ไลฟ์สไตล์

ส่อง 3 พฤติกรรมหัวหน้า 'ท็อกซิก' ที่คุณอาจเข้าใจผิดว่าเป็น 'ภาวะผู้นำ'

11 ต.ค. 65
ส่อง 3 พฤติกรรมหัวหน้า 'ท็อกซิก' ที่คุณอาจเข้าใจผิดว่าเป็น 'ภาวะผู้นำ'

ในชีวิตประจำวัน เราอาจจะเคยได้พบเจอคน ‘ท็อกซิก’ หรือคนที่อยู่ด้วยเมื่อไหร่ก็มีแต่ความอึดอัด ไม่สบายใจ หงุดหงิด ไปจนถึงโมโห เหมือนเป็นคนที่ปล่อย ‘พิษ’ หรือ ‘พลังลบ’ ใส่คนอื่นตลอดเวลาด้วยนิสัยชอบบงการ หลงตัวเอง ไม่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น อารมณ์แปรปรวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ซึ่งเป็นคนที่ควรจะหนีให้ไกลเพื่อรักษาสุขภาพจิตของตัวเอง

แต่ถึงแม้เราจะรู้กันอยู่แล้วว่าการอยู่กับคนนิสัยแบบนี้นั้นไม่ใช่เรื่องดี แต่ในบางครั้งเราก็อาจเผลอมองข้ามสัญญาณนี้ไปได้เหมือนกัน หากว่าความ ‘มั่นใจเกินเหตุ’ ‘ไม่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น’ และ ‘ความเจ้ากี้เจ้าการ’ นี้ไปอยู่ในตัว ‘หัวหน้างาน’ ของเรา 

istock-1343620975

เพราะเราอาจจะเข้าใจว่าลักษณะนิสัยเหล่านั้นคือ ‘ความเป็นผู้นำ’ ‘ความเด็ดขาดในการตัดสินใจ’ และ ‘ความละเอียดในการทำงาน’ จนทำให้เราคิดโทษตัวเองว่าที่เรารู้สึกไม่ดีเพราะ ‘เราไม่มีความอดทนเอง’ และหลงมุ่งมั่นทำงานให้เจ้านายพ่นพิษใส่เป็นเวลานาน จนสุดท้ายออกมาด้วยความคิดที่ว่าตัวเองอ่อนแอ รับความกดดันและงานหนักไม่ได้ หรือคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ

หรือไม่ก็กลายเป็นทำให้ตัวเราเข้าสู่ด้านมืดเสียเอง เพราะไปซึมซับพฤติกรรม ท็อกซิก เหล่านี้มาจากหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน จนนิสัยแบบนี้ถูกส่งกันต่อเป็นทอดๆเป็นวงจรแบบไม่จบไม่สิ้น

ดังนั้นเมื่อลักษณะนิสัยของหัวหน้า ‘เก่ง’ กับ หัวหน้า ‘ท็อกซิก’ มีเพียงเส้นบางๆ มากั้น ในบทความนี้ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนมาดูกันว่าลักษณะหัวหน้า ‘ท็อกซิก’ แบบไหนที่เรามักจะหลงคิดว่าเป็นลักษณะของหัวหน้าที่เก่ง และอาจทำให้เราทนทำงานให้ จนไปถึงติดนิสัยแบบนั้นมาจนไปพ่นพิษใส่คนอื่นต่อโดยไม่รู้ตัว

 

  • ทำทุกอย่างเพื่อสร้างผลงานที่ดี แบบไม่คิดถึงสุขภาพกายและจิตของลูกน้อง

istock-1370309490

หัวหน้าที่มีแนวคิดว่าลูกน้องต้องมีความสู้งาน บังคับให้ลูกน้องทำงานให้ได้เสร็จในเวลาที่กำหนด ถึงแม้จะเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปจนทำไม่ได้ถ้าไม่ยอมอดหลับอดนอน อาจจะเป็นคุณลักษณะที่คนทำงานพบเจออยู่ประจำจนอาจคิดว่ามันเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่ปกติ

แต่แท้จริงแล้วนี่เป็นนิสัยท็อกซิกของหัวหน้าที่มักจะตั้ง ‘เดดไลน์ที่ทำไม่ได้จริง’ เพื่อกดดันให้พนักกงานฝืนทำงานหนักเกินควรเพื่อสร้างผลงานที่น่าประทับใจให้กับลูกค้าแบบไม่มีลิมิต แบบไม่คิดถึงระหว่างทางว่าลูกน้องจะต้องเสียสละอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ หรือเวลาที่ควรได้ใช้ส่วนตัว

