วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม โฆษกทำเนียบขาว แอนนา เคลลี ระบุว่า สหรัฐฯ ได้ยุติการส่งอาวุธบางส่วนให้ยูเครนเพื่อ “ผลประโยชน์ของอเมริกาเป็นอันดับแรก” ภายหลังจากกระทรวงกลาโหมทบทวนการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ต่างประเทศ
แม้ว่ากระทรวงกลาโหมยูเครนระบุว่า ยังไม่ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับ “การระงับหรือทบทวน” การส่งอาวุธ แต่การตัดสินใจดังกล่าวก็สรางความวิตกให้ยูเครนไม่น้อย ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า ยูเครนกำลัง “หารือเพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งมอบ” กับสหรัฐฯ
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของยูเครนเตือนว่า การล่าช้าใด ๆ “จะยิ่งส่งเสริมให้ผู้รุกรานเดินหน้าทำสงครามและก่อการร้าย แทนที่จะหาทางสันติภาพ” และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมแกร่งระบบป้องกันทางอากาศของยูเครน และเชิญนักการทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเคียฟเข้าหารือที่กระทรวงการต่างประเทศยูเครน เมื่อวันพุธที่ 2 กรกฎคม ที่ผ่านมา
สื่อ NBC รายงานว่า อาวุธที่อาจได้รับผลกระทบได้แก่ เครื่องยิงสกัด Patriot, กระสุนปืนใหญ่ Howitzer, ขีปนาวุธ และเครื่องยิงลูกระเบิด แต่ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า สหรัฐฯ จะหยุดส่งมอบอาวุธชนิดใด
แหล่งข่าว CBS News ระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมได้ตรวจสอบคลังอาวุธของสหรัฐฯ และแสดงความกังวลว่าอาวุธสำรองของประเทศเริ่มเหลือน้อยลง จากบทบาทในความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ด้านโฆษก แอนนา เคลลี ปฏิเสธความ "อ่อนแอ" ของคลังอาวุธสหรัฐฯ และกล่าวว่า "ความแข็งแกร่งของกองทัพสหรัฐฯ ยังคงไม่อาจถูกตั้งคำถามได้ ลองถามอิหร่านดู"
ตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สหรัฐฯ ได้ส่งความช่วยเหลือทางทหารหลายหมื่นล้านดอลลาร์ให้ยูเครน ทำให้บางฝ่ายในคณะบริหารของทรัมป์แสดงความกังวลว่า อาวุธสำรองของสหรัฐฯ อาจไม่เพียงพอ
และแม้ว่าพันธมิตรยุโรปของยูเครนได้ส่งความช่วยเหลือทางทหารมูลค่าหลายพันล้านยูโรตลอดช่วงสามปีครึ่งที่ผ่านมา แต่อาวุธจากสหรัฐฯ คือสิ่งที่ยูเครนพึ่งพิงเป็นหลัก แหล่งข่าวทางทหารของยูเครนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ว่า ยูเครน
"พึ่งพาอาวุธจากสหรัฐฯ อย่างมาก แม้ยุโรปจะพยายามเต็มที่ แต่หากไม่มีกระสุนจากสหรัฐฯ ก็จะลำบาก"
นอกจากนี้ อาวุธจากกลุ่มประเทศนาโตที่สนับสนุนยูเครนนั้นก็ไม่มั่นคงนัก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็ก เพตร์ เปาเวล ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาโต แสดงการสนับสนุนยูเครนอย่างชัดเจน แต่ก็ยอมรับกับ BBC Russian ว่า ไม่สามารถ “รับประกัน” ได้ว่าจะมีการสนับสนุนกระสุนให้ยูเครนอย่างต่อเนื่อง เพราะขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของเช็ก
“ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะมีลำดับความสำคัญอย่างไร” เขากล่าว
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) เมื่อเดือนมีนาคมชี้ว่า สหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนเป็น 43% ในส่วนแบ่งตลาด ในขณะที่ยุโรปนำเข้าอาวุธมากขึ้น 11% เพื่อต้านภัยจากรัสเซียในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยูเครนเป็นประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลกอยู่ที่ 8.8% ของการนำเข้าอาวุธทั้งหมด และครึ่งหนึ่งของอาวุธที่ยูเครนนำเข้ามาจากสหรัฐฯ
เอลบริดจ์ โคลบี รักษาการปลัดกระทรวงกลาโหมฝ่ายนโยบายกล่าวว่า กระทรวงกลาโหมยังคง “จัดหาทางเลือกที่หลากหลายแก่ประธานาธิบดีในการให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครน” พร้อมระบุว่า กระทรวงฯ กำลัง “ทบทวนและปรับแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ขณะเดียวกันก็รักษาความพร้อมรบของกองทัพสหรัฐฯ ไว้ตามลำดับความสำคัญ”
ด้านรัสเซียมีท่าทีเชิงบวกต่อการระงับการส่งอาวุธของสหรัฐฯ ให้ยูเครน โดยโฆษกเครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ กล่าวว่า “ยิ่งมีอาวุธส่งไปยูเครนน้อยลงเท่าใด สงครามก็จะยุติเร็วขึ้นเท่านั้น”
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยูเครนเผชิญการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีโดรนและขีปนาวุธหลากชนิดกว่า 500 ลูกถูกยิงเข้าใส่หลายเมือง
ขณะนี้รัสเซียควบคุมพื้นที่ราว 20% ของยูเครน รวมถึงคาบสมุทรไครเมียซึ่งผนวกไว้ตั้งแต่ปี 2014 และแม้จะสูญเสียอย่างหนัก แต่รัสเซียก็ยังรุกคืบอย่างช้า ๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเพิ่งประกาศว่ายึดครองภูมิภาคลูฮันสก์ทางตะวันออกได้ทั้งหมด
ด้านยูเครนเองก็เร่งโจมตีรัสเซียเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (2 กรกฎาคม 68) โดยยูเครนโจมตีทางอากาศเมืองอิเซฟสก์ของรัสเซียเมื่อวันอังคาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บอีกหลายสิบคน นับเป็นหนึ่งในการโจมตีลึกเข้ามาในแผ่นดินรัสเซียที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่สงครามที่ยืดเยื้อมาสามปีเริ่มขึ้น
แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงของยูเครนเปิดเผยว่า เคียฟตั้งเป้าโจมตีโรงงานผลิตโดรนในอิเซฟสก์ และการโจมตีครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อ “ศักยภาพเชิงรุก” ของมอสโก