร่งส่งสินค้าให้ทันก่อนนโยบายภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้
เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มียอดส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตจำนวนมากย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนาม
ปัจจุบัน เวียดนามเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในกลุ่มสินค้าเครื่องนุ่งห่มและชุดกีฬา โดยมีโรงงานของบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Nike Inc., Gap Inc. และ Lululemon Athletica Inc. ตั้งอยู่ในประเทศจำนวนมาก
ด้านความคืบหน้าของไทย ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำทีม “ไทยแลนด์” เข้าหารือกับหอการค้าสหรัฐฯ และสมาคม US Grains Council โดยเน้นเจรจาเชิงรุก ทั้งเรื่อง tariff และ non-tariff barrier พร้อมเสนอให้ไทยเป็นพาร์ตเนอร์สำคัญในห่วงโซ่เศรษฐกิจของโลก
“ไทยยังเดินหน้าเต็มที่ในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หวังข้อตกลงแบบ win-win ทุกฝ่าย” นายพิชัยย้ำ พร้อมขอบคุณพันธมิตรภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่สนับสนุนไทยมาโดยตลอด
คำถามที่หลายคนในวงการเศรษฐกิจกำลังจับตาคือ — หากเวียดนามยอมทุกอย่างยังไม่รอดภาษี แล้วไทยจะต้องเจออะไร? เราจะโดนเก็บภาษีมากน้อยแค่ไหน? จะมีสินค้ากลุ่มใดที่ถูกมองว่า “ส่งผ่านจีน” หรือไทยจะสามารถเจรจาจนได้ข้อยกเว้น?
ทุกสายตาจึงจับจ้องที่ผลลัพธ์ของทีมไทยแลนด์ ว่าเราจะต้องเผชิญกับอัตราภาษีเท่าไหร่ เพราะตามที่สหรัฐฯประกาศในช่วงแรกไทยโดนภาษีสูงถึง 36% ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอตัว
ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า แม้การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ จะมีความคืบหน้า โดยเฉพาะกับจีนและสหราชอาณาจักร แต่ยังไม่น่าที่จะได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นหากไม่ขยายเวลา ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักที่มีแนวโน้มแผ่วลง นอกจากนี้ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง อาจมีความรุนแรงขึ้นได้อีก
เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนแรงลง คาดทั้งปี 2568 ขยายตัวในระดับต่ำราว 1.5-2.0% โดยจะเติบโตใกล้เคียง 2.0% หากอัตราภาษีที่ไทยโดนเรียกเก็บยังอยู่ที่ 10% ในครึ่งปีหลัง แต่จะลดลงมาใกล้ 1.5% หากโดนเรียกเก็บที่ 18% หรือครึ่งหนึ่งของอัตรา Reciprocal Tariff
การส่งออกไทยในครึ่งหลังของปีจะหดตัว มูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 14.9%YoY จากการเร่งนำเข้าก่อนหมดช่วงผ่อนปรนของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่ระยะข้างหน้ามีสัญญาณแผ่วลงและมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวกว่า 10%YoY ทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวใกล้เคียง 0% ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง
ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าคาด รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 ที่เหลืออยู่ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
ที่มา : Bloomberg , FB พิชัย ชุณหวชิร, กกร.