โรนัลด์ ริกจิโอ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาผู้นำและองค์กรที่ Claremont McKenna College กล่าวว่าลูกน้องมักจะคิดว่าหัวหน้าที่กดดันให้ลูกน้องทำผลงานออกมาได้ไม่ว่าจะทางคำพูดหรือการกระทำ คือหัวหน้าที่ดี จนคิดไปว่าการยอมทุ่มเทกับงานไม่ว่าจะเครียด สุขภาพเสียระหว่างทางยังไงก็ต้องทำได้เพื่อให้งานออกมาดี

แต่แท้จริงแล้วหัวหน้าที่ดีต้องรู้จักจัดการปริมาณงานและให้ระยะเวลาที่เหมาะสมกับความยากของงาน และให้ความสำคัญกับ ‘ระหว่างทาง’ คือสิ่งที่ลูกน้องต้องทำเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ พอๆ กับ ‘ปลายทาง’ คือผลลัพธ์ของงาน เพื่อให้ลูกน้องสามารถเรียนรู้จากการทำงานได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ต้องแลกมากับสุขภาพ หรือสิ่งอื่นๆ ที่เกิดจากการไม่มีเวลาส่วนตัว

เพราะ ‘ผลงานที่ดี’ อาจไม่ได้มาจาก ‘ความเป็นผู้นำที่ดี’ เสมอไป

 

  • มีความมั่นใจสูง ตัดสินใจเด็ดขาดฉับไวโดยไม่ฟังคนอื่น เพราะหลงตัวเอง จมไม่ลงistock-882198598

 

เมื่อถามว่าคนที่มีความเป็นผู้นำมีลักษณะอย่างไร เชื่อว่าลักษณะที่หลายๆ คนจะนึกถึงเป็นอันดับแรกคือ ‘มีความมั่นใจ’ และ ‘ตัดสินใจเด็ดขาด’ และด้วยภาพจำนี้เองหลายๆ คนจึงคิดว่าผู้นำที่มีความมั่นใจ เชื่อมั่นในความคิดเห็นของตัวเองนั้นคือผู้นำที่ดี ทั้งที่บางครั้งความมั่นใจนั้นเป็นความมั่นใจในสิ่งที่ผิด และเกิดมาจาก ‘ภาวะหลงตัวเอง’ (narcissism) 

ศาสตราจารย์ริกจิโอกล่าวว่า ผู้นำที่ภาวะหลงตัวเองแบบนี้จะดูมั่นใจ ดุดัน เข้มแข็ง ทำให้คนทั่วไปคิดว่าตัวเองเป็นหัวหน้าที่ดี แต่แท้จริงแล้วเป็นคนที่ไม่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น เพราะเชื่อว่าความคิดของตัวเองถูกที่สุด และไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองได้ เพราะเมื่อผลลัพธ์ออกมาไม่ดี หัวหน้าเหล่านี้ก็จะไม่คิดว่ามันเกิดจากตัวเอง แต่เป็นเพราะลูกน้องที่ไม่สามารถทำได้อย่างที่ตัวเองหวัง 

นอกจากนี้ยังอาจมองว่าความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ขัดกับความคิดของตัวเองเป็น ‘การโจมตี’ หรือ ‘หักหน้า’ ทำให้ไม่คิดจะรับฟัง และหาทางเอาคืนลูกน้องเหล่านั้น โดยอาจจะใช้อำนาจข่มกลับ ออกปากดุด่าว่ากล่าว หรือพูดกระทบกระเทียบ จนบรรยากาศในการทำงานเสีย สร้างความหวาดกลัวและวิตกกังวลให้คนในทีม จนไม่มีลูกน้องคนไหนไหนกล้าแสดงความคิดเห็นอะไรอีก

ซึ่งถึงแม้คนที่เป็นหัวหน้าคุมงานควรต้องมีความมั่นใจ และสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดจริง ความมั่นใจนั้นจะต้องตั้งอยู่ในพื้นฐานของ ‘ความใจกว้าง’ รู้จักรับฟังคนอื่น และสามารถนำความเห็นของคนอื่นและของตัวเองมาประกอบการตัดสินใจเพื่อนำทีมได้อย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากการตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งที่ตัวเองคิดเพราะคิดว่าตัวเองเก่ง

 

  • ใส่ใจและเข้าไปบงการทุกรายละเอียดยิบย่อย เพราะไม่ไว้ใจลูกน้อง 

อีกหนึ่งนิสัยท็อกซิกของเจ้านายที่หลายๆ คนอาจมองข้ามก็คือนิสัยเข้าไปจัดการ บงการวิธีทำงานของลูกน้องในทุกรายละเอียด ไม่ปล่อยให้ลูกน้องทำงานที่รับผิดชอบเอง จนกลายเป็นการก้าวก่ายการทำงาน

เพราะถึงแม้มองเผินๆ สิ่งนี้จะเป็นเรื่องดี เพราะนั่นหมายความว่าหัวหน้าเป็นคน ‘ใส่ใจรายละเอียด’ แต่การที่หัวหน้างานทำสิ่งที่เรียกว่า ‘micromanagement’ หรือเข้าไปควบคุมสอดส่องการทำงานแทรกแซงการตัดสินใจของลูกน้องทุกขั้นตอน รวมไปถึงติเรื่องยิบย่อยที่บางครั้งไม่ได้ส่งผลต่องานในภาพรวมเพราะอยากให้งานออกมาดี ก็อาจส่งผลเสียในระยะยาวมากกว่าผลดี 

เพราะมันทำให้ลูกน้องรู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจ และคิดว่าตัวเองต้องคอยระวัง ถามความเห็นของหัวหน้าในทุกขั้นตอนเล็กๆ เพื่อไม่ให้ผิดพลาด ซึ่งนอกจากจะทำให้บรรยากาศการทำงานเสียแล้ว ยังลดประสิทธิภาพในการทำงานของลูกน้องหรือทีม เพราะแทนที่ลูกน้องจะได้ใช้ความสามารถ และเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกในการทำงานอย่างเต็มที่ พวกเขาอาจไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยเพราะหัวหน้าตัดสินใจแทนให้หมด

แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าหัวหน้าที่ดีคือหัวหน้าที่ปล่อยให้ลูกน้องทำตามใจแบบไม่มาดูแล เพราะนั่นก็จะกลายเป็นหัวหน้าท็อกซิกอีกอย่างที่ปล่อยให้ลูกน้องทำงานแทนตัวเอง แต่หัวหน้าที่ดีควรจะเป็นคนที่กำหนด ‘เป้าหมาย’ ที่ชัดเจน และแนะนำ ‘วิธีทำงานหลวมๆ’ ให้กับลูกน้อง ไว้ใจลูกน้องให้ทำงาน เข้าไปไกด์บ้างเมื่อเห็นว่ามีปัญหา และเมื่อมีปัญหาก็ลองแนะให้ลูกน้องใช้ความคิดเสนอทางแก้ไขเองบ้าง ไม่ใช่สั่งการให้ทำตามที่ต้องการอย่างเดียว

 

อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะคิดแย้งว่าการออกมาจากหัวหน้าท็อกซิกไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะถึงแม้จะรู้ดีว่าการทำงานกับหัวหน้าเหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียด ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะยังต้องหารายได้มาเลี้ยงชีพ หรือไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถออกไปหาที่ทำงานที่ให้รายได้มากกว่า มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีกว่า หรือมีหัวหน้าที่ดีกว่านี้ได้

แต่ถึงแม้จะออกมาไม่ได้แบบทันทีเพราะมีข้อจำกัด การได้รับรู้ว่ามีหัวหน้าท็อกซิกอยู่ใกล้ตัวก็อาจจะช่วยได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่เกิดจากการอยู่ใกล้หัวหน้าท็อกซิก ‘แบบไม่รู้ตัว’ คือการรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีความสามารถ จนทำให้เราสุขภาพจิตเสีย ซึ่งเมื่อรู้แล้วว่าความผิดพลาดในบางครั้งมันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรา เราก็จะสามารถขีดเส้น หาหนทางหลบหลีกและจัดการความเครียดของตัวเองได้ดีขึ้น ไม่ใช่ยอมทนให้ทุกอย่างเป็นไปเพราะเราคิดว่าตัวเอง ‘เป็นฝ่ายผิด’

รวมไปถึงมีความมั่นใจและความกล้าที่จะลาออกจากที่ทำงาน และคว้าโอกาสอื่นที่ผ่านเข้ามาได้โดยไม่คิดว่าตัวเองทำไม่ได้เพราะเสียความมั่นใจไปแล้วจากการมีหัวหน้าท็อกซิกคอยบั่นทอน


ที่มา: CNBC, Forbes, Huffington Post

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT